Economics

‘ไทยสมายล์’ ขาดทุนสะสม 8 พันล้าน ร้องบริษัทแม่ ‘การบินไทย’ ขอเพิ่มทุนภายในปีนี้

“ไทยสมายล์” ติดลบสะสม 8 พันล้านบาท ต้องปรับโครงสร้างทางการเงินครั้งใหญ่ภายในปีนี้ ชงบริษัทแม่ “การบินไทย” เพิ่มทุนสูงสุดไม่เกิน 5 พันล้านบาท ด้าน “ถาวร” กระทุ้งบินไทยให้มีกำไรภายในปี 65

5MOT 2562 07 30 คณะ ครม.คค. พบสื่อมวลชน by PP 64

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังหารือกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ที่กระทรวงคมนาคม วันนี้ (1 ส.ค.) ว่า หลังจากรับฟังแผนดำเนินการของการบินไทยและไทยสมายล์ในวันนี้แล้ว ตนก็รู้สึกพอใจมากและเชื่อใจการดำเนินงานขององค์กรทั้ง 2 แห่งว่าจะประสบความสำเร็จ

ถ้าหากการดำเนินงานมีข้อขัดข้อง หรืออยู่นอกเหนืออำนาจของทั้ง 2 องค์กร ก็ขอให้ตั้งคณะทำงานเพื่อเสนอเรื่องให้ตนช่วยตัดสินใจ ขณะเดียวกันตนจะไม่ทำหน้าที่เหมือนเป็นรัฐมนตรีที่กำกับองค์กรทั้ง 2 แห่ง แต่จะขอเป็นเหมือนเพื่อนร่วมงานกับพนักงานการบินไทยและไทยสมายล์ทุกคน

นายถาวรกล่าวต่อว่า สำหรับการบินไทยได้ใช้กลยุทธ์มนตรา (Montra Project) ตามแผนฟื้นฟู เพื่อพลิกฟื้นองค์กร โดยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้การบินไทยกลับมามีกำไรใน 5 ปีข้างหน้า หรือปีราว 2567 แต่ก็ขอฝากให้การบินไทยเร่งพลิกฟื้นผลประกอบการให้กลับมาเป็นบวกเร็วขึ้น โดยคาดว่าแค่ 3 ปี หรือภายในปี 2565 ก็มีโอกาสพลิกฟื้นแล้ว

นอกจากนี้ การบินไทยมีแผนจะเปิดตัวธุรกิจจำหน่ายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) ในเร็วๆ นี้ ซึ่งตนก็ขอให้การบินไทยพิจารณานำสินค้า OTOP ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย (มท.) มาจำหน่ายด้วย เพื่อสร้างรายได้ให้กับทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนแผนการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ จำนวน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ตนไม่ขัดข้อง ขอให้เสนอมาตามขั้นตอน

ภาพประกอบข่าว TG127 2

ชงแผนจัดหาเครื่องใหม่ต่อ

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยจะเปิดตัวธุรกิจ E-Commerce เฟสที่ 1 ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งล่าช้ากว่าเป้าหมายเดิมเล็กน้อย โดยการบินไทยจะรอให้ E-Commerce เฟสที่ 1 นิ่งก่อน จึงนำสินค้า OTOP ไปวางจำหน่ายในเฟสที่ 2 ต่อไป ซึ่งคงไม่เกินเทศกาลสงกรานต์ หรือเดือนเมษายน ปี 2563

ส่วนแผนการจัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำ กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่เสนอให้รัฐบาลชุดเดิมพิจารณาไม่ทันนั้น การบินไทยก็จะนำเรื่องกลับมาเสนอให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอนอีกครั้ง โดยการบินไทยยังคงเสนอจำนวนเครื่องบินและวงเงินการจัดหาเท่าเดิม

สำหรับไทยสมายล์ ที่เป็นบริษัทลูกนั้น นายสุเมธกล่าวว่า ล่าสุดไทยสมายล์มีอัตราการใช้เครื่องบินอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 30 นาที และปลายปี 2562 จะเพิ่มเป็น 10 ชั่วโมง 30 นาที โดยการบินในอัตรานี้จะทำให้ไทยสมายล์หยุดขาดทุนและไทยสมายล์จะบินด้วยอัตรานี้ตลอดปี 2563 จากนั้นไทยสมายล์จะต้องเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินเป็น 12 ชั่วโมง 30 นาทีภายใน 3 ปีข้างหน้า

S 67412045

ไทยสมายล์ต้องเพิ่มทุน

นางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันสายการบินไทยสมายล์ยังมีผลประกอบการติดลบ ล่าสุดตัวเลขขาดทุนสะสมอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท และขาดทุนเกินทุนอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ไทยสมายล์จึงต้องดำเนินการปรับโครงสร้างทางการเงินครั้งใหญ่ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ เพื่อให้บริษัทเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ซึ่งจะบังคับใช้ในปี 2563

โดยตามขั้นตอน ไทยสมายล์จะต้องเสนอแผนดำเนินการ 5 ปี ระหว่างปี 2563-2567 และแผนเพิ่มทุนเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ไทยสมายล์เห็นชอบก่อน จากนั้นจึงเสนอแผนให้บอร์ดการบินไทยพิจารณาว่า การบินไทยจะสามารถรับตัวเลขเพิ่มทุนได้เท่าใด

แต่เบื้องต้นประเมินว่าไทยสมายล์ต้องการวงเงินเพิ่มทุนสูงสุดประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินที่ได้ก็จะนำไปเพิ่มทุนและคืนหนี้ รวมถึงดำเนินการตามแผนมนตรา 2 คล้ายกับการบินไทยที่เป็นบริษัทแม่

ไทยสมายล์

“ปีหน้าไทยสมายล์ต้องมีกำไร ไม่อย่างนั้นแผนเพิ่มทุนไม่ผ่าน สำหรับวงเงินเพิ่มทุนยังต้องขอคำนวณก่อน เพราะการบินไทยก็ต้องรับตัวเลขนี้ได้ด้วย ต้องไปด้วยกันได้ ซึ่งเบื้องต้นเราก็อยากเพิ่มทุนมากที่สุดประมาณ 5,000 ล้านบาท” นางชาริตากล่าว

นางชาริตา กล่าวต่อว่า การดำเนินธุรกิจของไทยสมายล์ในขณะนี้มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นตามลำดับ เพราะการบินไทยช่วยจำหน่ายบัตรโดยสารอย่างจริงจัง ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีกำไรจากการดำเนินงานเล็กน้อย แต่ไม่ถึง 100 ล้านบาท

อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ภายในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 60-70% เป็น 80-85% จำนวนผู้โดยสารต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนคนต้นๆ เป็น 3.6 แสนคนในปัจจุบัน อีกทั้งอัตราการใช้เครื่องบินก็สูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนในปลายปีนี้ ไทยสมายล์ก็มีแผนจะเปิดเส้นทางใหม่อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-อาเมดาบัด (อินเดีย) และ เชียงใหม่-เกาสง ไต้หวัน

Avatar photo