Business

เปิดแนวคิด 2 ‘กูรู’ ในวันที่ค้าปลีกถูกดิสรัป แนะกลยุทธ์ปรับตัวสู่ ‘นิวรีเทล’ ทางรอด ‘ค้าปลีกไทย’

ในงานสัมมนา Brand Inside Forum 2019: New Retail Present by KBank ที่จัดขี้นภายใต้หัวข้อ New Retail เผยเคล็ดลับธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ เพื่อตั้งรับ ปรับตัว เปลี่ยนแปลง ในยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ภายใต้โจทย์ “อนาคตของธุรกิจค้าปลีกไทย โดยมี 2 ผู้คร่ำหวอดในวงการค้าปลีกและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อย่าง วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร. บริษัท ซีโอแอล จํากัด (มหาชน) และ ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด มาร่วมฉายภาพและหาทางออกให้ธุรกิจค้าปลีกในยุค 4.0

38193

วรวุฒิ เปิดเวทีเสวนาในประเด็นนี้ว่า ค้าปลีกไทยทุกวันนี้ เป็นการเติบโตต่ำกว่าปกติ จากเดิมที่ภาพรวมค้าปลีกจะเติบโตสูงกว่าจีดีพีประเทศประมาณ 1-1.5% แต่ปัจจุบันโดยเฉพาะปีนี้ ค้าปลีกไทยคาดว่าจะเติบโตเพียง 2.8-3% จากการคาดการณ์ว่าจีดีพี ปีนี้จะเติบโตประมาณ 4% และถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในอาเซียน ทั้งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยถือว่าแข็งแกร่งมาก และได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่าเป็นค้าปลีกที่มีคุณภาพดีที่สุดในอาเซียน

“ค่าเฉลี่ยธุรกิจค้าปลีกในอาเซียนปีนี้เติบโตประมาณ 10% โดยเวียดนามโตสูงสุดที่ 10% แม้แต่ฟิลิปปินส์ยังเติบโต 7-8% ขณะที่ประเทศไทยค้าปลีกโตเพียง 2.8-3%”วรวุฒิกล่าว

สาเหตุที่ทำให้ค้าปลีกไทยเติบโตลดลงต่อเนื่องเป็นผลมาจาก 1.โครงสร้างภาษีสินค้าแบรนด์เนมหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่ยังสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหรืออยู่ที่ 30-40%  ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสการเป็น ช้อปปิ้ง เดสติเนชั่น ทั้งที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละกว่า 40 ล้านคน 2. ดิวตี้ฟรีที่ถูกผูกขาดจากผู้ประกอบการรายเดียว ทั้งที่ควรมี 4-5 รายเพื่อดันให้การช้อปปิ้งเพิ่มขึ้น และ 3.ไม่มีการวางนโยบายเน้นการช้อปปิ้งเชิงท่องเที่ยว เช่น ช้อปปิ้งสตรีท

ยิ่งเมื่อมีอีคอมเมิร์ซหรือการค้าออนไลน์เข้ามาเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า ยิ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกไทยเร็วขึ้น โดยเฉพาะค้าปลีกในต่างจังหวัดที่ขาดความหลากหลายของสินค้าและบริการที่จะได้รับผลกระทบก่อนค้าปลีกรายใหญ่ เนื่องจากการค้าออนไลน์มีทั้งความสะดวก สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าปัจจุบันที่ใช้ชีวิตยึดโยงอยู่บนมือถือมากขึ้น หรือวันละ 9.11 นาทีต่อวันต่อคน และการค้าออนไลน์ยังได้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้จับพฤติกรรมลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กดาต้า เอไอ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

