Finance

ลุ้น ‘วินโดว์เดรสซิ่ง’ ประคองหุ้นไทย

มูลค่าการ ซื้อ ขาย กองทุนเดือน มิ.ย. 5ปี ย้อน

ดัชนีหุ้นไทยอยู่ระหว่างปรับตัวลดลงแตะเข้าใกล้ระดับต่ำสุดรอบ 10 เดือนที่ระดับ 1,673 จุด ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ยังประเมินแนวโน้มแรงขายของต่างชาติ ยังมีต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่ยังมีปัจจัยลบกดดันทำให้เงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ซี่งเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง หรือการปรับพอร์ตลงทุนของกองทุนต่างชาติ ตามการอ้างอิงของดัชนีเอ็มเอสซีไอ

ทั้งนี้ โดยปกติช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีจะเป็นช่วงที่ปิดงวดไตรมาส 2 หรือ ครึ่งปีแรกของปี ซึ่งบรรดานักลงทุนสถาบันในประเทศจะต้องมีการปิดงวดบัญชี ทำให้มีโบรกเกอร์คาดหวังว่า เทศกาล Window Dressing หรือ การทำตัวเลขทางบัญชีให้ดูดี ทั้งนักลงทุนสถาบัน กองทุน และบริษัทที่ลงทุนในหุ้นทำการซื้อหุ้น เพื่อสนับสนุนให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจนมีราคาปิดที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้พอร์ตลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เวลาปิดงบการลงทุนรายไตรมาสออกมาดูดี หรือ NAV มีค่าเพิ่มสูงขึ้น

หากพิจารณาข้อมูลการซื้อขายของสถาบันในประเทศที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย ย้อนหลังไป 5 ปีพบว่าในเดือนมิถุนายนของทุกปีจะเป็นเดือนที่กองทุนจะมียอดซื้อสุทธิมากกว่ายอดขาย และมีมูลค่าที่สูง และล่าสุดในตัวเลขการซื้อขายของสถาบัน ครึ่งแรกของเดือนมิถุนายน  2561 มียอดซื้ออยู่ที่ 2.16 หมื่นล้านบาท และภาพรวมทั้งปี 2561 นักลงทุนสถาบันมียอดซื้อสุทธิแล้วกว่า 7.64 หมื่นล้านบาท

สรพล วีระเมธีกุล  นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันการที่ดัชนีปรับตัวลดลงมาแรง และเป็นช่วงใกล้เข้าเทศกาล  Window Dressing  ของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้บ้าง แต่ประเมินว่าแรงซื้ออาจไม่รุนแรงเหมือนตอนการทำปิดงวดสิ้นปี  ขณะเดียวกันที่ผ่านมาสถาบันในประเทศได้เข้ามารับซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่น่าจะมีกำไรจากส่วนต่างราคามากนัก เพราะดัชนีปรับตัวลดลงมาตลอด  และถ้าดูแล้วจะเห็นว่าการที่่ต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปมูลค่ารวมปีนี้  1.6 แสนล้านบาท แต่ดัชนีหุ้นปรับลดลงมาเพียง 50 จุด นั่นก็แสดงว่า กองทุนในประเทศเข้ามารับซื้อหุ้นไว้จำนวนไม่น้อย ดังนั้น การรับซื้อเพิ่มอีกคงทำไม่ได้มากแล้ว

“การเกิดWindow Dressingในชวงปิดงบไตรมาส 2 ปีนี้อาจจะไม่มีแรงซื้อมากเท่ากับช่วงปลายปี และโดยส่วนตัวยังไม่แน่ใจว่ากองทุนจะซื้อเพื่อปิดงวดบัญชีหรือไม่เพราะที่ผ่านมาก็ซื้อหุ้นจำนวนมาก ซึ่งหากต้องมารับซื้อเพิ่มอีกคงเป็นไปได้ยากเหมือนกัน”

นักวิเคราะห์ บล.บัวหลวง แนะนำว่า กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ คาดดัชนีฯลงต่อเนื่อง แนะเลือกหุ้นเป็นรายตัว ไปรอลุ้นหุ้นไทยทำ Window dressing ปลายเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งมองว่าแรงขายของต่างชาติ ที่ไม่ลดลงอย่างที่คิด กรณีหุ้นไทยลงต่อหลุด 1,700 จุด แนวรับสำคัญถัดไป 1,680-1,640 จุด และกลยุทธ์การลงทุน คาดหุ้นใหญ่ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวลดลงหากเทียบกับ หุ้นกลางเล็กที่มี ปัจจัยหนุนเป็นรายตัวไป แนะนำให้ผู้ลงทุนกระชับพอร์ตหุ้นใหญ่เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก หันมาเล่นรอบหุ้นกลางเล็กในประเทศแทน

