Digital Economy

ทรูออนไลน์เจาะพรีเมียมส่งเน็ตไฟเบอร์‘กิกะบิต’รับยุคไอโอที

ภายใต้แผนลงทุนขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ต 3.2 หมื่นล้านบาท ระหว่างปี 2560-2562 ของกลุ่มทรู  ปัจจุบันครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 70 จังหวัด หลังจากรัฐบาลเป็นเจ้าภาพลงทุนโครงการ “เน็ตประชารัฐ” โดยกระทรวงดีอีและสำนักงาน กสทช.ระดับหมู่บ้านทั่วประเทศ ทำให้ “ทรูออนไลน์” โฟกัสการพัฒนาการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ด้วยแบนด์วิธ ที่กว้างระดับ Gigabit เจาะตลาดพรีเมียม

ทรูออนไลน์
สหรัฐส์ คนองศิลป์

สหรัฐส์ คนองศิลป์ ผู้อำนวยการและหัวหน้าสายงานการพาณิชย์ทรูออนไลน์ และคอนเวอร์เจนซ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรู ได้พัฒนาเครือข่ายจนก้าวมาเป็นผู้นำอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ทั้งมีสายและไร้สาย ปัจจุบันทรูออนไลน์ มีโครงข่ายไฟเบอร์บรอดแบนด์ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศกว่า 70 จังหวัด

โดยปลายปี 2560 โครงข่ายไฟเบอร์ครอบคลุมครัวเรือนไทย 13 ล้านครัวเรือน  สิ้นเดือนมิถุนายน ปีนี้ขยับขึ้นมาเป็น 15 ล้านครัวเรือน สิ้นปีนี้จะครอบคลุม 18 ล้านครัวเรือน

หลังจากมีโครงการเน็ตประชารัฐแล้ว ทรูอาจพิจารณาไม่ขยายโครงข่ายไฟเบอร์ในต่างจังหวัดมากนัก เพราะกระทรวงดีอี และ กสทช. เข้าดูรับผิดชอบการขยายโครงข่ายบรอดแบนด์แล้ว  โดยหลังจากนี้การลงทุนไฟเบอร์จะเน้นการอัพเกรดบริการระดับพรีเมียมมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ไตรมาส 4 ปีนี้ จะขยายโครงข่ายไฟเบอร์ครอบคลุม 100%  ซึ่งปัจจุบันมีครัวเรือนในกรุงเทพฯ ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประมาณ 2 ล้านครัวเรือน หากรวมปริมณฑลอยู่ที่ 4 ล้านครัวเรือน

“หนึ่งในยุทธศาสตร์กลุ่มทรู คือการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง ที่สร้างความเชื่อมั่น ให้กับผู้ประกอบการ เอกชน และนักลงทุน ดังนั้นการจะเป็นผู้นำกลุ่มสื่อสารจึงต้องสร้างแฟลกชิพบริการที่โดดเด่น”

เปิดตัวแพ็คเกจ 1 กิกะบิต

ปัจจุบันในบ้านที่ก้าวสู่ยุค IoT มีอุปกรณ์ที่ต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตจำนวน 6-7 อุปกรณ์ จำนวนอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นเป็นโจทย์ที่ทรู นำมาพัฒนาแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตบ้านที่ต้องการแบนด์วิธที่กว้างขึ้น

ล่าสุดทรูออนไลน์ เปิดตัว “แพ็คเกจ ทรู ไฟเบอร์ 1Gbps” เริ่มต้นพื้นที่กรุงเทพฯ ตอบโจทย์ผู้บริโภคในครัวเรือน มีการใช้งานอุปกรณ์สื่อสารคนละหลายเครื่อง และนิยมดูคอนเทนท์ทีวีรูปแบบสตรีมมิ่ง ระบบ 4K อีกทั้งต้องการใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วและแรงพร้อมกันหลายๆ คนที่บ้าน จึงจำเป็นต้องมีแบนด์วิธที่กว้างขึ้นเป็นระดับกิกะบิต (Gigabit)

