Economics

‘โซลาร์ประชาชน’ แป๊ก 3 เดือน เข้าโครงการ 231 ราย 1.1 เมกะวัตต์ เหตุเงื่อนไขเยอะ

กกพ.เปิดห้องชี้แจงโครงการ “ โซลาร์ภาคประชาชน ” หลังพบประชาชนเมิน 3 เดือนมีผู้ผ่านเกณฑ์ 231 ราย 1.1 เมกะวัตต์ ด้านประชาชน เผยเงื่อนไขเยอะ ระบบไม่พร้อมรองรับ เรียกร้องทบทวน  IMG 20190725 145823 ใหม่ 1วันนี้ ( 25 ก.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้จัดชี้แจงโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ร่วมกับผู้แทนของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หลังจากพบว่ามีบ้านเรือนสมัครเข้าโครงการต่ำกว่าเป้า

ล่าสุดมีประชาชนสมัครเข้าโครงการผ่าน กฟน.198 ราย จำนวน 1 เมกะวัตต์ ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค 174 ราย 900 กิโลวัตต์ สมัครผ่าน กฟภ. 314 ราย 1.7 เมกะวัตต์ ผ่านเทคนิค 57 ราย 285 กิโลวัตต์ รวมผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 231 ราย 1,185 กิโลวัตต์ หรือ 1.1 เมกะวัตต์ 

โดยงานนี้มีประชาชน และผู้รับติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) เข้าร่วมรับฟังประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่มาสอบถามถึงรายละเอียดของโครงการ  สำหรับประชาชนที่เข้าร่วมรับฟังรายหนึ่ง ระบุว่า นำบ้าน 2 ชั้น ปลูกสร้าง 5 ปี ตั้งอยู่ที่อำเภอ วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าโครงการ ขนาด 5 กิโลวัตต์ แต่ไม่ผ่านการพิจารณา และไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

จึงต้องการมาฟังข้อมูลต่างๆ ประกอบกับระยะหลังไม่แน่ใจว่า จะสมัครเข้าโครงการอีกรอบหรือไม่หากพร้อม เพราะการไฟฟ้าในฐานะผู้ปฏิบัติ ก็ยังมีข้อจำกัดในการดำเนินงาน ทำให้ไม่สามารถรับโซลาร์รูฟท็อป ของประชาชนได้มากนัก โดยเฉพาะปัญหาหม้อแปลงของการไฟฟ้าแต่ละจุด มีขนาดจำกัดรับโหลด จากไฟฟ้าที่ไหลออกมาจากบ้าน ที่ต้องการขายโซลาร์เข้าระบบได้ไม่เกิน 15% ของขนาดหม้อแปลง และไม่แน่ใจว่าหากมีผู้ติดตั้งมากรายในระยะยาว ระบบใหญ่จะมีปัญหา และจะกระทบมาถึงระบบไฟฟ้าในบ้านของตนเองหรือไม่IMG 20190725 145906นอกจากนี้ข้อจำกัดการเข้าโครงการอีกประการ คือ มีขั้นตอน และเงื่อนไขมาก เช่น ต้องอยู่บ้านตอนกลางวัน จึงจะคุ้มที่จะเข้าโครงการ เพราะต้องเปลี่ยนมิเตอร์ราคา 8,500 บาท ต้องแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะถือเป็นการดัดแปลงอาคาร ขณะเดียวกันราคาโซลาร์รูฟท็อป ก็ยังมีราคาสูงมาก เช่นขนาด 5 กิโลวัตต์ต้องเสียค่าติดตั้ง 200,000-300,000 บาท และอาจต้องติดแบตเตอร์รี่สำรองอีกประมาณ 100,000 บาท  อย่างไรก็ตามจะติดตามนโยบายต่อไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์อย่างไรหรือไม่

ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการ สำนักงานกกพ. ระบุว่า วัตถุประสงค์ของโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตัวเองของประชาชนด้านพลังงาน และส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน หากประชาชนผลิตเหลือ เปิดโอกาสให้ขายคืนระบบได้ในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนติดตั้งมาขายไฟฟ้ากับระบบโดยตรง ดังนั้นผู้ที่เข้าโครงการ จึงเป็นกลุ่มที่ต้องการติดตั้งอยู่ก่อนแล้ว

สำหรับผู้สนใจกลุ่มใหม่ ยอมรับว่าการปรับราคารับซื้อเพิ่มขึ้น เช่น เป็น 2 บาทต่อหน่วย ก็จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนสมัครเข้าโครงการมากกว่านี้ แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า เป็นธรรมกับคนอื่นๆที่ไม่ได้เข้าโครงการด้วยหรือไม่ แต่ทั้งนี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เงื่อนไขใดๆก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายIMG 20190725 145956โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” เป็นนโยบายในยุคดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงพลังงานคนก่อน โดยเริ่มเปิดให้ยื่นช่องทางเว็บไซต์ของ กฟน. ที่ https://spv.mea.or.th  และ กฟภ.ที่ https://ppim.pea.co.th   เริ่มตั้งแต่ 8.00 น.ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มุ่งเน้นสนับสนุนให้ประชาชนผู้ใช้พลังงาน ประเภทครัวเรือนขนาดเล็ก(ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่1) ติดตั้งอุปกรณ์แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง และนำส่วนเกินที่เหลือจากการใช้ ไปขายต่อให้กับกฟน.และกฟภ.

กำหนดให้มีกำลังผลิตติดตั้งครัวเรือนละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ อัตราราคารับซื้อไฟฟ้า ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย มีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้ารวม 10 ปี  คาดว่าไว้แต่เดิมว่าโครงการในปี 2562 จะกระจายครอบคลุมประมาณ 10,000-20,000 ครัวเรือน

Avatar photo