Economics

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวน

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินค่าเงินบาทในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มผันผวน หลังคาด “เฟด” มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลงอีก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีตามที่ตลาดคาดไปที่กรอบ 2.00 – 2.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 – 31 กรกฎาคม 2562 ว่า แม้การปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบนี้ ยังไม่น่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในระยะใกล้ๆ นี้ เนื่องจากโจทย์เฉพาะของไทยที่ธปท. จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ยังคงเป็นเรื่องการลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน ควบคู่ไปกับการติดตามภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธปท. น่าที่จะให้น้ำหนักกับปัจจัยในประเทศในการตัดสินใจเรื่องทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย มากกว่าทิศทาง/แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐในช่วงข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า เฟดต้องการที่จะส่งสัญญาณเพื่อให้ตลาดรับรู้ว่า การตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยในรอบนี้ เป็นเพียงการดำเนินการเพื่อสกัดผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐเท่านั้น โดยเฟดไม่ต้องการให้กระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสการลดดอกเบี้ยของสหรัฐเกิดขึ้นมากจนเกินไปในขณะนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีสัญญาณการขยายตัว (แม้จะชะลอลงบ้าง) ตลาดแรงงานยังมีความแข็งแกร่ง และยังไม่ได้เกิดภาวะถดถอยจนทำให้เฟดจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยหลายรอบแบบวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า แม้เฟดจะไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนเกี่ยวกับจังหวะและโอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบต่อไป แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยอีกเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปีนี้ และ/หรือในช่วงปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว และยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงสถานการณ์ BREXIT ที่ยังไร้ข้อสรุปในขณะนี้ ซึ่งความไม่แน่นอนดังกล่าว จะยังคงส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์และเงินบาทในระยะข้างหน้า

Avatar photo