การเปิดตัวดังกล่าวถือเป็นการสร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้คนกรุงเทพฯ ถือเป็นมหานคร ที่เปิดตัวเน็ตไฟเบอร์ 1 กิกะบิต เป็นระดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน

แพ็คเกจ 1 กิกะบิตนี้สำหรับไฟเบอร์บ้านดังกล่าว ถือเป็นการเปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่ จากเดิมที่บรอดแบนด์แข่งขันกันที่ “ความเร็ว” แต่อุปกรณ์ที่ใช้อินเทอร์เน็ตทำให้ความเร็วแตกต่างกัน อีกทั้งการใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านจะมีชั่วโมง “เร่งด่วน” ที่แต่ละคนในครอบครัวใช้งานพร้อมกัน  โดยช่วงเวลา 19.00-21.00 น. ถือเป็นช่วงพีคของการใช้อินเทอร์เน็ตบ้าน

“แม้เราจะซื้อแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตที่ความเร็ว 400 เมก แต่หากใช้ท่อส่งอินเทอร์เน็ตหรือดีไวซ์ที่ 50 เมก จึงมีผลต่อความเร็ว”

ปัจจุบันแพ็คเกจแบนด์วิธ 1 กิกะบิต ในตลาดประเทศไทยยังมีราคาสูงประมาณ  1-2 หมื่นบาทต่อเดือน จึงทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น การนำเสนอแพ็กเกจแบนด์วิธ 1 กิกะบิต จะตอบโจทย์ทั้งเรื่องความเร็วที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เท่า และราคาแพ็คเกจ 2,999 บาทต่อเดือน โดยมี 3 แพ็กเกจ ได้แก่

  1. เน็ตไฟเบอร์ 1Gbps. + ทรูมูฟ เอช (3 ซิม ซิมละ 35 GB) 100 GB ราคา  2,999 บาท
  2. เน็ตไฟเบอร์ 1Gbps. + ทรูวิชั่นส์โกลด์แพ็คเกจ  2,999 บาท
  3. เน็ตไฟเบอร์ 1Gbps. + ทรูมูฟ เอช (3 ซิม ซิมละ 50 GB) 150 GB + ทรูวิชั่นส์โกลด์แพ็กเกจ ราคา 3,999 บาท

การสมัคร ทรู ไฟเบอร์ 1 กิกะบิต จ่ายค่าแรกเข้า 650 บาท  ปกติ 2,000 บาท  ค่าอุปกรณ์ Gigabit AP เราเตอร์  5,500 บาท จากปกติ 12,900 บาท  จำนวน  3,000 ตัวแรก

ทรูออนไลน์

วางเป้าลูกค้าแสนราย

การใช้บรอดแบนด์ของครัวเรือนในกรุงเทพฯเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 เมก แต่ส่วนใหญ่ยังใช้แพ็คเกจ 30-50 เมกเป็นหลัก คาดว่าในอีก 1-2 ปีในกรุงเทพฯจะใช้ที่อัตรา 100 เมก

สำหรับแพ็คเกจ 1 กิกะบิต  วางเป้าเจาะตลาดพรีเมียมครัวเรือนในกรุงเทพฯ ที่มีสัดส่วน 10-15% เป็นกลุ่มครอบครัวขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง   โดยเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับทรูวิชั่นส์ แพ็คเกจโกลด์ และแพลทินัม ปัจจุบันกลุ่มคนใช้เน็ตบ้านแพ็คเกจ 50-10 เมก ถือว่าไม่เพียงพอจากกิจกรรมในบ้าน ขณะที่แพ็คเกจสูงสุด 300 เมกในตลาดอยู่ที่ราคา 1,900 บาท ราคาแพ็คเกจมห่ 1 กิกะบิต จึงเป็นอีกตัวเลือกใหม่ของกลุ่มพรีเมียม

