Economics

‘จีพีเอสซี’ ปักธงบิ๊กผลิตไฟฟ้าอันดับ 3 ใน 5 ปี

จีพีเอสซีวางเป้า 5 ปีไต่อันดับ 3 บิ๊กผลิตไฟฟ้าของไทย วางกรอบลงทุน 50,000 ล้านบาทรองรับ  พร้อมเป็นแกนหลักเพิ่มพอร์ตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้กลุ่มปตท.รวม 8,000 เมกะวัตต์ 

IMG 20190730 105050 1นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี กล่าวว่า ในฐานะเป็นธงนำ (Flagship)ของกลุ่มปตท.ในกิจการผลิตไฟฟ้า มีเป้าหมายจะไต่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอันดับ 3 ภายใน 5 ปีด้วยกำลังผลิต 5,400 เมกะวัตต์

จากจีพีเอสซีมีกำลังผลิต 4,986 เมกะวัตต์ เป็นอันดับ 4 รองจากบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่มีกำลังผลิต 7,400 เมกะวัตต์ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กำลังผลิต 6,700 เมกะวัตต์ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กำลังผลิต 5,700 เมกะวัตต์

โดยวางกรอบการลงทุนรองรับแผน 5 ปี (2563-2567)แล้ว ภายใต้วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โครงการลงทุนหลักเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ หน่วยผลิตพลังงาน (Energy Recovery Unit : ERU)ในโครงการพลังงานสะอาด ( Clean Fuel Project) ของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 757 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 24,113 ล้านบาท โรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายน้ำล้น (Run-of-river)เขื่อนไซยะบุรี กำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ และเขื่อนน้ำลีก 65 เมกะวัตต์ ที่สปป.ลาว

รวมถึงโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) ประเภทพลังงานระบบโคเจนเนอเรชั่น ที่จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อทดแทนโรงเดิมที่หมดอายุ โครงการศูนย์ผลิตสาธารณูปการ จังหวัดระยอง แห่งที่ 4 (CUP-4) กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง และยังมีอีก 3 โครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2563-2566 ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้านวนคร ส่วนขยาย (NNEG Expansion) โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (RDF) เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้ารองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเติบโต 3.42%

GPSC CUP1นอกจากนี้ทางกลุ่มปตท.เพิ่งได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้ ที่จะให้จีพีเอสซีเป็นแกนหลักในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไปถึง 8,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้กลุ่มปตท.มีส่วนร่วมในการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะมีการวางแผนในรายละเอียดต่อไป สอดรับกับแผนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของจีพีเอสซีที่จะเพิ่มเป็น 18%ใน 5 ปีหรือประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน 10% หรือ 525 เมกะวัตต์

สำหรับแผนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในวงเงิน 74,000 ล้านบาท ที่คณะกรรมการบริษัทฯอนุมัติไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น เป็นการปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทฯ ให้มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น รองรับการขยายการลงทุนในอนาคต

โดยจะนำไปชำระเงินกู้ระยะสั้น (Bridge Financing) 130,000 ล้านบาท ที่ใช้ไปเพื่อซื้อกิจการจากบริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ชำระให้กับสถาบันการเงิน และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) และจะมีการออกหุ้นกู้และกู้เงินระยะยาวไม่เกิน 60,000 ล้านบาท ภายในไตรมาสที่ 4 มาแทน ช่วยลดภาระหนี้ต่อทุน (D/E) เหลือไม่เกิน 1 เท่า จาก 2.5 เท่าในปัจจุบัน ทำให้มีโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสม รักษาระดับอัตราส่วนทางการเงินให้เทียบเคียงได้กับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และรองรับการลงทุนในโครงการปัจจุบันและในอนาคต

ในการเพิ่มทุนครั้งนี้ บริษัทฯ จะดำเนินการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,321.43 ล้านหุ้น เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering: RO) ในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 0.8819 หุ้นใหม่ สำหรับส่วนลดแก่ผู้ถือหุ้นประมาณ 20%  ทำให้การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวเท่ากับ 56 บาทต่อหุ้นนั้น คิดจากราคาถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของหุ้นของบริษัทฯ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ย้อนหลัง 30 วันทำการ ก่อนวันที่คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 (ระหว่าง 13 มิถุนายน- 25 กรกฎาคม 2562 ให้เสนอวาระดังกล่าวต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณา ซึ่งเท่ากับประมาณ 70 บาท

ทั้งนี้จะเสนอในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 ปี 2562 พิจารณาอนุมัติในวันที่ 28 สิงหาคม 2562 กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Record Date) วันที่ 4 กันยายน 2562 และเปิดให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนระหว่างวันที่ 30 กันยายน – 4 ตุลาคม 2562

Avatar photo