COLUMNISTS

‘คนไทย’ เปลี่ยนรายได้ในอนาคต ‘เป็นหนี้’

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
1595

แบงก์ชาติยังรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปี ที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง               

สัปดาห์ก่อน  ดร.วิรไท  สันติประภพ  ผู้ว่าแบงก์ชาติ ไปบรรยายในงาน National Director Conference 2019  จัดโดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย อัพเดทสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่า อยู่ในระดับ 78.7 % ของจีดีพี  

วิรไท  สันติประภพ 
วิรไท  สันติประภพ             

พร้อมกับยกข้อมูลจากงานวิจัยของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ขึ้นมาอ้างอิงด้วยว่า ค่ากลางของหนี้ต่อหัวเพิ่มจาก 70,000 บาท ในปี 2553 มาอยู่ที่ 150,000 บาท โดยประมาณในปี 2560 โดยสัดส่วนหนี้ดังกล่าวยังไม่รวม หนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

การก่อหนี้ของครัวเรือนวันนี้  ไม่ต่างจากการดึงเอารายได้ในอนาคตของตัวเองมาใช้ล่วงหน้า  ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะก่อหนี้มาก หรือน้อย  เพราะเป็นเรื่องอยากคาดเดาว่ารายได้ในวันข้างหน้าจะเป็นไปตามที่คิดหรือไม่    

แบงก์ชาติส่งสัญญาณเตือนความเสี่ยง จากการเพิ่มขึ้นของ หนี้ครัวเรือน ต่อเนื่องมาตลอด ช่วงปีที่ผ่านมา ดร.วิรไท ย้ำบนเวทีวิชาการหลายครั้งว่า คนไทย เป็นหนี้เร็วขึ้น นานขึ้น และมากขึ้น   

ในการบรรยายครั้งเดียวกันนั้น ผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุว่า ภาคธุรกิจมีส่วนกระตุ้นให้คนบริโภคฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นเช่นกัน โปรโมชั่นยอดนิยมประเภท ดอกเบี้ยต่ำ หรือ 0% ดาวน์ต่ำ ผ่อนนาน ที่ใช้กันตั้งแต่ขายที่อยู่อาศัย ลงมาถึงรองเท้าราคาหลักพัน คงอยู่ในข่ายที่ ดร.วิรไท กล่าวถึง

อสังหาฯ

แบงก์ชาติจับตาการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์มาหลายปีแล้ว ดร.วิรไท ระบุว่าการแข่งขันในตลาดสินเชื่อ (อสังหาฯ) ทำให้แบงก์ผ่อนปรนเกณฑ์การปล่อยกู้  และการให้สินเชื่อเงินทอน ส่งผลตัวเลขเอ็นพีแอล (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) เพิ่มขึ้น

สภาพดังกล่าว หนุนให้เกิดวงจรแห่งความเสี่ยง เพราะไปส่งเสริมให้ผู้บริโภคก่อหนี้เกินความจำเป็นด้วยความเชื่อว่า ราคาบ้านมีแต่สูงขึ้น และสามารถปล่อยให้เช่าได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ส่งผลให้เกิดความต้องการเทียมๆ กระตุ้นให้เกิดโครงการใหม่ๆ และจะนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในระยะยาว ซึ่งจะมีผลข้างเคียงมาก อย่างแรกที่สุดคือ มูลค่าทรัพย์สินในมือลดลง

ดร.วิรไท เรียกร้องให้ธุรกิจอย่ามองแต่ผลกำไรระยะสั้น และมุ่งแสวงหาผลกำไร จนเกิดผลกระทบข้างเคียงกับสังคม เชื่อว่าส่วนใหญ่เห็นพ้องกับถ้อยแถลงนั้น อย่างน้อยก็ในหลักการแต่ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการส่วนใหญ่ คงมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดกันต่อไป 

ดูจากที่ผ่านมาขนาด แบงก์ชาติพยายามสกัดสินเชื่อที่กระตุ้นการบริโภคเกินความพอดี ไม่ว่า คุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต หรือสินเชื่อจำนำรถยนต์  แต่ทิศทางหนี้ครัวเรือนคงเป็นขาขึ้นเช่นเดิม  

สาเหตุหนึ่งที่สถานการณ์หนี้ครัวเรือน ยังไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากการแข่งขันของภาคธุรกิจจนลืมความเสี่ยงแล้ว  การมองต่างมุม ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  และกระทรวงการคลังกับแบงก์ชาติ  ต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือน นับเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง    

ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังยืนยันตลอดมาว่า สถานการณ์ไม่มีอะไรน่ากังวล พร้อมยกเหตุผลสนับสนุน อาทิ  หนี้ครัวเรือน ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นหนี้ ที่มีหลักประกัน เช่น อสังหาฯ  สัดส่วนหนี้ครัวเรือนลดลงแล้วเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า หรือ สัดส่วนหนี้ต่ำกว่าต่างชาติ  เป็นต้น     

อุตตม  สาวนายน
อุตตม  สาวนายน

 อุตตม  สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงระหว่างรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อสัปดาห์ก่อน ยกเหตุผลเรื่องหลักประกันคุ้มมูลหนี้ ขึ้นมาอ้างเช่นกันว่า หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่มาจากการซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ มีหลักประกัน ไม่มีความเสี่ยง นัยหนึ่งคือ  ยังไม่น่ากังวล   

 ดูท่าที รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับผู้ว่าแบงก์ชาติ แล้วประเมิน สถานการณ์หนี้ครัวเรือน ในช่วงถัดไปได้เลยว่าจะไปทางไหน