COLUMNISTS

‘ไทย’ ช้าไม่ได้ ‘เวียดนาม’ ตัดหน้าเซ็นเอฟทีเอ กับ ‘อียู’ แล้ว

Avatar photo
1293

ย้อนดูข่าวปีที่แล้ว จำได้ว่าทางสหภาพยุโรป หรืออียูส่งสัญญาณ พร้อมลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ตั้งเงื่อนไขว่าจะยอมเซ็นลงนามก็ต่อเมื่อประเทศไทยได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น โดยรัฐบาลไทยพลาดโอกาสเนื่องจากมีการเลื่อนเลือกตั้ง จากเดิมที่เคยประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงปลายปี 2561

h 52432088 800x600

มาถึงปีนี้ ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเข้าสู่การเลือกตั้ง และกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล อย่างที่เราได้เห็นหน้าตากันไปบ้างแล้วว่า ใครจะได้เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ ก็คิดไปว่าอีกไม่นานคงจะได้มีผลงานที่เรียกความเชื่อมั่นโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการค้าการลงทุน

แม้จะช้าไปสเต็ปหนึ่ง แต่หนทางข้างหน้า การเจรจาระหว่างประเทศไทยกับอียูก็ดูสดใสมากขึ้น เพราะสลัดคราบรัฐบาล จากการรัฐประหารสู่รัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว

น่าเสียดายสำหรับประเทศไทยคือความล่าช้าจากปัญหาการเมือง ทำให้เราตามหลังเวียดนามอยู่ 1 ก้าว ดังจะเห็นได้จากเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา อียูได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งทางการค้าสำคัญอย่าง “เวียดนาม” (European Union Vietnam Free Trade agreement : EVFTA) ไปเสียแล้ว ขณะที่ไทยสาละวนอยู่กับการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลอยู่นาน

ที่น่าสังเกตคือ การเมืองและการปกครอง เวียดนามปกครองด้วย ระบอบสังคมนิยม โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวของประเทศ ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากเผด็จการกลายๆ แต่เหตุใดอียูจึงเจรจาการค้าด้วย และให้เงื่อนไขที่ดี เป็นโจทย์ที่รัฐบาลไทยต้องตีให้แตกว่าเขามีข้อดีใดที่เราขาดไปหรือไม่

เข้าใจกันว่า ข้อตกลงการค้าเสรีที่อียูลงนามกับเวียดนาม จัดว่าเป็นข้อตกลงที่มีความทะเยอทะยาน และมีความครอบคลุมมากที่สุดที่อียูทำกับประเทศกำลังพัฒนา ทำให้เวียดนามกลายเป็นเสือติดปีกตัวใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปรียบแซงหน้าไทยอย่างแน่นอน หากเราไม่ดำเนินการอะไรสักอย่างในระยะเวลาอันใกล้นี้

S 19660813

เหตุผลสำคัญที่ไทยจะอยู่เฉยไม่ได้อีกต่อไป ก็เพราะเราถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences : GSP) กับสหภาพยุโรปไปตั้งแต่ปี 2558 แล้ว เนื่องจากรายได้ต่อหัวของประเทศไทยสูงเกินกว่าเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิ์พิเศษ ทำให้สินค้าไทยที่จะส่งออกไปอียูต้องเสียภาษีในอัตราปกติ ขณะที่เวียดนามเป็นประเทศได้สิทธิพิเศษทางศุลกากรมาตลอด แล้วยังได้รับการลดภาษีจากการลงนาม EVFTA

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น สินค้าหลายตัวของไทยที่เป็นคู่แข่งเวียดนามอยู่แล้ว จะเสียเปรียบการส่งออก อาทิ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า รวมถึงสินค้าการเกษตรหลายตัว โดยเฉพาะกลุ่มประมงสัตว์น้ำแปรรูป และอาหารแช่แข็ง ซึ่งเดิมทีไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ให้กับ EU อาจต้องเสียแชมป์ให้เวียดนามหลังมีการลงนามการค้าเสรี และยังมีปัจจัยแทรกซ้อนจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลทำให้ศักยภาพในการแข่งขันเรื่องการส่งออกของไทยลดลง

ขณะเดียวกันเรื่องค่าแรง 400 บาทจะสร้างปัญหา​ ไม่เคยมีการวิเคราะห์​จริงจังตามภาค แต่ขึ้นทั้งประเทศจะวนลูปกลับไป เหมือนที่เพื่อไทยเคยทำนโยบายค่าแรง 300 จะคุมเงินเฟ้อยาก ราคาข้าวของขึ้นรอเกินการขึ้นค่าแรง