บล.ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย)ระบุว่า ตลาดผันผวนขาลงแนะนำให้ลงทุนแบบการเก็งกำไร ยังอยู่กับหุ้นโยงฟุตบอลโลก CPALL, MAKRO, BJC  หุ้นที่มีผลการดำเนินงานดี ได้แก่ BANPU, IVL, SAPPE, BBL และหุ้นที่มีโอกาสเกิด Window dressing ได้แก่ EA, MINT, CENTEL, TMB, BJC, KBANK, TU, ROBINS, CPN, TCAP, SCC, PSH, IRPC, KTB, BBL, GLOW, RATCH เน้นหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายของสถาบัน

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดว่าแรงขายจากต่างชาติที่หนาแน่นผิดปกติตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับดัชนี MSCI ในวันที่ 31 พฤษภาคม  และดัชนี FTSE ในวันที่ 15 มิถุนายน โดยเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดเอเชียเกิดใหม่ เพื่อปิดความเสี่ยงจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า แต่หากกลับมาพิจารณาในแง่ของปัจจัยพื้นฐาน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงินการคลัง การเมือง และกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้มองว่า ดัชนีหุ้นไทยที่ต่ำกว่า 1,700 จุด เป็นแนวสะสมหุ้นหลักสำหรับนักลงทุนระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า

กลยุทธ์ช่วงนี้ ยังคงเน้นกลุ่ม Domestic Play บนประเด็นการลงทุนหลัก ได้แก่ หุ้นปันผลเด่นงวดครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ LH/ KKP/ TTW/ QH/ INTUCH และเก็งกำไรหุ้นที่อาจเป็นเป้าหมายการทำ Window Dressing อย่าง AOT/ ADVANC/ BJC/ CPN/ CPALL หรือเก็งกำไรหุ้นส่งออกได้ผลดีจากเงินบาทอ่อนค่าแตะ 32.6 บาทต่อดอลลาร์

ด้าน บล.เอเซียพลัส ออกบทวิจัยที่น่าสนใจในการเลือกหุ้นลงทุนช่วงนี้ คือเมื่อดัชนีหลุด 1,700 จุด แนะนำให้สะสมหุ้นธนาคารและที่มีไม่มีหนี้ อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับต่างประเทศ ทำให้คาดว่ากนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้ถือว่า บวกต่อหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น คือ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น  เช่น

หุ้นกลุ่มธนาคารจากการที่ NIM ดีขึ้น จากแนวโน้มความต้องการสินเชื่อรายใหญ่เพื่อการลงทุน ซึ่งโครงสร้างสินเชื่อกว่า 70% เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นบวกต่อรายได้ดอกเบี้ยรับทันที ขณะที่สัดส่วนเงินฝากกว่า 50% เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงสั้น ส่งผลดีต่อการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ย และช่วยบรรเทาผลกระทบของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ ที่ลดลง ยังแนะนำ BBL,KBANK  และ TCAP

หุ้นกลุ่มประกันฯ จากภาระสำรองเบี้ยฯ ที่ลดลง ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุน (ดอกเบี้ยและเงินปันผล) ในพันธบัตร ตราสารหนี้และหน่วยลงทุน จะเพิ่มขึ้น แนะนำ BLA ([email protected])

หุ้นกลุ่มที่มีสถานะเงินสด (Net Cash) มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น  ประกอบด้วย หุ้นกลุ่มรับเหมาฯ คือหุ้น STEC, SYNTEC, PYLON, STPI, BJCHI  กลุ่มชิ้นส่วนฯ คือ หุ้น HANA, DELTA, SVI  กลุ่มยานยนต์ คือ หุ้น IRC, STANLY   ธุรกิจสนามบิน คือ AOT และธุรกิจสื่อนอกบ้าน คือ PLANB เป็นต้น

ขณะที่หุ้นที่หนี้สินเกิน 1 เท่า แต่มีภาระดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) ผลกระทบจำกัด  เช่น หุ้น CPALL มี Gearing ราว 2.1 เท่า แต่มีภาระดอกเบี้ยคงที่ถึง 98.6%, หุ้น BJC  มี Gearing ราว 1.4 เท่า มีภาระดอกเบี้ยคงที่ทั้งหมด, หุ้น ADVANC มี Gearing ราว 2.1 เท่า แต่มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย คงที่ถึง 70%, หุ้น CK มี Gearing ราว 1.6 เท่า แต่มีภาระดอกเบี้ยเป็นแบบคงที่ 74%, หุ้น ANAN  มี Gearing ราว 1.7 เท่า แต่มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเป็นแบบคงที่ 78% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ต้องยกเว้นบริษัทที่มี Gearing  สูง และมีสัดส่วนที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว น่าจะกระทบมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น ๆ  เช่น  หุ้น THAI  มี Gearing สูงถึงกว่า 4.6 เท่า และ มีภาระดอกเบี้ยลอยตัวถึง 40% และ DTAC และมี Gearing  สูงราว 1.6 เท่า มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยลอยตัวทั้ง 100%

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight