COLUMNISTS

ฟื้นมติครม.ยุคอภิสิทธิ์ คุ้มครองวิถีชีวิตกะเหรี่ยง – ชาวเล

Avatar photo
237

มีคดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ป่า ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาไปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา กรณีที่นายโคอิ หรือ ปู่คออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งมีเนื้อหาที่จะเป็นบรรทัดฐานให้เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีนัยยะสำคัญ

S 25722961

โดยคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้กรมอุทยานฯชดใช้ค่าเสียหายให้กับปู่คออี้และพวกเฉลี่ยรายละ 5 หมื่นบาท เนื่องจากการกระทำของเจ้าหน้าที่เข้าข่ายละเมิดดังนี้

“การใช้อำนาจตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติในกรณีดังกล่าว แม้จะเป็นมาตรการหรือวิธีการที่มีผลทำให้การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ในการจะเลือกใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามอำเภอใจหรือโดยพลการ โดยเฉพาะการรื้อถอนเผาทำลายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้อยู่อาศัย ย่อมมีผลกระทกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินหรือสิทธิอื่นใดของผู้ฟ้องคดีอย่างรุนแรง และก่อให้เกิดความเสียหายเกินสมควรเพื่อเปรียบเทียบกับการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ…ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ จึงเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำ และเป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ รวมถึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504”

คำพิพากษาดังกล่าวยังมีจุดที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ศาลปกครองสูงสุดชี้ด้วยว่า เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งออกในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง สะท้อนให้เห็นว่าศาลปกครองสูงสุดยังให้ความสำคัญกับมติครม.ดังกล่าว แม้ว่าในรัฐบาลหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ จะไม่ได้สานต่อก็ตาม แต่สถานะของ มติครม.นี้ยังเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องพึงปฏิบัติ

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดแม้จะให้ความเป็นธรรมเรื่องค่าชดเชย แต่ไม่ได้ตรงกับความต้องการของปู่คออี้ซึ่งตั้งความหวังไว้ว่าอยากกลับไปตายที่ถิ่นกำเนิด

การที่ปู่คออี้จะได้กลับไปอยู่ในถิ่นเกิดอีกครั้งหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล คสช.ว่าจะเอาอย่างไร เพราะแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะไม่คุ้มครองให้กลับไปอยู่ที่เดิม เนื่องจากไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการไดรับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ จึงไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทซึ่งป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปู่คออี้จะหมดสิทธิกลับไปตายที่บ้านเกิดของตัวเอง เนื่องจากตามมติครม.วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ระบุชัดว่า ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้ที่พิพาทเรื่องที่ทำกิน

ดังนั้นหากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คำนึงถึงมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนจริง ควรออกนโยบายให้ชัดเจนว่าจะยึดแนวทางแก้ปัญหาตามมติครม.วันที่ 3 สิงหาคม 2553

เรื่องนี้ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ก็ได้ทำข้อเสนอถึงรัฐบาลให้ยุติการจับกุมกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมตามคำสั่งคสช.ฉบับที่ 64 และ 66/2557 โดยจะขับไล่หรือไล่รื้อได้ ก็ต่อเมื่อมีการพิสูจน์สิทธิ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนคดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น รวมทั้งเสนอให้ทบทวนสถานะทางกฎหมายของมติครม.วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ที่ กสม.เห็นว่า ควรยกระดับจากมติครม.ไปเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมาย และผลักดันให้เกิดการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามมติครม.ดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย

ความจริงมติครม.ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่คุ้มครองชาวเล คือ มติครม.วันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง แนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ซึ่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็ควรเร่งรัดนำมาใช้ให้เป็นรูปธรรม เพื่อแก้ปัญหาการขับไล่ที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของชาวเลซึ่งกำลังทุกข์หนักจากพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 เหมือนที่เคยเขียนบทความไปก่อนหน้านี้

ที่ผ่านมาคนมักพูดกันว่านักการเมืองจะออกนโยบายที่ตัวเองได้ประโยชน์ ได้คะแนนเสียง แต่มติครม.ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ทั้งเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และชาวกะเหรี่ยง เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ยังมีนักการเมืองที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องคะแนนนิยมเพียงอย่างเดียว แต่บริหารประเทศบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล และพยายามดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้ว่าคนบางกลุ่มจะไม่มีสิทธิหย่อนบัตรลงคะแนนให้ก็ตาม