Economics

‘กสิกรไทย’ส่องเศรษฐกิจไทยชะลอตัว ผล ‘เทรดวอร์’ ยืดเยื้อ แนะส่งออกใช้สกุลเงินคู่ค้าแทนดอลลาร์

วันนี้ (25 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทย ได้จัดสัมมนา “แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ค่าเงินและตลาดหุ้นครึ่งปีหลัง” โดยมองภาพรวมเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการจับตาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ (เทรดวอร์) ที่จะส่งผลกระทบต่อทั่วโลก ซึ่งในมุมมองของ ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่แนวโน้มยืดเยื้อทั้งจากมาตรการภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี

แนวโน้มที่ยืดเยื้อของเทรดวอร์ เห็นได้จากการที่สหรัฐประกาศขึ้นบัญชีดำกับบริษัทเทคโนโลยีแบะสถาบันพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของจีนเพิ่มอีก 5 ราย ด้วยเหตุผลว่าขัดต่อความมั่นคงของสหรัฐ หลังจากขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้งใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือเจรจานโยบายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น ผู้อพยพผิดกฏหมายจากเม็กซิโก ตลอดจนอาจมีมาตรการอื่นๆ ที่อาจตามมา เพื่อยับยุ่งยุทธศาสตร์ เมด อิน ไชน่า 2025 ของจีน

ในส่วนของจีนเองได้ใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐ เช่น การปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ จำนวน 5,410 ราย มูลค่ารวม 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 25% เช่น อุปกรณ์กีฬา เพชร เครื่องดนตรี ของเล่น เป็นต้น

ความขัดแย้งของสองประเทศมหาอำนาจ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอตัวลง โดยเมื่อแยกเป็นภูมิภาคจะพบว่า สหรัฐยังขยายตัวได้จากอุปสงค์ในประเทศ เนื่องจากความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานและกำลังซื้อผู้บริโภครวมถึงมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากแรงกดดันของอุปสงค์ภายนอกประเทศ ส่วนยุโรปก็มีแนวโน้มชะลอตัวจากเบร็กซ์ซิสต์ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่ลดง ด้านเอเชียรวมถึงไทยชะลอตัวจากภาคการส่งออก แต่ซีแอลเอ็มวียังสามารถขยายตัวได้จากการย้ายฐานผลิตเข้ามามากขึ้น

1822A

เมื่อเจาะลึกลงมาเฉพาะเศรษฐกิจไทย พบว่า การส่งออกที่เป็นกลุ่มสร้างรายได้หลัก 1 ใน 3 ให้ประเทศได้รับกระทบจากเทรดวอร์และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยเฉพาะ 5 เดือนแรกของปีนี้ แต่ยังคาดการณ์ว่าในครึ่งปีหลังภาคการส่งออกน่าจะกลับมาขยายตัวได้จากปัจจัยการย้ายฐานผลิตมาไทย แต่ยังไม่พอที่จะทำให้ส่งออกทั้งปีเป็นบวก หรือคาดว่าจะยังติดลบ

นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกขาหลักที่สร้างรายได้ประเทศก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มหลักมีจำนวนลดลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ล่าช้า และการตั้งรัฐบาลใหม่ที่ใช้เวลานาน ทำให้ต้องเลื่อนการประกาศใช้พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ล่าช้าไป 1 ไตรมาส ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชนก็มีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งปีหลังและถูกกดดันจากความเชื่อมั่นที่ลดลงโดยเฉพาะครัวเรือนฐานราก

บาทแข็ง

ทั้งนี้ การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวน โดยเฉพาะการอ่อนค่าลง ส่งผลให้ค่าบาทไทยแข็งค่าขึ้นและกระทบต่อภาคส่งออกอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันผู้ส่งออกไทยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐสัดส่วนเกือบ 80% ในการค้าระหว่างประเทศ แต่ทำการค้ากับสหรัฐไม่ถึง 10% ดังนั้นหนึ่งในทางออกของผู้ประกอบการไทยคือ การหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นเป็นค่าบาท หรือค่าเงินของประเทศคู่ค้าแทน เพื่อลดความเสี่ยงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของเฟด รวมถึงการทำประกันค่าเงิน และการทำสัญญาจะซื้อจะขายเงินตราล่วงหน้าผ่านตลาดอนุพันธ์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

Avatar photo