General

‘AOC’ นวัตกรรมช่วยชีวิตผู้ป่วย ขณะนำส่งโรงพยาบาล

ทีมแพทย์ฉุกเฉิน รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์-วชิระภูเก็ต นำร่องนวัตกรรม AOC บนรถพยาบาล สร้างระบบสื่อสารเรียลไทม์ระหว่างบุคลากรในรถ กับทีมแพทย์ฉุกเฉิน ลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินขณะนำส่งรพ.

นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ปินตาธรรม
นพ.เกรียงศักดิ์ ปินตาธรรม

นพ.เกรียงศักดิ์ ปินตาธรรม หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า  จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดแรก ที่มีการติดตั้งระบบการบริหารจัดการรถพยาบาลแบบรวมศูนย์ (Ambulance Operation Center) หรือ AOC นวัตกรรม ที่ดึงเทคโนโลยี เหมือนนำแพทย์มาอยู่ในรถพยาบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบัน จังหวัดเชียงรายมีรถพยาบาลแบบครบวงจรครอบคลุมทั้งจังหวัด  97 คัน และยังติดตั้งให้จังหวัดพะเยาอีก 26 คัน สอดคล้องกับนโยบาย 2P Safety Hospital ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้การปฏิบัติงานทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัยทั้งสำหรับผู้ป่วย และบุคลากรสาธารณสุข

ทั้งนี้ระบบ AOC  เป็นระบบการทำงานที่สามารถให้แพทย์ฉุกเฉิน 1 คน สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิม  โดยเจ้าหน้าที่บนรถสามารถปรึกษาอาการ กับแพทย์ที่โรงพยาบาลปลายทาง ผ่านระบบการสื่อสารด้วยภาพ และเสียงแบบต่อเนื่อง (real time) ทำให้สามารถทำการรักษาระหว่างนำส่งได้

รวมทั้งโรงพยาบาลจะสามารถเตรียมการรักษาอย่างตรงอาการได้อย่าทันท่วงที ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตระหว่างนำส่ง  ส่วนบุคลากรทางการแพทย์เอง ก็เกิดความปลอดภัยระหว่างปฏิบัติงานมากขึ้น เนื่องจากระบบ AOC มีระบบติดตามรถพยาบาล ที่ทำให้ศูนย์สั่งการสามารถเห็นการเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา ทั้งยังจำกัดความเร็วของรถพยาบาล เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ หรือหากเกิดเหตุเฉินกับรถพยาบาล ก็จะสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที

“ก่อนที่เชียงรายจะตัดสินใจนำระบบ AOC มาใช้กับรถพยาบาลทั้งจังหวัด เราทดลองใช้ระบบอยู่ปีกว่าๆ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบนี้สามารถตอบโจทย์งานเวชศาสตร์ฉุกเฉินได้อย่างเกิดประโยชน์จริงๆ ซึ่งหลังจากทดลองใช้จนมั่นใจแล้ว จึงได้อนุมัติงบประมาณในการติดตั้ง “

แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยฉุกเฉิน

ระบบ AOC สามารถตอบโจทย์ได้ครบ คือ ต้องสามารถมองเห็นอาการทุกอย่างของคนไข้บนรถพยาบาลได้ เพื่อให้หมอวินิจฉัย และให้คำปรึกษาได้ถูกจุด ระบบติดตามรถพยาบาลต้องแม่นยำ เพื่อให้สามารถรู้ตำแหน่ง เวลาที่จะมาถึง และทราบความเร็วของรถได้ ในส่วนของการสื่อสารต้องไม่ติดขัด แม้ในพื้นที่ป่าเขา และราคาต้องไม่สูงมาก อยู่ในระดับที่งบประมาณภาครัฐจะจ่ายได้

โดยการติดตั้งระบบ AOC ทั้งในส่วนของจังหวัดเชียงราย และพะเยานั้น ใช้งบประมาณไปประมาณ 23 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการก้าวคนละก้าว

ทั้งนี้หลังจากติดตั้งระบบมาไประมาณ 6 เดือน พบว่าแพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่เห็นชัดเจน คือ ย่นระยะเวลาในการรักษาได้เร็วขึ้น เพราะมีการประสานงานมาก่อน ตั้งแต่จุดเกิดเหตุ และสามารถวินิจฉัยได้ ตั้งแต่นอกโรงพยาบาล พอมาถึงโรงพยาบาล ก็สามารถนำผู้ป่วยเข้ารักษาตามอาการได้เลย ไม่ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่  เช่น กรณีคนไข้หัวใจขาดเลือด เมื่อแพทย์สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาลว่าผู้ป่วยมีอาการหัวใจขาดเลือดฉับพลัน ก็สามารถให้แพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจมาให้คำปรึกษาได้แบบทันที พอมาถึงห้องฉุกเฉิน ก็สามารถฉีดยาละลายลิ่มเลือดได้เลย ช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตในนาทีวิกฤติได้

นอกจากนี้ จากการปฏิบัติงาน ยังพบแนวโน้วการเสียชีวิตระหว่างนำส่งนั้นลดลง จากที่ปกติแล้วอยู่ที่ประมาณปีละ 20 คน ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 1 คน คาดว่าครบ 1 ปีน่าจะมีอัตราผู้ป่วยเสียชีวิตขณะนำส่งไม่เกิน 15 คน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งทางจังหวัดจะคอยตรวจสอบ และเก็บข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลในจังหวัดอื่นๆต่อไป

สำหรับระบบ AOC เป็นระบบที่พัฒนา โดยทีมผู้ชำนาญการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของไทย ร่วมกับ บริษัท เทลลี่ 360 จำกัด ซึ่งใช้เวลากว่า 2 ปี เพื่อคิดค้นระบบ ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชน สาระสำคัญของระบบนี้ คือ สร้างสมองของแพทย์ให้อยู่ในรถพยาบาลทุกคัน และให้แพทย์ฉุกเฉิน 1 คนสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิม

Avatar photo