ปัจจุบันครัวเรือนไทยทั่วประเทศมี 23 ล้านครัวเรือน คาดว่าการใช้บรอดแบนด์ในปี 2563 สัดส่วนอยู่ที่ 50% ของครัวเรือนไทย ดังนั้นจะมีผู้ใช้บรอดแบนด์ ทุกประเภท ทั่วประเทศราว 11 ล้านครัวเรือนในปี 2563

ขณะที่ผู้ใช้บรอดแบนด์ทั่วประเทศประมาณ 6-7 ล้านราย  ทรู มีส่วนแบ่งการตลาดบรอดแบนด์ทั่วประเทศ 42%  หรือประมาณ 3.2 ล้านราย  อันดับสอง 3บีบี ประมาณ 30%  ที่เหลือทีโอทีและรายอื่นๆ รวมกัน

ไตรมาสแรกที่ผ่านมาลูกค้าบรอดแบนด์เพิ่มขึ้น 1.1 แสนราย  ปีนี้เป้ารายได้เติบโต 10%  ส่วนจำนวนลูกค้าอยู่ที่ 4 ล้านราย

ขณะที่การการเปิดตัวเน็ตไฟเบอร์ 1 กิกะบิต ในกรุงเทพฯ วางเป้าหมายลูกค้าใช้บริการ 10% ของฐานลูกค้าบรอดแบนด์ในกรุงเทพฯ หรือกว่า 1 แสนราย  จากปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีลูกค้าบรอดแบนด์ ประมาณ 1 ล้านราย

ทรูออนไลน์
สหรัฐส์ คนองศิลป์

เจาะตลาดคอนโดแนวรถไฟฟ้า

สหรัฐส์ กล่าวอีกว่าปัจจุบันครัวเรือนในกรุงเทพฯ จะเป็นที่อยู่อาศัยแนวสูงมากขึ้น ดังนั้นจึงทำงานร่วมกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กว่า 30 ราย เพื่อติดตั้งไฟเบอร์ไว้ในโครงสร้างอาคารเปิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดหรู รวมทั้งคอนโดตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าทุกสาย ที่ปัจจุบันมี 934 อาคาร  โดยติดตั้งไปแล้ว 60%

นอกจากนี้ได้เข้าไปติดตั้งสายไฟเบอร์ในอาคารต่างๆ ของกรุงเทพฯแล้ว 1,500 อาคาร  วางเป้าหมายเพิ่มอีก 800 อาคารในไตรมาส 4 ปีนี้

พื้นที่กรุงเทพฯ ทรู มีส่วนแบ่งการตลาดบรอดแบนด์ อยู่ที่ 53%  จำนวนลูกค้าในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดสัดส่วนเท่ากัน 50:50  จากจำนวนทั้งหมด 3.2 ล้านราย  โดยในต่างจังหวัดส่วนบางการตลาดอยู่ที่กว่า 20%   โดยมีส่วนแบ่งการตลาดรวมทั้งประเทศ 42% แต่ด้านมูลค่าบรอดแบนด์มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 60% จากแพ็คเกจพรีเมียม

“ทรูเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดบรอดแบนด์ แต่เบอร์ 2 และ 3 ก็เข้ามารุกตลาดนี้เช่นกัน  จึงต้องพัฒนาบริการและแพ็คเกจที่ทำให้ตลาดกรุงเทพฯแข็งแกร่งขึ้น ด้วยการลงทุนมาสร้างตลาดพรีเมียมมากขึ้น”

ทรูออนไลน์ ทั้งวอยซ์และดาต้าสำหรับลูกค้าธุรกิจ และบรอดแบนด์  เป้าหมายรายได้ปีนี้อยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท เติบโต 10%  เท่ากับปี 2560 ที่เติบโต 10% เช่นกัน

 

Avatar photo