The Bangkok Insight

‘สันติ’ มือวิชาการพปชร.แจงความจริงหนี้สาธารณะ-ครัวเรือน

ยังมีควันหลงจากการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม 2562 เมื่อมือวิชาการของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อย่างดร.สันติ กีระนันท์ อดีตรองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ป้จจุบัน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ขออภิปรายนอกสภาผ่านเฟซบุ๊ค เพราะเวลา 10 นาทีสำหรับการอธิบายสถานการณ์ทางเศรษฐกิจย่อมไม่เพียงพอสำหรับเขาดร.สันติ กีระนันท์

โดยดร.สันติ ระบุถึงแนวคิดที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างนโยบายของรัฐบาล 2 ประการ ได้แก่ 1.แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง (disruptive environบาลment)

2.แนวคิดที่ให้สำคัญกับประชาชนตั้งแต่ระดับฐานราก เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน โดยเขานิยามในเรื่องนี้ว่า เป็นการสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้ยั่งยืน (sustainable strength) โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังScreenshot 20190729 102425 com.facebook.katana

ดร.สันติ ระบุเนื้อหาการอธิบายของเขาในเฟซบุ๊ค ดังนี้

เนื้อหาสาระที่ตนเองอภิปรายไปนั้น ก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เข้ามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบการเงินของประเทศ

ยกตัวอย่างเรื่องสังคมไร้เงินสด (cashless society) ที่ช่วยประหยัดต้นทุนการทำรายการทางการเงิน (financial transaction) ลงได้ประมาณปีละกว่า 50,000 ล้านบาท หากเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ซึ่งเรื่องนี้ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ได้อธิบายเพิ่มเติมไปแล้วว่า นอกเหนือจากการประหยัดต้นทุนจากการใช้เงินสดแล้ว

ระบบ promptpay ที่รัฐบาลสร้างขึ้นนั้น ยังช่วยให้การโอนเงินจากภาครัฐไปยังประชาชน ถึงมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการตกหล่นหรือ corruption ได้อย่างดี นอกจากการใช้ FinTech แล้ว ก็ยังมีความพยายามในการสร้างความรู้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคลให้แก่ประชาชน ตลอดจนการมีนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อสร้างเครื่องมือทางการเงินเพื่อการระดมทุนของผู้ต้องการเงินทุน และเป็นเครื่องมือเพื่อการออมและการลงทุน โดยไม่เป็นภาระหนี้สาธารณะอย่างกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตของประเทศไทย (Thailand Future Fund)

“หลังจากที่ได้อภิปรายไปแล้ว ผมได้มีโอกาสนั่งฟังเพื่อนสมาชิก ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก ที่ผลัดกันอภิปราย ซึ่งคิดว่า การอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น ประมาณร้อยละ 40 เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 60 พุ่งตรงไปในการอภิปรายตัวบุคคลในคณะรัฐมนตรี รวมทั้งอภิปรายความอัดอั้นตันใจในห้วงเวลาที่ผ่านมา 5 ปี”

สำหรับเนื้อหาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ พบว่าในช่วงการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะโน้มเอียงไปในทิศทางการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากกว่าที่จะเป็นการอภิปรายคำแถลงนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน อาจจะเห็นไม่ลงรอยกันนัก เช่น ภาระหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือนภาคประชาชน เป็นต้น ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็จะยกประเด็นว่า ทั้งภาระหนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือนภาคประชาชน ไม่ได้มากไปกว่ายุคก่อนที่ คสช. จะยึดอำนาจ และตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศเป็นเวลาประมาณ 5 ปี

ในขณะที่ฝ่ายค้านก็จะยกตัวเลขมายืนยันว่า ช่วงรัฐบาล คสช. ได้มีการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งภาระหนี้ครัวเรือนของประชาชนทั่วไปก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก และได้แสดงความคิดเห็นประกอบว่า ทั้งหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น แสดงถึงความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช. ซึ่งก็จะทำหน้าที่ในการบริหารเศรษฐกิจในรัฐบาลนี้อีก ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน จะมีความแตกต่างไปจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. พอสมควร เพราะมีองค์ประกอบของพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มเข้ามา และยังเข้าคุมกระทรวงสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจด้วย ซึ่งแน่นอนครับว่า ทีมเศรษฐกิจอาจจะมีแนวคิดและการดำเนินงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากรัฐบาล คสช.

เมื่อต่างฝ่ายต่างมีข้ออ้างที่ต่างกันแบบคนละขั้ว ถ้าอย่างนั้น ใครผิดใครถูก คงจะต้องนำข้อมูลและตัวเลขมาวิเคราะห์ดูว่า ความเป็นจริงเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลเรื่องหนี้สาธารณะ ก็คงจะต้องใช้ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ซึ่งแสดงในรูปประกอบที่ผมนำมาให้เห็นนี้

จะเห็นได้ว่า ในปี 2557 นั้น ภาระหนี้สาธารณะทั้งหมดมีประมาณ 5.69 ล้านล้านบาท ในขณะที่เวลาปัจจุบัน (พฤษภาคม 2562) มีภาระหนี้สาธารณะทั้งหมดประมาณ 6.98 ล้านล้านบาท คือเพิ่มขึ้นมาในระยะเวลา 5 ปีนี้ ประมาณ 1.29 ล้านล้านบาท ซึ่งแสดงว่า ข้อมูลของฝ่ายค้านก็ถูกต้องว่า รัฐบาล คสช. ได้มีการบริหารเศรษฐกิจ ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอีก 22.67% จากปี 255767247813 1520272158110722 919629369398263808 nอย่างไรก็ดี หากลองดูขนาดเศรษฐกิจที่วัดด้วย GDP บ้างครับ จะเห็นได้ว่า ในปี 2557 นั้น GDP ของประเทศไทยมีประมาณ 13.13 ล้านล้านบาท ในขณะที่เดือนพฤษภาคม 2562 นั้น GDP ได้เพิ่มขึ้นเป็น 16.61 ล้านล้านบาท หรือโตขึ้น 3.48 ล้านล้านบาท คิดเป็น 26.5% จากปี 2557 ซึ่งอาจจะสรุปในเบื้องต้นว่า GDP ในช่วง 5 ปีที่รัฐบาล คสช. บริหารเศรษฐกิจนั้น ทำให้ GDP ได้โตขึ้นมากกว่าภาระหนี้สาธารณะ และหากพิจารณาอัตราส่วน Public debt to GDP จะเห็นได้ว่า ในปี 2557 นั้น อัตราส่วนดังกล่าวมีประมาณ 43.33% (คือ ภาระหนี้เป็น 43.33% ของ GDP) ในขณะที่เดือนพฤษภาคม 2562 นั้น อัตราส่วน Public debt to GDP อยู่ที่ 42.02% น้อยกว่าปี 2557 เล็กน้อย

ข้อมูลดังกล่าวนี้ หากนำมาแสดงเพียงด้านเดียว คือภาระหนี้สาธารณะว่ามีจำนวนเท่าไร ก็จะสร้างความตกใจให้แก่ผู้ที่ไม่ได้วิเคราะห์รายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งที่เมื่อพิจารณาภาพรวมให้ครบถ้วน จะเห็นว่า ที่จริงแล้ว การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ ช้ากว่าการเติบโตของเศรษฐกิจภาพรวมเสียอีก และการวิเคราะห์ด้วยการใช้อัตราส่วน Public debt to GDP นอกจากจะเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกแล้ว (คล้าย ๆ กับการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินทั่ว ๆ ไป เช่น ความสามารถในการก่อหนี้อันเนื่องมาจากความต้องการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น หรือการวิเคราะห์โครงสร้างเงินทุนขององค์กรธุรกิจทั่วไป) ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า การก่อหนี้สาธารณะในช่วง 5 ปีนั้น เป็นการก่อหนี้เพื่อสร้างความเติบโตให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมด้วยซ้ำไป

เรื่องถัดไปคือ ภาระหนี้ครัวเรือน ซึ่งคล้าย ๆ กับเรื่องหนี้สาธารณะ กล่าวคือ ฝ่ายค้านก็ยกประเด็นว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปี ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาล ก็ใช้อัตราส่วนหนี้ต่อ GDP มาอธิบายว่า ภาระหนี้ครัวเรือนไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักในช่วง 5 ปี67257077 1520272264777378 3975242964048805888 nจากภาพที่แสดงนั้น จะเห็นได้ว่า ในช่วงปลายปี 2557 นั้น อัตราหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ขึ้นไปถึง 79.7% และอัตราหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในขณะนี้ (ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562) อยู่ที่ 78.7% หรือลดลงเล็กน้อย แต่ถ้าพิจารณาถึงหนี้ครัวเรือนที่ไม่รวมสินเชื่อธุรกิจ จะเห็นได้ว่า ในช่วงปลายปี 2557 อัตราส่วนต่อ GDP จะเป็นประมาณ 66.6% ในขณะที่เวลาปัจจุบัน อัตราส่วนเดียวกันนั้น อยู่ที่ 65.8% หรือลดลงเล็กน้อยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ในประเด็นหนี้ครัวเรือนนั้น อาจจะมีการวิเคราะห์ที่แตกต่างไปจากหนี้สาธารณะบ้าง เพราะเหตุที่เมื่อ GDP ขยายตัวขึ้นไปค่อนข้างมาก แต่อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เปลี่ยนแปลงไปไม่มากนัก (ลดลงเพียงเล็กน้อย) แสดงว่าหนี้ครัวเรือนที่เป็นปริมาณหนี้จริง ๆ ก็ต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งหมายถึงภาระของประชาชนในการชำระหนี้ก็จะมากขึ้น และหากเปรียบกับรายได้ของประชาชน ซึ่งหากการกระจายรายได้มีปัญหาการกระจุกมาก ก็จะทำให้ภาระของประชาชนอาจจะถึงจุดวิกฤตดังที่ฝ่ายค้านแสดงความกังวล

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงการกระจายรายได้ของภาคประชาชนด้วยว่ามีปัญหามากเท่าไร หากเปรียบเทียบใน 2 ช่วงเวลาเดียวกัน67427024 1520272361444035 8188111676717924352 n pngการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำซึ่งหมายถึงการกระจายรายได้ที่ไม่ดีนั้น นิยมใช้ GINI coefficient ในการอธิบายเรื่องดังกล่าว ซึ่งจากรูปที่นำมาแสดงนั้น เป็นข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งอาจจะสรุปง่าย ๆ ว่า ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และรายจ่ายของคนไทยนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางบวก แต่ค่อย ๆ ลดลงตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยมีแนวโน้มค่อยเป็นค่อยไป

ดังนั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับการวิเคราะห์หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ประกอบกัน ดังที่แสดงมาก่อนหน้านี้ อาจจะสรุปเบื้องต้นได้ว่า สภาพการณ์ไม่ได้เลวร้ายมากขนาดที่ฝ่ายค้านพยายามโจมตีการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง

ตรงกันข้าม ปัญหาทั้งสองนั้นยังคงเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง เพียงแต่ไม่ได้เลวร้ายลงมาก แต่ก็ไมได้ปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งยังจำเป็นที่จะต้องได้รับการเอาใจใส่ในการแก้ปัญหาเรื่องทั้งสองนั้นอย่างจริงจัง และทางที่ดีนั้น ไม่ควรโยนภาระไปให้ฝ่ายบริหารเพียงอย่างเดียว แต่ฝ่ายนิติบัญญัติเอง (คือรัฐสภา) ก็ควรจะคอยสอดส่องกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาล พร้อมกับออกแรงช่วยให้ประชาชน (ซึ่งยึดโยงกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต) ได้เกิดความเข้าใจในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ปัญหาทั้งสองนั้นคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำที่นำมาแสดงในที่นี้ เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องความสามารถในการหารายได้ กับปัญหาความเหลื่อมล้ำในความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย (กำลังซื้อ หรือกำลังบริโภค) ซึ่งไมได้เลวร้ายลงในช่วงเวลาที่ผ่านมา

แต่ต้องยอมรับว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องความมั่งคั่ง หรือการครอบครองทรัพย์สิน เป็นปัญหาที่สะสมมานาน และมีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาที่หนักมากขึ้น ซึ่งจำเป็นจะต้องมีนโยบายในการสร้างความเป็นธรรมในการครอบครองทรัพย์สินของประชาชนในประเทศไทยให้ดีขึ้นกว่านี้ จึงจะทำให้สังคมไทยนั้นมีความอยู่เย็นเป็นสุขมากขึ้น เพราะหากปล่อยให้มีความเหลื่อมล้ำในการครอบครองทรัพย์สินมากเกินไป ก็จะสร้างปัญหาสังคมได้ในระยะเวลาต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับตลาดทุนไทยกับระบบเศรษฐกิจไทย มีการอภิปรายถึงความเติบโตของตลาดทุนไทย โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของตลาดทุนไทย

ปัจจุบันขนาดของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งวัดด้วยมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด ที่เรียกว่า market capitalization ของประเทศไทยนั้นมีขนาดประมาณ 17.985 ล้านล้านบาท (545 billion USD) ซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่เป็นที่สองใน ASEAN รองจากตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ซึ่งมีขนาดประมาณ 23.727 ล้านล้านบาท (719 billion USD) แต่ถ้านับถึงคุณภาพของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งวัดด้วยสภาพคล่อง ซึ่งหมายถึงปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในแต่ละวัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีสภาพคล่องสูงสุดใน ASEAN คืออยู่ที่ประมาณ 43,527 ล้านบาทต่อวัน (1,319 million USD) ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์มีสภาพคล่องรองจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คืออยู่ที่ 24,948 ล้านบาทต่อวัน (756 million USD)

ประเด็นที่ถูกหยิบยกมาอภิปรายคือ อัตราการจ่ายเงินปันผล ซึ่งเป็นการเทียบเม็ดเงินจ่ายเงินปันผลกับกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับประเทศไทยมีอัตราการจ่ายเงินปันผล (dividend yield) ประมาณ 3.2% เป็นรองตลาดหลักทรัพย์มาเลเซีย (3.4%) ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (4.2%) เมื่อเปรียบเทียบกันในภูมิภาคอาเซียน

เรื่องดังกล่าวนี้ มีผู้อภิปรายว่า อัตราการจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ในระดับค่อนข้างสูง (แต่น้อยกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์นะครับ) ซึ่งหมายความว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นบริษัทสัญชาติไทยเกือบทั้งหมด ไม่เห็นโอกาสในการลงทุนในประเทศไทย จึงปันผลเงินสดออกมาให้แก่ผู้ถือหุ้น ในขณะที่ภาครัฐพยายามสร้างความเติบโตของเศรษฐกิจที่มองผ่านตัวชี้วัด GDP ด้วยการเชื้อเชิญการลงทุนจากนักลงทุนจากต่างประเทศ เพราะนักลงทุนไทยไม่เห็นว่าการลงทุนในไทยนั้นมีความน่าสนใจอีกต่อไป

ในฐานะที่ผมเองเป็นนักวิชาการทางการเงิน และได้ทำงานในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาเป็นเวลานาน รวมทั้งมีประสบการณ์เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนพอสมควร ผมคิดว่า

