Economics

การรถไฟฯ โว! คนตะวันออกประสานเสียงหนุนทางคู่สายใหม่ ‘ระยอง-จันท์-ตราด’ 333 กม.

คนตะวันออก 4 จังหวัดประสานเสียงหนุน “ทางคู่สายใหม่ ชลบุรี-ตราด” 333 กม. ด้านการรถไฟฯ รับ EIRR กว่าเป้า แต่ “สภาพัฒน์” พร้อมช่วยซัพพอร์ต เล็ํงของบปี 63 อีก 120 ล้านบาท ออกแบบรายละเอียดต่อ

รถไฟไทย ตราด
แนวเส้นทางรถไฟทางคู่ สายชุมทางศรีราชา – ระยอง และ มาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด – คลองใหญ่

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม 2562 การรถไฟฯ และบริษัทที่ปรึกษาจะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใหญ่ระดับจังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามแนวเส้นทางการศึกษา “โครงการก่อสร้างทางคู่ สายชุมทางศรีราชา – ระยอง และ มาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด – คลองใหญ่” ซึ่งจะนำไปจัดทำข้อสรุปผลการศึกษา ตลอดจนพัฒนาสู่แนวคิดการออกแบบให้เกิดความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

การรับฟังความคิดเห็นจะจัดขึ้น 4 ครั้ง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) จัดที่โรงแรมพานหิน รีเจ้นท์ ศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี, วันนี้ (24 ก.ค.) โรงแรมเอวาด้า อำเภอเมือง จังหวัดตราด, พรุ่งนี้ (25 ก.ค.) โรงแรมเคพีแกรนด์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี และวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 โรงแรมโกลเด้นซิตี้ระยอง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

DSCF3138
บรรยากาศการรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวานนี้ (23 ก.ค.)

แบ่งเส้นทางเป็น 3 ช่วง

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สาย ชุมทางศรีราชา-ระยอง และ มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ เป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เส้นทางผ่าน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี, จังหวัดระยอง, จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด

จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และสิ้นสุดที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีสถานีรถไฟทั้งหมด 34 สถานี ระยะทางรวม 333 กิโลเมตร สำหรับแนวเส้นทางที่โครงการคัดเลือกแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่

  • แนวเส้นทางช่วงที่ 1 เส้นทางเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรมสู่นิคมอุตสาหกรรม มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีชุมทางศรีราชาหรือสถานีบางละมุง มาถึงสถานีมาบตาพุด  ซึ่งเส้นทางช่วงที่ 1 จะผ่านนิคมอุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียงจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 1, 2, และ 3, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง, นิคมอุตสาหกรรมอีสเทริ์นซีบอร์ด และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

รถไฟไทย คราด แนวเส้นทางช่วงที่ 1

  • แนวเส้นทางช่วงที่ 2 เส้นทางเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรมสู่พื้นที่อำเภอเมืองระยอง ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อสถานีมาบตาพุด ถึงอำเภอเมือง จังหวัดระยอง

รถไฟ ตราด แนวเส้นทางช่วงที่ 2

  • แนวเส้นทางช่วงที่ 3 เส้นทางเชื่อมโยงโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) และการท่องเที่ยว มีจุดเริ่มต้นจากอำเภอเมือง จังหวัดระยอง ผ่านพื้นที่ 4 อำเภอใน จังหวัดจันทบุรี และสิ้นสุดที่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยมีพื้นที่ย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (Container Yard : CY) ที่มีความเหมาะสมสำหรับรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ เบื้องต้นกำหนดพื้นที่ CY ไว้ 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริเวณใกล้ทางเข้านิคมอมตะซิตี้ระยอง 2. บริเวณอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และ 3.บริเวณ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด โดยก่อสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ใกล้กับสถานีเมืองตราดอีก 1 แห่ง

รถไฟ ตราด แนวเส้นทางช่วงที่ 3

ดึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นออกแบบสถานี

แนวทางแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟมี 6 รูปแบบ ได้แก่ 1.ทางรถไฟยกระดับ 2.ทางลอด 3.สะพานกลับรถ 4.ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ 5.ถนนเชื่อมจุดตัดใกล้เคียง และ 6.อุโมงค์รถไฟ นอกจากนี้ได้เตรียมมาตรการป้องกันและการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนในบริเวณแนวเส้นทางก่อสร้าง เช่น การฉีดพรมน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขณะก่อสร้างบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และติดตั้งเครื่องหมายจราจร ไฟเตือน ป้ายเตือน ตลอดแนวเส้นทางก่อสร้างเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เป็นต้น

รถไฟ ทางคู่ ตราด

ส่วนแนวคิดการออกแบบรูปแบบสถานีรถไฟ จะดึงเอกลักษณ์และสถาปัตยกรรมท้องถิ่นที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและอากาศในพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นชายทะเล พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครับสำหรับผู้ใช้บริการ

หากโครงการรถไฟทางคู่สายชุมทางศรีราชา-ระยอง และ มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรางให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบในภาคตะวันออก พร้อมทั้งสอดรับการการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และโลจิสติกส์ของอาเซียนต่อไป

รถไฟทางคู่ ตราด สถานี
ภาพจำลองการออกแบบสถานี

คนตะวันออกหนุนเต็มที่

นายปัฐพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรกำกับการควบคุมงานวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรม การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในภาพรวมประชาชนตามแนวเส้นทางทั้ง 4 จังหวัดให้การตอบรับโครงการเป็นอย่างดี โดยเฉพาะประชาชนในจังหวัดตราด ที่ต้องการเห็นการพัฒนาและให้การตอบรับดีมาก สำหรับเรื่องการเวนคืนนั้น ประชาชนสอบถามน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เข้าใจว่าการก่อสร้างจะต้องมีผลกระทบและต้องเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาเส้นทางใหม่

ด้านตัวเลขผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการ (EIRR) อยู่ที่ประมาณ 10-11% ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานซึ่งควรอยู่ที่ 12% แต่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็ระบุว่า ถ้าหากเป็นโครงการที่มีความจำเป็น สภาพัฒน์ก็พร้อมช่วยผลักดันให้เกิดขึ้น

รถไฟทางคู่ ตราด สถานี 2
ภาพจำลองการออกแบบสถานี

นายปัฐพงษ์กล่าวต่อว่า หลังจากการรถไฟฯ รับฟังความคิดประชาชนครบทั้ง 4 จังหวัดในเดือนนี้แล้ว การรถไฟฯ ก็จะสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมและเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาต่อไป

ถ้ากระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ เห็นด้วย ก็จะดำเนินการของบประมาณปีงบประมาณ 2563 จำนวน 120 ล้านบาท เพื่อออกแบบรายละเอียด ใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน จึงแล้วเสร็จ ซึ่งในขั้นนี้ก็จะทราบพื้นที่ที่ต้องถูกเวนคืน แต่การรถไฟฯ ก็พยายามวางแนวเส้นทางเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

ขอบคุณภาพประกอบจากการรถไฟแห่งประเทศไทย

ลุยศึกษารถไฟทางคู่สายใหม่ ‘ระยอง-จันท์-ตราด’ ขนทุเรียนแข่งกับรถบรรทุก!

 

Avatar photo