Properties

คอนโดฯ 2.3 หมื่นยูนิตทะลักแนวรถไฟฟ้าหมอชิต–คูคต

เส้นทางส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ(หมอชิต-คูคต) เป็นอีกทำเลที่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างอย่างเห็นได้ชัด และพบว่ามีโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ เปิดตัวออกมารองรับชัดเจน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่่วงเริ่มต้นโครงการ และเปิดตัวสะสมมาจนถึงปัจจุบัน

11954556 1625019591112716 5045746527351818545 n

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต – คูคต) เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของคอนโดมิเนียมที่เปิดขายมากขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2558 เป็นต้นมา ตั้งแต่การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ(หมอชิต–คูคต) เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่า ในช่วงปี 2558-2560 มีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากถึง 14,700 ยูนิต ผู้ประกอบการที่พัฒนาโครงการมากที่สุดของย่านนี้ คือ บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือกว่า 9 โครงการ ประมาณ 3,810 หน่วย

ในช่วงครึ่งแรกปี 2561 มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ บนทำเลดังกล่าวแล้วกว่า 3,100 ยูนิต รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่อีกหลายราย ให้ความสนใจและพัฒนาโครงการใหม่ เช่น บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท เตรียมที่จะพัฒนาโครงการ พลัม คอนโด สะพานใหม่, บมจ. แสนสิริ เตรียมพัฒนาโครงการ เดอะ เบส สะพานใหม่, และ ซีพีเอ็น เรสซิเดนซ์ เตรียมที่จะพัฒนาคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก โดยเลือกพัฒนาโครงการบริเวณปากซอยพหลโยธิน 34

นอกจากนี่ยังมี บจก. แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ เตรียมจะพัฒนาโครงการ แมสซารีน รัชโยธิน ตรงข้ามเมเจอร์ รัชโยธิน ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ หลังจากประสบความสำเร็จจากการขายโครงการ เซียล่า ศรีปทุม ที่เปิดการขายไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และสามารถปิดการขายแล้วกว่า 70%  และยังมี บมจ. อีพี(ไทยแลนด์) เตรียมจะเปิดโครงการ Life Ladprao Valley ตรงข้ามเซ็นทรัลลาดพร้าว หลังจากประสบความสำเร็จจากโครงการ Life Ladprao ที่เปิดขายไปแล้วเมื่อกลางปี 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในช่วงปลายปีนี้คาดว่า จะมีคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว(หมอชิต–คูคต) อีกกว่า 3,200 ยูนิต

คอนโดมิเนียมใหม่ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสาย

คาดปี 62 คอนโดฯใหม่กว่า 2.3 หมื่นยูนิต  

คอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างเสร็จในแต่ละปี และก่อสร้างแล้วเสร็จสะสมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต–คูคต) ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในปี 2562 คาดว่าจะมีคอนโดมิเนียมก่อสร้างแล้วเสร็จบนทำเลดังกล่าวมากกว่า 1 หมื่นยูนิต เนื่องจากในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต–คูคต) เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เดือนพฤษภาคม 2561 มีคอนโดมิเนียม 12,900 หน่วยก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ในปี 2562 จะมีคอนโดมิเนียมที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จมากถึง 23,200 ยูนิต

คอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่รายปี และคาดการณ์

ปัจจุบันการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต–คูคต มีความคืบหน้าแล้วกว่า 63.27% ส่งผลให้พื้นที่ตามแนวเส้นทาง เป็นอีกทำเลที่น่าสนใจของผู้ประกอบการหลายราย และมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายกันมากมาย แต่อาจจะยังไม่กระจายไปตลอดเส้นทาง ยังคงกระจุกตัวอยู่ในบริเวณที่มีศูนย์การค้า มหาวิทยาลัย หรือชุมชนดั้งเดิม เช่น สี่แยกลาดพร้าว  สี่แยกรัชโยธิน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงเวียนหลักสี่ สะพานใหม่ เป็นต้น

ก่อนหน้านี้อาจจะมีโครงการคอนโดมิเนียม เปิดขายกันในพื้นที่รอบสี่แยกรัชโยธิน และพื้นที่รอบๆ สถานีหมอชิต แต่เมื่อความชัดเจนของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีมากขึ้น จึงเริ่มมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา และมากขึ้นชัดเจนในปี 2560 ที่เริ่มมีโครงการขนาดใหญ่เปิดขายในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560 และอีกหลายโครงการ จากผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก ที่เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังปี 2561 นี้  ทำให้ในปี 2561 อาจจะมีคอนโดมิเนียมมากว่า 7,000 ยูนิตเปิดขายในพื้นที่ ตั้งแต่สี่แยกลาดพร้าว ไปจนถึงช่วงสะพานใหม่

