Digital Economy

วิจัยพบ 84% องค์กรอาเซียนมุ่งทรานสฟอร์มองค์กรผ่าน IoT Solution

iot 3404892 1280

เทรนด์ IoT ฮอตฮิต ภาครัฐเดินหน้าจับคู่สตาร์ทอัปดิจิทัลกับซัพพลายเออร์ ล่าสุดเป็นดีป้า (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) ร่วมกับไมโครซอฟท์ ในการจัดงาน Asia IoT Business Platform (AIBP) ครั้งที่ 24 หวังกระตุ้นผู้ประกอบการไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการออกแบบเครือข่าย IoT

ที่ผ่านมาเราอาจได้ยินข่าวคราวการประยุกต์ใช้ IoT ภายในองค์กรยักษ์ใหญ่มาหลายครั้ง เช่นปตท. ที่มีการทำ Digital Transformation พร้อมนำเซนเซอร์ IoT เข้ามาติดตั้งในแพลนท์ กลายเป็นสมาร์ทแพลนท์ และนำบิ๊กดาต้าเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ช่วงเวลาในการการบำรุงรักษา ทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น หรือศรีไทยซูเปอร์แวร์ที่มีการประยุกต์ใช้ IoT เปลี่ยนโรงงานให้กลายเป็นโรงงานอัตโนมัติที่เครื่องจักรสามารถสื่อสารกันเองได้ แต่ในภาพรวมของประเทศนั้น อาจกล่าวได้ว่ายังมีอีกหลายภาคส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงโซลูชันด้าน IoT เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี หรือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลุ่มเกษตรกร ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องมีการให้ความรู้ และให้งบประมาณสนับสนุนเพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้มีศักยภาพในการปรับองค์กรสู่ยุค IoT มากขึ้น

โดยในมุมของดีป้านั้น ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการและซีอีโอของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเผยว่า การสนับสนุนดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้านดิจิทัลได้ ประกอบกับมีการเปิดเผยผลวิจัยของ Industry Platform บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่พบสัญญาณเชิงบวกจากภาคธุรกิจไทยที่แสดงความสนใจในการ Transformation องค์กรผ่านอุปกรณ์ IoT มากขึ้น

20180620 110441

โดยการสำรวจของ Industry Platform พบว่า 5 อันดับธุรกิจที่มีการประยุกต์ใช้ IoT แล้วได้แก่

  • ภาคอุตสาหกรรม 87%
  • ธุรกิจโลจิสติกส์ 83%
  • สถาบันการเงิน 83%
  • ภาครัฐ – บริการสาธารณะ 81%
  • อสังหาริมทรัพย์ 79%

แต่หากมองในภาพรวมพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการศึกษาหรือประยุกต์ใช้ IoT สูงที่สุดในภูมิภาค โดยอยู่ที่ 89% ตามมาด้วยมาเลเซีย 86% อินโดนีเซีย 83% ฟิลิปปินส์ 80% และเวียดนาม 79% โดยค่าเฉลี่ยของภูมิภาคนั้นอยู่ที่ 84%

การสำรวจครั้งนี้ยังพบด้วยว่าระดับความสนใจในการลงทุน IoT ขององค์กรต่าง ๆ นั้นก็แตกต่างกัน โดย

  • 43.8% อยู่ในขั้นของการหาข้อมูล
  • 15.6% ระบุว่าไม่มีความคุ้นเคยกับ IoT แต่อย่างใด
  • 8.9% เผยว่ามีการประยุกต์ใช้โซลูชัน IoT บ้างแล้ว
  • 4.6% เผยว่าได้รับประโยชน์จากการประยุกต์ใช้โซลูชันด้าน IoT แล้ว
  • 26.9% เผยว่ามีการศึกษาโซลูชันด้าน IoT

หากเปรียบเทียบเป็นรายประเทศ การศึกษาชิ้นนี้พบว่าใน 7 ประเทศของภูมิภาคอาเซียนนั้น แต่ละชาติมีการปรับใช้ IoT แตกต่างกัน ดังนี้

  • อินโดนีเซีย ปรับใช้ IoT สูงสุดในอุตสาหกรรมการผลิต 20.5%
  • มาเลเซีย ปรับใช้ IoT สูงสุดในอุตสาหกรรมการผลิต 22.3%
  • ฟิลิปปินส์ ปรับใช้ IoT สูงสุดในอุตสาหกรรมการผลิต 19.6%
  • ไทย ปรับใช้ IoT สูงสุดในอุตสาหกรรมการผลิต 27.4%
  • เวียดนาม ปรับใช้ IoT สูงสุดในภาคการเกษตร 16.32%
  • เมียนมาร์ ปรับใช้ IoT สูงสุดในภาคการเกษตร 25.46%
  • สิงคโปร์ ปรับใช้ IoT สูงสุดในอุตสาหกรรมการผลิต 18.35%

อย่างไรก็ดี สตาร์ทอัปด้าน IoT ของไทยในปัจจุบันมีอยู่เพียง 37 รายจากสตาร์ทอัปทั้งหมดหนึ่งพันกว่ารายที่มาขึ้นทะเบียนกับดีป้า ซึ่ง ดร.ณัฐพล มองว่ายังไม่เพียงพอ และต้องให้การสนับสนุนเพิ่ม โดยตามแผนการของดีป้านั้น มีการตั้งเป้าว่าจะสร้างสตาร์ทอัปด้านดิจิทัลให้ได้ 10,000 รายภายใน 20 ปี (ตั้งแต่ปี 2561 – 2580) จากปัจจุบัน เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นที่มีสตาร์ทอัปดิจิทัลกว่า 3,000 รายนั้นพบว่ามีผลต่อผลิตภาพของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ประเทศไทยพบว่า ตัวเลข Total Factor Productivity (IFP) ของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.97% เท่านั้น ซึ่งนายณัฐพลชี้ว่า หากสามารถเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัปดิจิทัลได้ ตัวเลข IFP ของไทยซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของจีดีพีด้วยอย่างมากน่าจะเติบโตขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่

ด้านนายเออร์ซ่า สุปรับโต ซีอีโอของ Asia IoT Business Platform กล่าวว่า “IoT เป็นเทคโนโลยีที่รวบรวมหลากหลายนวัตกรรมมาผสานกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับระบบคลาวด์, Machine Learning, AI, รวมถึงระบบด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว”

ขณะที่ผู้บริหารจากไมโครซอฟท์ นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าโซลูชันและพาร์ทเนอร์ตลาดขนาดเล็กและขนาดกลาง เผยว่า ทุกวันนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว ไมโครซอฟท์เองก็เปลี่ยนจากบริษัทที่มีสินค้าอย่างระบบปฏิบัติการวินโดวส์ไปสู่การเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีการลงทุนมากถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปีเพื่อพัฒนาบริการ ซึ่งในมุมของไมโครซอฟท์แล้ว การลงทุน IoT เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และช่วยให้องค์กรสามารถเพิ่มเม็ดเงินให้กับภาคธุรกิจได้มากถึง 387,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2564

ขณะที่ในด้านการสร้างบุคลากรด้าน Data Analytics ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแผนที่มีความสำคัญของดีป้านั้น นายณัฐพลเผยว่าได้มีการจับมือกับสถาบันการศึกษาของไทยชั้นนำให้การสนับสนุนด้านค่าใช้จ่าย คิดเป็น 30% ของค่าอบรมเพื่อสร้างบุคลากรด้าน Data Analytics เพิ่มเติมแล้ว ส่วนรูปแบบในการขอรับการสนับสนุนจะเป็นอย่างไรนั้น จะมีการประกาศอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้

 

Avatar photo