Economics

ผุดคณะกรรมการบูรณาการ ‘โลจิสติกส์’ รับไม้ต่อเมื่อโครงการ EEC แล้วเสร็จ

หารือผุดคณะกรรมการชุดใหม่ช่วย “บูรณาการระบบโลจิสติกส์” รองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รับไม้ต่อเมื่อโครงการ EEC แล้วเสร็จ

DSC1648

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังหารือกับนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วันนี้ (2 ส.ค.) ว่า นายคณิศ ในฐานะตัวแทนจาก EEC และกระทรวงคมนาคม ได้หารือเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อบูรณาการระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยทั้งหมด ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เพื่อวางแผนระบบโลจิสติกส์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย และประหยัด

คณะกรรมการชุดนี้จะเข้ามาดูแลโครงการโลจิสติสก์ทั่วไป รวมถึงโครงการต่างๆ ของ EEC ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ นอกจากนี้จะรองรับโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะรัฐบาลก็มีนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ ด้วย เช่น ภาคตะวันตก ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)

7E91D879 85D0 4B5D AE75 9B86405A3CE2

“เราจะทำอะไรอีกเยอะเลยตามยุทธศาสตร์ของประเทศ 20 ปี ที่จะเสร็จในปี 2578 แต่เรายังไม่ได้คิดเรื่องนี้ เราจึงต้องรีบคิด อะไรที่เสร็จก่อน ก็สามารถบูรณาการได้เลย เช่น ที่ผมวางแผนจะเพิ่มการขนส่งสินค้าทางรถไฟเป็น 30% ใน 3 ปี ก็อยู่ในเรื่องนี้ด้วย” นายศักดิ์สยามกล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เตรียมข้อมูลเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้ไว้แล้วและคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนนี้ โดยระยะแรกจะเป็นความร่วมมือระหว่าง EEC และกระทรวงคมนาคม ก่อนจะขยายไปสู่หน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

EC254087 4D9D 4660 BF96 C56C7ED56B5E

นอกจากนี้ นายคณิศได้สรุปการดำเนินงานของ EEC ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมให้รับทราบ ซึ่งทุกอย่างดำเนินการไปตามแผน แต่ EEC ยังมีข้อห่วงใย 3 ประเด็น คือ

  1. โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลอยู่ระหว่างฟ้องร้องคณะกรมการคัดเลือกฯ แต่ก็คาดว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน
  2. โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 ที่กำลังมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติผู้เข้าประมูล ล่าสุดคณะกรรมการอุทธรณ์ของ EEC ได้สรุปข้อคิดเห็นเรื่องคุณสมบัติผู้เข้าประมูลแล้วและเตรียมเสนอเรื่องให้ EEC ตัดสินใจในเร็วๆ นี้ แต่ถ้าหากเอกชนไม่พอใจผลการตัดสินของ EEC ก็สามารถไปใช้กระบวนการทางศาลได้
  3. โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่มีความเป็นห่วงเรื่องการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนก่อสร้าง แต่นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็รายงานต่อที่ประชุมฯ ว่า การรถไฟฯ วางแผนเรื่องการส่งมอบพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ด้าน EEC ก็ช่วยดูแลเรื่องงบประมาณต่างๆ จึงคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือนนี้

 

Avatar photo