การสรุปว่าประเทศไทยไม่น่าลงทุนในสายตานักลงทุนไทยนั้น ดูจะไม่เป็นความจริง กล่าวคือ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยสังเกตจากการระดมทุนเพิ่ม และมีการจัดหาเงินทุนด้วยการก่อหนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ ท่านผู้อภิปรายอาจจะแย้งผมว่า น่าจะไม่ถูกต้อง เพราะตามหลักการจัดหาเงินทุนนั้น มีทฤษฎีที่เรียกว่า pecking order theory ซึ่งเห็นได้ชัดว่า การจัดหาเงินทุนจากแหล่งภายใน (internal financing) ซึ่งหมายถึงกระแสเงินสดจากผลกำไรในแต่ละปี รวมทั้งการสะสมกำไรในรูปทรัพย์สินต่าง ๆ ในบริษัทนั้น จะเป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนเงินทุนต่ำที่สุด ถ้าในประเทศไทยยังมีโอกาสของการเจริญเติบโต บริษัทจดทะเบียนเหล่านั้นไม่ควรจะจ่ายเงินปันผลมาก แต่ควรจะเก็บกระแสเงินสดไว้ลงทุนต่อจะดีกว่า

ความเข้าใจเช่นนั้นก็เป็นความจริงตามทฤษฎี pecking order theory ครับ อย่างไรก็ดี ในวิชาการทางการเงินนั้น มีทฤษฎีที่อธิบายถึงพฤติกรรมการจ่ายเงินปันผลของบริษัท ซึ่งข้อสรุปในเรื่องการจ่ายเงินปันผลนั้น นักวิชาการทางการเงินรู้จักกันดีในข้อสรุป dividend puzzle ซึ่งแปลว่า การจ่ายเงินปันผลนั้นเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายด้วยหลักเรื่องกระแสเงินสดในบริษัทที่มีต้นทุนต่ำที่สุด เมื่อต้องการขยายการลงทุน แต่มีแนวคำอธิบายพฤติกรรมการจ่ายเงินปันผลที่พอจะอนุมานได้ว่า บริษัทที่เคยจ่ายเงินปันผล ก็ควรจะจ่ายเงินปันผลในระดับที่จูงใจนักลงทุนอย่างพอเหมาะ ไม่ควรจะเก็บกระแสเงินสดทั้งหมดไว้ลงทุนโดยไม่จ่ายเงินปันผลเลย มิฉะนั้นก็อาจจะทำให้กลุ่มนักลงทุน (ซึ่งก็คือเจ้าของบริษัท) ไม่พอใจกับการถือหุ้นของบริษัทนั้น และจะทำให้ราคาหุ้นลดลงก็เป็นไปได้

ดังนั้น การสรุปว่า การจ่ายเงินปันผลเป็นจำนวนมากนั้น เป็นเพราะสาเหตุที่ประเทศไทยไม่เป็นที่น่าลงทุนอีกต่อไป ดูจะเป็นข้อสรุปที่ทำร้ายประเทศไทยมากเกินไป อีกทั้งเมื่อสังเกตตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียและสิงคโปร์นั้น จะพบว่าอัตราการจ่ายเงินปันผลของเขายังสูงกว่าตลาดไทยอีกด้วยซ้ำไป ซึ่งต้องแปลว่า ในเชิงสัมพัทธ์แล้ว เขายิ่งไม่น่าสนใจจะลงทุนด้วยเช่นนั้นใช่หรือไม่

การสรุปโดยใช้ข้อมูลและข้อสรุปแบบขาด ๆ เกิน ๆ เช่นนี้ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง เข้าทำนองการใช้ความจริงเพียงครึ่งเดียว (half truth) ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นในสภาที่น่าจะนับได้ว่าเป็นสถานที่สร้างสรรค์เพื่อการปกครองและพัฒนาประเทศ

สิ่งที่ผมได้ประมวลมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงการตอบคำถามของการอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางเศรษฐกิจและการเงินในประเทศไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีส่วนไม่มากนักกับการอภิปรายแนวนโยบายที่คณะรัฐมนตรีได้นำเสนอต่อรัฐสภา

อันที่จริงแล้วยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่อยากจะนำมาทำความเข้าใจเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่มุมนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และคำอภิปรายของเพื่อนสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ผมจะพยายามเรียบเรียงและนำมาเสนอในโอกาสต่อไปนะครับ

 

Avatar photo