Business

‘ดัค กาลบี้’ สตาร์ทอัพร้านอาหารเกาหลีฝีมือคนไทย ‘มีดี’ จนเข้าตา ‘ซีพีเอฟ’ โดดร่วมทุน

การเข้าร่วมทุน 40% ในบริษัท ดัคกาลบี้ กรุ๊ป จำกัด ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมีแผนจะเพิ่มเงินทุนและเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นเป็น 60% ในปีหน้า ทำให้ ดัคกาลบี้ จึงมีความน่าสนใจว่าทำไมยักษ์ใหญ่อย่าง ซีพีเอฟ ถึงสนใจจนอดใจไม่ไหวที่จะเข้าไปร่วมขยายธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นสตาร์ทอัพรายแรกที่ซีพีเอฟเข้าร่วมทุนด้วย ซึ่งแน่นอนว่าต้อง “มีดี” ที่ซีพีเอฟมองเห็นโอกาสธุรกิจ

GAP 2110

บริษัท ดัคกาลบี้ กรุ๊ป เกิดขึ้นในปี 2554 จากกลุ่มสตาร์ทอัพ 4 คนที่มีวัยเพียง 20-23 ปีในขณะนั้น เริ่มจากการเปิดร้านอาหารเกาหลี ภายใต้ชื่อ “Dak Galbi” ที่มีความแตกต่างจากร้านอาหารเกาหลีรายอื่นในขณะนั้น จากการเป็นร้านอาหารเกาหลีสัญชาติไทยสไตล์เผ็ดร้อน แบบ Real Time Cooking โดยจะทำการผัดและปรุงอาหารต่อหน้า ด้วยสโลแกน “ผัดร้อน อร่อยฮ็อต” และถึงปัจจุบันขยายร้านแล้ว 10 สาขา ซึ่งถือว่ารวดเร็วภายในเวลา 8 ปี เท่านั้น

“ปัจจัยความสำเร็จหนึ่งของ ดัคกาลบี้ มาจากการมีมุมมองที่แตกต่างกัน เริ่มตั้งแต่เพื่อนร่วมหุ้นก่อตั้งธุรกิจ จนถึงพนักงานที่มี 300 คน ทุกคนมีมุมมองของตัวเอง และนำมาแชร์กัน และปรับใช้ จนเป็นกลไกขับเคลื่อนความสำเร็จในวันนี้ แต่พรุ่งนี้เราต้องทำได้ดีกว่าวันนี้ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก”

นางปรียาวรรณ ตันตสุรฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ ดัคกาลบี้กรุ๊ป กล่าวถึงที่มาของ ดัค คาลบี้ เกิดจากความคิดต้องการสร้างสิ่งใหม่ในประเทศไทย อย่าง ร้านอาหารเกาหลี ในสมัยนั้นหรือ 8 ปีที่แล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ จนถึงล่าสุดคือการร่วมทุนกับซีพีเอฟ และประเดิมโปรเจคพัฒนาร้านอาหารตามสั่ง ภายใต้ชื่อ “Wok Station” ที่มีคอนเซ็ปต์แตกต่างว่า “ตามใจสั่ง” ก็ถือเป็นเรื่องใหม่และแตกต่างจากร้านตามสั่งทั่วไปเช่นกัน

GAP 2012

นั่นเพราะ Wok Station เป็นร้านเอเชียนสตรีทฟู้ดที่มีจุดเด่นคือ มีวัตถุดิบหลากหลายให้ลูกค้าเลือกได้อย่างที่อยากทาน ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ ที่มีตั้งแต่วัตถุดิบหลักอย่าง เนื้อหมู เนื้อไก่ ไปจนถึง หอยเชลล์และกุ้งล็อบสเตอร์ ระดับความเผ็ดที่เลือกได้ หน้าท้อปปิ้งเช่น ไข่ออนเซน ไข่ปลาแซลมอน ที่สามารถสร้างสรรค์ได้นับ 1,000 เมนูตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงการสั่งซื้อได้ทั้งหน้าร้านและผ่านแอปพลิเคชั่นที่พร้อมจัดส่งถึงที่ ตลอดจนการจ่ายเงินในลักษณะ Cashless โดยไม่ต้องใช้เงินสด

ปัจจุบัน Wok Station เปิดให้บริการแล้ว 3 สาขา ที่สนามบินดอนเมือง, อเวนิว รัชโยธิน และ ทรูดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท 101/1 โดยตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 10 สาขาภายในปีนี้

นอกจากตลาดในประเทศแล้ว การได้ซีพีเอฟมาเป็นผู้ถือหุ้นหลัก จะช่วยต่อยอดให้ธุรกิจของบริษัท ทั้ง Dak Galbi และ Wok Station มีโอกาสขยายตลาดได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะ Wok Station ที่มองโอกาสขยายตลาดไปต่างประเทศ อย่างจีนและสหรัฐ โดยจะเริ่มจากการเปิดร้านแรกในเซี่ยงไฮ้ ประมาณปี 2563 ในรูปแบบร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant:QSR ) ที่ร้านอาหารไทยไม่เคยมีลักษณะนี้ในต่างประเทศ

516286
ปรียาวรรณ ตันตสุรฤกษ์

นางปรียาวรรณเล่าถึงที่มาของ Wok Station ว่า เนื่องจากอาหารไทยเป็นอาหารที่ถูกปากคนทั่วโลก จึงมองว่า การที่จะทำอาหารไทยขึ้นมา จะทำอย่างไรให้ทัชใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยศึกษาอินไซต์ของผู้บริโภคในปัจจุบันพบว่า ผู้บริโภคต้องการวัตถุดิบที่สดใหม่ ตรวจสอบย้อนกลับได้ ต้องการร้านอาหารปลอดผงชูรส สะอาดและสะดวก และมีนวัตกรรมในการสั่งอาหาร

ปัจจุบันในร้าน Wok Station จะมีทั้งระบบออฟไลน์ และออนไลน์ ที่มีแอปพลิเคชั่น “Wok Station” ให้สั่งอาหารได้โดยไม่ต้องรอคิว และจ่ายผ่านบัตรเครดิต วอลเล็ตได้ ซึ่งในอนาคตมีแผนจะร่วมมือกับทุกแพลตฟอร์มการชำระเงิน และอนาคตจะเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ได้อีกด้วย

“สิ่งสำคัญของออนไลน์กับออฟไลน์คือ การตลาด การคิดค้นโปรโมชั่นที่จะเกิดขึ้น คือ ลูกค้าที่จะมาใช้บริการที่ร้านจากช่องทางออนไลน์จะมีการใส่รหัสลูกค้าเพื่อเก็บข้อมูลลูกค้าเป็นดาต้าเบส แอปจะรู้ว่า ลูกค้าคนนี้สั่งกระเพราทุกวัน เราสามารถนำเสนอเมนูอื่นให้ เพราะ pain point ของคนในปัจจุบันคือ “กินอะไรดี” เป็นคำถามยอดฮิต เราจึงแรนดอมเมนูให้ลูกค้าเพื่อเสนอเมนูใหม่ๆ รวมทั้งคำนวณแคลอรี่ให้ลูกค้าได้ด้วย เพื่อให้เราเป็นอาหารที่ตอบโจทย์ทุกคน”

516288

ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งของ Wok Station คือ การใช้แพคเกจจิ้งที่สามารถนำไปรียูส หรือใช้ซ้ำได้ ทั้งถ้วยใส่อาหารที่เป็นกระดาษ ช้อน ซ่อม พลาสติก ที่ลูกค้าสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ จึงออกแบบอย่างพิถีพิถัน และดีไซน์รูปแบบช้อนให้รู้สึกทานอาหารอร่อย โดยเป้าหมายคือ จะพัฒนาทุกโปรดักส์ให้รักษาสิ่งแวดล้อม และรักษ์โลกมากขึ้น

ปัจจุบันบิสซิเนสโมเดลของ Wok Station มีหลายประเภท สามารถขยายได้ตั้งแต่พื้นที่ 30 ตารางเมตร ถึง 100 ตารางเมตร เช่น ดอนเมือง 30 ตารางเมตร อเวนิว 55 ตารางเมตร และที่ทรูดิจิทัลพาร์ค 100 ตารางเมตร จึงสามารถขยายสาขาได้ทุกทำเล โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่ระบบดูดควันที่จำเป็นสำหรับร้านอาหาร และศึกษาปริมาณของคนในทำเลนั้นๆ เพื่อเลือกโมเดลที่เหมาะกับแต่ละทำเล โดยเน้น “ความยืดหยุ่น” เป็นสำคัญ

หลังจากขยายธุรกิจร้านอาหารถึง 2 แบรนด์ 2 สไตล์แล้ว ดัคกาลบี้ ยังมองถึงการพัฒนาแบรนด์อย่างต่อเนื่อง โดยเร็วนี้ จะขยายสาขา Wok Station ที่ถนนข้าวสาร เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นอีกโมเดลในรูปแบบตึกแถว ซึ่งมองว่าเป็นรูปแบบที่ช่วยให้ขยายตัวได้รวดเร็วขึ้น และยังเป็นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้ในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้เกิดการแชร์ หรือบอกต่อ ทำให้ต่อยอดไปตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้นด้วย

ดัค

ในส่วนของ Dak Galbi ก็มีแผนพัฒนาเช่นกัน โดยจะรีแบรนด์คอนเซ็ปต์ใหม่ เพราะ Dak Galbi อยู่มานาน 8 ปี ภาพลักษณ์ปัจจุบันเป็นผู้ชายอบอุ่น แต่เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น จะปรับรูปแบบร้านให้มีความเป็นคัลเลอร์ฟูลมากขึ้น เพื่อจับกลุ่มยังก์เจน ซึ่งจะเริ่มจากร้าน Dak Galbi ที่ ลิโด้ สยามสแควร์ที่จะเปิดในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 นี้ เป็นแฟลกชิพสโตร์สาขาแรกของโมเดลใหม่สำหรับเปิดสาขาใหม่ต่อไป รวมทั้งรีโนเวทสาขาเดิมที่มีอยู่ให้เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ อย่างสาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว, เทอร์มินอล 21 และยูเนียนมอลล์

เป้าหมายของ ดัคกาลบี้ในปีนี้อยู่ที่ 200 ล้านบาท แต่หลังจากนี้ เมื่อมีแผนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการได้ซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุนเรื่องเงินทุน ย่อมทะยานก้าวกระโดดกว่านี้แน่นอน

Avatar photo