COLUMNISTS

บทเรียนแถลงนโยบาย 2562 : นายกฯ ต้องให้เกียรติสภา

Avatar photo
2990

การแถลงนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ถือว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าทำหน้าที่เต็มตัวอย่างเป็นทางการแล้ว

S 22372389

ก่อนอื่นเลยต้องกล่าวชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีทุกท่านในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ที่อยู่ฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา และพร้อมลุกขึ้นชี้แจงแทบจะตลอดเวลาของการประชุม ถ้าจะไม่อยู่ในห้องประชุมก็แค่เพียงพักกินข้าว เข้าห้องน้ำ หรือการปฏิบัติภารกิจนอกสภาฯ เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

โดยทั่วไปแล้วอาจถือว่าดีขึ้น หากเปรียบเทียบจากสมัยรัฐบาล คสช. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากการแถลงนโยบายครั้งแรก และการแถลงงบประมาณประจำปีแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยชี้แจงกระทู้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แม้แต่ครั้งเดียว

แต่ระยะเวลาการแถลงนโยบาย และอยู่ฟังการอภิปรายตลอด 2 วัน หรือเวลากว่า 30 ชั่วโมงในรัฐสภา ยังไม่มากพอที่จะเป็นบทพิสูจน์ความเป็นประชาธิปไตยของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ เพราะยังคงต้องเจอญัตติ หรือกระทู้สดอีกมากมาย ที่รอให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงต่อสภา เกือบทุกสัปดาห์

ตัวอย่างนักการเมืองอาชีพดีๆ มีให้เห็นหลายคน อย่างนายกรัฐมนตรียุคอาวุโส เช่น นายชวน หลีกภัย และ นายสมัคร สุนทรเวช ก็จัดสรรเวลาเข้ามาตอบกระทู้ต่อสภาฯ ตลอด หรือจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคลียร์คิววันพฤหัสบดี เพื่อมาตอบกระทู้ในสภาฯ ไม่เคยขาด ซึ่งเจ้าตัวเคยให้เหตุผลที่ปฏิบัติเช่นนั้นว่า “เป็นเพราะรัฐสภาคือสถานที่ทำงานของตัวแทนปวงชนชาวไทย ที่จะนำทุกข์สุขของชาวบ้านมาสะท้อนให้รัฐบาลแก้ปัญหา การเคารพกลไกรัฐสภาคือการเคารพประชาชน”

ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 164 วรรคสอง ระบุว่า ” รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน” นั่นหมายความว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคน ให้ความสำคัญต่อสภา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นายกรัฐมนตรีจะต้องจัดสรรเวลามาชี้แจงต่อสภา จะอ้างว่าไม่ว่างไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

แต่หากยังละเลยไม่มาตอบกระทู้สภา เหมือนที่เคยทำเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา สภาพก็คงไม่ต่างจากนายทักษิณ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไม่เคยมาตอบกระทู้ในสภา เช่นกัน

S 22372390

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่อง “มารยาทการควบคุมอารมณ์ และการให้เกียรติที่ประชุม” เพราะไม่ว่าจะเป็นระยะ 5 ปีที่ผ่านมา จนผ่านการเลือกตั้งเป็นสภาผู้แทนราษฎรและมีวุฒิสภาชุดใหม่แล้ว พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก “ขี้โมโห ควบคุมอารมณ์ไม่ได้” จนกลายเป็นคลิปที่แชร์กันไปทั่วในโลกออนไลน์ถึงพฤติกรรมนายกรัฐมนตรีไทยในสภา

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะนิสัยส่วนตัว หรือจิตใต้สำนึกลบต่อนักการเมือง พฤติกรรมที่ออกมาจึงดูเหมือนไม่ค่อยให้เกียรติกันเท่าไหร่ แต่นายกรัฐมนตรีเองต้องไม่ลืมว่าคนที่กำลังพูดหรือชี้แจงอยู่ด้วยนั้น เป็นตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน ไม่ใช่ลูกน้องหรือใครที่ คสช. แต่งตั้งมา และแน่นอนว่าส.ส.เองก็ต้องอภิปรายแบบมีวุฒิภาวะ รักษาเกียรติตัวเองเพื่อให้คนอื่นให้เกียรติด้วยเช่นเดียวกัน เพราะทั้ง ส.ส. นรม. หรือ ครม. ต่างกำลังถูกประเมินจากประชาชนอย่างเข้มงวดผ่านสื่อในยุคโลกาภิวัฒน์

หากนายกรัฐมนตรีตระหนักในข้อนี้ ก็หวังว่าหลังจากนี้จะให้เกียรติส.ส.รวมถึงสถานที่ประชุมมากขึ้น อย่าอ้างแค่ว่าไม่คุ้นชินกับงานในสภา เพราะก่อนที่เราจะปฏิบัติหน้าที่ใดต้องเรียนรู้ที่จะดำเนินการตามกฎระเบียบ กติกา มารยาท ​มาก่อนด้วย จึงจะถือว่าเป็นผู้พร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็มีตัวอย่างเห็นได้ชัดอย่างการชี้แจงของ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แม้ถูกอภิปรายอย่างหนักว่ามีส่วนร่วมในการประชุมบอร์ดธนาคารกรุงไทย ปล่อยกู้ให้กลุ่มกฤษดามหานคร แต่ก็ยังควบคุมอารมณ์และสามารถชี้แจงต่อที่ประชุมได้

เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก เช่นเดียวกันกับพล.อ.ประยุทธ์ แต่พฤติกรรมต่างกันมาก สามารถควบคุมอารมณ์ ชี้แจงได้อย่างสร้างสรรค์และสุภาพ

แต่พอตัดกลับมาที่พฤติกรรมของพล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นอย่างที่ทุกคนเห็น อาจจะมีจังหวะฮาบ้าง อะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วอารมณ์ก็ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดเวลา ออกไปทางโมโหโกรธาเสียส่วนใหญ่ แล้วก็จบด้วยการ “ขอโทษ”

S 22372388

หลายคนพยายามอวยนายกฯว่า แม้จะมีปัญหาด้านอารมณ์แต่ก็รู้จักที่จะขอโทษทันทีที่คิดว่าพลาด ซึ่งในความเป็นจริงคำขอโทษจะมีความหมายก็ต่อเมื่อ ขอโทษแล้วต้องแก้ไข ไม่ใช่ทำผิดซ้ำ ๆ ซึ่งตลอดกว่าห้าปีที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ ต้องกล่าวขอโทษซ้กแล้วซ้ำเล่าจากปัญหาเดิมคือ การขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์

ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านงานการเมืองมาในระดับที่ไม่อาจเรียกว่าเป็น “น้องใหม่” แล้ว ถึงเวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพิสูจน์ตัวในฐานะนักการเมืองอาชีพที่ทำเพื่อประชาชน โดยปราศจากข้อจำกัดที่ต้องให้คนไทยเข้าใจ และคำขอโทษที่รอการให้อภัยได้แล้ว

ถ้าทำได้ก็จะถือว่าสอบผ่านในฐานะนายกรัฐมนตรีตามวิถีประชาธิปไตย