Economics

‘เอสพีซีจี’ จับมือ 3 พันธมิตร ทุ่มทุน 3 หมื่นล้าน ลุยธุรกิจโซลาร์รูฟ

“เอสพีซีจี” จับมือ 3 พันธมิตร ทุ่ม 30,000 ล้านบาท ลุยธุรกิจโซลาร์ รูฟ ในประเทศไทย ตั้งเป้ากวาดลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 1,000 ราย ใน 2 ปี โดดจับมือทุนจีน เตรียมประมูลโซลาร์ลอยน้ำ 45 เมกะวัตต์กฟผ.MOU SPCGMULPEAENCOM KYOCERA ๑๙๐๗๒๒ 0010นางวันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) (SPCG) กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือ โซลาร์ รูฟ ( Solar Roof )  ร่วมกับ Mitsubishi UFJ Lease & Finance Company Limited (MUL) , บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ( PEA ENCOM ) และ KYOCERA Corporate, Japan เพื่อเพิ่มศักยภาพ และโอกาสการลงทุนด้านโซลาร์รูฟในประเทศไทย

สำหรับการร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการร่วมทุนแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) และจัดตั้งบริษัทใหม่ สัดส่วนการถือหุ้น แบ่งเป็น SPCG 35%  MUL 35% PEA ENCOM 20%  และ KYOCERA 10% ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง จะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมกันภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562MOU SPCGMULPEAENCOM KYOCERA ๑๙๐๗๒๒ 0004นางวันดี กล่าวว่า ระยะแรก จะเน้นกลุ่มลูกค้า หรือนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรม จากประเทศญี่ปุ่นที่มีการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยเป้าหมายเริ่มแรกในปีนี้ คาดว่าจะมีลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ประมาณ 100 ราย กำลังการผลิต 50-100 เมกะวัตต์ และภายใน 2 ปี หรือภายในปี 2563 จะมีลูกค้าไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย กำลังการผลิตประมาณ 500 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทจะเป็นผู้สนับสนุนเงินลงทุนในการติดตั้งโซลาร์ รูฟ ให้กับลูกค้าทั้งหมด ซึ่งการติดตั้งโซลาร์ รูฟ ประมาณ 35,000 – 45,000  บาท ต่อ 1 กิโลวัตต์  สำหรับพื้นที่หลังคาโรงงานประมาณ 10,000 ตารางเมตร จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์

ส่วนรายได้ในปี 2562 บริษัทยังคงเป้าหมายไว้ที่ 7,000 ล้านบาท มาจาก 2 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย โซลาร์ฟาร์มจำนวน 36 โครงการ รวมกำลังผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 70 %  และมาจากโซลาร์รูฟท็อป 25 %

ทางด้านโครงการเมกะโปรเจคนั้น จะเข้าร่วมประมูลโซล่าร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะติดตั้งระยะแรก ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ คาดว่าจะยื่นเอกสารการประมูลในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้

โดยจะร่วมทุนกับพันธมิตรจีนในสัดส่วน 50 % ต่อ 50 % เนื่องจากเป็นการออกแบบติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดบนทุ่นลอยน้ำ และใช้แผงโซลาร์เซลล์ชนิด Double glass ซึ่งไม่มีการผลิตในประเทศ

โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ระยะแรก กฟผ. ได้ออกประกาศเชิญชวนในวันที่ 15พฤษภาคม 2562 และให้ผู้สนใจเข้ายื่นซองประมูลภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 และจะประกาศผู้ชนะภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2562 เริ่มดำเนินการโครงการเดือนมกราคม 2563 เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนในเดือนธันวาคม 2563  ส่วนโครงการระยะที่ 2 จะเริ่มที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น กำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ฉบับ 2018 กำหนดให้ กฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในส่วนของโซลาร์ลอยน้ำจำนวน 2,725 เมกะวัตต์  ตลอดระยะเวลา 20 ปี แบ่งเป็น ปี 2573 ที่เขื่อนภูมิพลส่วนขยาย 300 เมกะวัตต์ ปี 2575 เขื่อนศรีนครินทร์ส่วนขยาย 2 จำนวน 300 เมกะวัตต์ ปี 2576 เขื่อนจุฬาภรณ์-บางลาง-ภูมิพลส่วนขยาย 2 จำนวน 438 เมกะวัตต์ และปี 2578 เขื่อนสิริกิติ์อีก 325 เมกะวัตต์ 

Avatar photo