คอนโดฯใหม่พ.ค.ปีนี้กว่า 1.1 หมื่นยูนิต

คอนโดมิเนียมที่เปิดขายอยู่ในพื้นที่นี้ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ปี 2561 อยู่ที่ 11,069 ยูนิต มีอัตราการขายอยู่ที่ 80%  หรือประมาณ 8,900 ยูนิต เหลือขายประมาณ 20% หรือราว 2,170 ยูนิต สืบเนื่องจากการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า ที่มีความคืบหน้าค่อนข้างเร็ว จึงส่งผลให้กลุ่มผู้ซื้อให้ความสนใจซื้อเป็นจำนวนมาก

ราคาขายคอนโดมิเนียมในทำเลนี้ ปัจจุบันยังถือว่าไม่สูงมาก โดยราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 8 หมื่นบาทต่อตารางเมตร ในช่วงสะพานใหม่ แต่ถ้าพิจารณาแยกเป็นทำเล ก็อาจเห็นความแตกต่างพอสมควร เพราะพื้นที่รอบสี่แยกลาดพร้าว อาจมีราคาขายเฉลี่ยที่มากกว่า 1.5 แสนบาทต่อตารางเมตร สูงกว่าในพื้นที่อื่นๆ ของแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ แต่ในอนาคต คาดว่าราคาขายเฉลี่ย จะสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามความคืบหน้าของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยอาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ต่อปีหรือมากกว่านั้นในบางทำเล แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบโครงการและทำเลที่ตั้งด้วย

บางโครงการที่อาจเปิดขายทีหลัง แต่มีการขายพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวก หรือรูปแบบโครงการที่เด่นกว่าโครงการอื่นๆ ในทำเลเดียวกัน ก็อาจมีราคาขายที่สูงกว่าโครงการอื่นๆ แบบชัดเจน ทำเลที่น่าสนใจ คือ ช่วงตั้งแต่ สี่แยกรัชโยธินขึ้นไปถึงวงเวียนหลักสี่ เพราะเป็นทำเลที่มีโครงการเปิดขายต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และอีกหลายโครงการ ที่พร้อมจะเปิดขายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

หมอชิตคูคต

ราคาที่ดินปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 50% 

แต่ทำเลรอบๆ วงเวียนหลักสี่ขึ้นไปถึงสะพานใหม่ ก็น่าสนใจเช่นกัน มีผู้ประกอบการรอเปิดขายโครงการใหม่อยู่หลายโครงการ ปัจจัยที่มีผลต่อราคาขายโครงการคอนโดมิเนียม คือ ราคาที่ดินที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง มาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยราคาขายของที่ดินเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จากเมื่อ 2–3 ปีก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในพื้นที่รอบๆ สี่แยกลาดพร้าว ที่ปรับขึ้นมามากกว่า 5-6 แสนบาทต่อตารางวา

ในทำเลช่วงสี่แยกรัชโยธินถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ราคาที่ดินอยู่ในช่วง 4–6 แสนบาทต่อตารางวา ซึ่งปรับขึ้นมาเกือบ 2 เท่าในช่วงเวลาประมาณ 2 ปีเท่านั้น
ถ้าเป็นทำเลที่ไกลออกไป ก็อาจจะต่ำกว่า 3 แสนบาทต่อตารางวา และการปรับขึ้นของราคา ก็ไม่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่ ตั้งแต่สี่แยกลาดพร้าวถึงวงเวียนหลักสี่

สาเหตุที่ราคาที่ดินช่วงสี่แยกรัชโยธินถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปรับขึ้นค่อนข้างมาก นอกจากจะเป็นเรื่องของรถไฟฟ้าที่มีการก่อสร้างเป็นรูปธรรมชัดเจนแล้ว อีกปัจจัย คือ ความเป็นชุมชนที่มีความพร้อมในเกือบทุกด้าน มาตั้งแต่ในอดีตก่อนหน้านี้เป็น 10 ปี และที่ดินในทำเลนี้ มีการพัฒนาจนเต็มพื้นที่แล้ว เหลือที่ดินว่างเปล่าไม่มาก ดังนั้น ราคาที่ดินจึงปรับขึ้นค่อนข้างมาก และคาดว่าจะปรับขึ้นต่อเนื่องไปอีก ซึ่งมีผลต่อราคาขายคอนโดมิเนียมในอนาคตแน่นอน

พื้นที่ตั้งแต่แยกรัชโยธินขึ้นไปถึงทำเลที่น่าสนใจในเส้นทางนี้ ยังเป็นพื้นที่รอบๆ สถานี ที่อาจเป็นสถานีร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง เช่น สถานีรัชโยธิน ที่อาจจะเป็นสถานีร่วม กับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ขยายขึ้นมา สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่ สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู หรือสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่อาจจะเป็นจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ซึ่งพื้นที่รอบๆ 3 สถานีนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้ประโยชน์บนที่ดินสูงขึ้นในอนาคต ตามการเปลี่ยนแปลงของผังเมือง ที่ต้องเพิ่มศักยภาพของพื้นที่รอบๆ สถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง

Avatar photo