38190

ทั้งนี้ วรวุฒิมองว่า ค้าปลีกไทยมีจุดอ่อนที่ต้องเร่งปรับตัวคือ ขาดการขายสินค้าด้วยคอนเทนต์ เพราะเน้นการหาทำเลเป็นหลัก ขณะที่ในปัจจุบันลูกค้าจะแสวงหาคอนเทนต์เพื่อให้ได้ข้อมูลสินค้าก่อนจะตัดสินใจซื้อ ซึ่งออนไลน์สามารถตอบสนองในจุดนี้ได้ 2. ดาต้าเบส หรือฐานข้อมูลลูกค้า ซึ่งค้าออนไลน์จะสามารถเก็บข้อมูลและพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ปรับการตลาดได้รวดเร็ว ตรงความต้องการของลูกค้ายุคปัจจุบันที่ต้องการความเร็ว ไม่ต้องการรอนาน แต่ค้าปลีกดั้งเดิม ข้อมูลยังไม่เรียลไทม์ และ 3. ระบบโลจิวติกส์ที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้แนะทางหนีทีไล่ในการปรับตัวของธุรกิจค้าปลีกไทยว่า ต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีออนไลน์มาใช้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าออนไลน์อย่างเดียว เพราะบางสินค้าหรือบางบริการก็ไม่เหมาะกับการขายในช่องทางออนไลน์ แต่สามารถนำการทำตลาดออนไลน์ (Online Marketing) มาปรับใช้ได้ นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนบรรยากาศในห้างค้าปลีกให้เหมาะกับความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย เพื่อดึงให้ใช้เวลาอยู่ในค้าปลีกของเรานานขึ้น และอยู่อย่างสนุก รู้สึกเต็มใจ รวมถึงการปรับต้วสู่การเป็นค้าปลีกสำหรับนักท่องเที่ยว

วรวุฒิทิ้ง้ทายว่า “ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม สิ่งสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ว่าทำธุรกิจอะไร แต่อยู่ที่ ทำธุรกิจอย่างไร หาให้เจอ ปรับให้เป็นและทัน เพราะไม่ว่าจะเป็นค้าปลีกออฟไลน์หรือออนไลน์ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้ชัยชนะคือ ประสบการณ์ที่มอบให้ลูกค้า”

38194

ด้าน ธนาวัฒน์กล่าวถึงเทรนด์ของอีคอมเมิร์ซไทยว่า การใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตของคนไทยจากทุกอุปกรณ์ที่สูงถึง 9.11 นาทีต่อวันต่อคน มากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่หากเจาะลึกถึงการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ไทยกลับเป็นอันดับ 1 ของโลก และการช้อปปิ้งออนไลน์เป็นกิจกรรมอันดับ 5 ที่คนไทยใช้เวลามากที่สุดบนอินเทอร์เน็ต สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์คนที่เปลี่ยนไป มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตในอัตราสูงต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาจากตลาดค้าปลีกโดยรวมของไทย ที่มีมูลค่า 2-3 ล้านล้านบาท ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังมีสัดส่วนเพียง 2-3% จากมูลค่าค้าปลีกโดยรวม โดยอีคอมเมิร์ซไทยรวมบีทูซีและซีทูซี มีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่เติบโตถึง 30% จากปีก่อนหน้า และคาดว่ามูลค่าจะเพิ่มถึง 1-2 ล้านล้านบาทในปี 2568 หรือเติบโตถึง 6 เท่าตัว

“จากแนวโน้มการเติบโตสูงต่อเนื่องนี้เอง ทำให้รีเทลรูปแบบเดิมๆ ที่ “น่าเบื่อ” กำลังจะตาย ไม่ใช่ รีเทลทั้งหมดจะต้องตายไป”ธนาวัฒน์กล่าว

38203

ในมุมมองของธนาวัฒน์ เห็นว่า หัวใจสำคัญของ นิวรีเทล อยู่ที่ดาต้า เพราะจากนี้ไป ข้อมูลจะเป็นเหมือนทองคำ ที่นำมาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งนอกจากจะได้วิธีการพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการแล้ว ยังรวมถึงการจัดโปรโมชั่น และมองหาโอกาสในการขายสินค้าอื่นๆ ที่ลูกค้ามีโอกาสจะซื้อเพิ่มได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กูรูอีคอมเมิร์ซท่านนี้ยังแนะนำช่องทางค้าออนไลน์ที่มีโอกาสขายสินค้าว่า โซเชียล มีเดีย เป็นช่องทางที่คนไทยซื้อสินค้าสูงสุด หรืออยู่ที่ 40% โดยเป็นการซื้อผ่านเฟซบุ๊กสูงที่สุด ตามด้วยช่องทางอีมาร์เก็ตเพลส อยู่ที่ 35% อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ เจดีดอทคอมฯลฯ และที่เหลือเป็นการขายผ่านเว็บไซต์ของบริษัทอยู่ที่ 25%

“3 ปัจจัยหลักในการค้าออนไลน์คือ 1.คอนเทนต์ต้องโดนใจลูกค้า 2.ต้องมีคุณค่าเพิ่ม (Value Added) เพื่อให้ลูกค้าต้องมาซื้อที่เราเท่านั้น เพราะหาจากคนอื่นไม่ได้ และ 3.ใส่ความคิดสร้างสรรค์”ธนาวัฒน์กล่าวปิดท้าย

 

Avatar photo