เราจะพ้นประเทศกับดักรายได้ปานกลางไม่ได้ เพราะการขึ้นค่าแรงไม่ใช้หลักประสิทธิภาพ​การผลิตควบคู่การเพิ่มประสิทธิภาพ​แรงงานที่แท้จริง สินค้าทั้งทั้งภาคเกษตรจะแพงขึ้น ประชาชนจะเดือดร้อนเพราะต้นทุนสูงทั้งประเทศ

ในความเป็นจริงการขึ้นค่าแรงควรผ่านการเจรจาสามฝ่าย แรงงาน ผู้ประกอบการและรัฐ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ถูกตามพื้นที่ ถูกเวลา ไม่ใช่เหมารวมขึ้น 400 บาททั่วประเทศ

พรรคประชาธิปัตย์จึงคิดนโยบายประกันรายได้ หมื่นสองพันบาทต่อเดือน หรือแสนสองหมื่นบาทต่อปี เพื่อช่วยยกระดับค่าแรงไทยโดยไม่กระทบกับต้นทุนของเอกชน ไม่ทำให้กลายเป็นเงื่อนไขของการย้ายฐานการผลิตเพราะสู้ค่าแรงไม่ไหว

ขณะเดียวกันก็เพิ่มอำนาจต่อรองให้กับฝ่ายผู้ใช้แรงงาน ให้ได้ค่าจ้างที่เป็นธรรมมากขึ้น เพราะฝ่ายรัฐที่อยู่ในการเจรจา 3 ฝ่ายจะพิจารณา ทั้งฝ่ายแรงงานและลูกจ้างอย่างเป็นธรรม เนื่องจากหากปล่อยให้ฝ่ายนายจ้างกดค่าแรง ก็จะทำให้รัฐต้องแบกรับส่วนต่างมากขึ้น

หนทางนี้จึงจะช่วยให้รัฐกลายเป็นผู้กำกับ ที่มีความเข้มแข็ง ในการกำหนดค่าแรงที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ที่กล่าวข้างต้นเป็นปัญหาภายในที่รัฐต้องบริหารจัดการให้ดี เพื่อไม่ให้สูญเสียศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่น อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องจับตาคือ เวียดนามมีการออก “กฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขสำหรับผู้ผลิต ประกอบ และนำเข้ารถยนต์ รวมทั้งเงื่อนไขในการรับประกันและการซ่อมบำรุงรถยนต์” (Decree 116) ที่อาจทำให้ไทย ซึ่งเป็นเจ้าแห่งการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะมีสัญญาณหลายอย่างว่า โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หลายเจ้า รวมถึงอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้า ที่เตรียมย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามแล้ว

19131819 303

ขณะเดียวกันมีข้อมูลที่น่าสนใจ ว่า นอกจากการนำเข้าส่งออกแล้ว  อียูสนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากเป็นพิเศษ เรียกได้ว่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยจากสถิติปี 2561  มีการลงทุนในเวียดนามมูลค่าสูงถึง 23,900 ล้านดอลลาร์ ใน 2,133 โครงการ กระจายอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะในปี 2561 มีการลงทุนสูงถึง 1,100 ล้านดอลลาร์

เมื่อดูภาพรวมการลงทุน แม้ไทยจะมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่หากเปรียบเทียบการลงทุนช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 ไทยได้รับการลงทุน 1.34 แสนล้านบาท ขณะที่เวียดนามช่วง 5 เดือนแรก มีการลงทุนสูงถึง 2.26 แสนล้านบาทแล้ว

มองกลับมาที่ประเทศไทย สิ่งที่ต้องปรับตัวหลายอย่างในสถานการณ์เช่นนี้ คือความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี การพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้คุ้มกับค่าแรงที่จะสูงขึ้นถึง 400 บาทต่อวัน เนื่องจากค่าแรงที่สูงขึ้น หากเปรียบเทียบกับฝีมือแรงงานของประเทศเวียดนามที่ค่าแรงถูกกว่าแล้ว อาจทำให้ผู้ประกอบการหลายเจ้าพิจารณาควบคู่กับปัจจัยส่งเสริมการลงทุน และสิทธิพิเศษเกี่ยวกับภาษีศุลกากร จึงทำให้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศเวียดนาม

ดังนั้น ปรากฏการณ์เหล่านี้จะแก้ไขด้วยวิธีธรรมชาติให้ผู้ประกอบการจัดการกันเองไม่ได้ แต่ขอให้ภาครัฐที่มีส่วนกับเรื่องนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์  กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันพิจารณาว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพราะอาจจะช้าไป หากการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับอียูจะเริ่มได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

ทุกนาทีมีค่ารัฐบาลใหม่ต้องใช้เวลาเร่งทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ เพราะการเจรจากับอียูที่ชะงักงันมากว่า 5 ปีทำให้เราเสียโอกาสไปมากพอแล้ว