Telecommunications

กสทช.ชงรัฐแก้ปม 3ค่ายเมินประมูลคลื่น 1800

หลังจากวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 สำนักงาน กสทช. เปิดให้ผู้สนใจเข้ารับเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz  มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายหลักของประเทศไทย “เอไอเอส-ดีแทค-ทรู” มารับซองเอกสาร

โดยสำนักงาน กสทช. กำหนดให้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันนี้ (15 มิถุนายน 2561) จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก และกำหนดวันประมูลคลื่นฯ 4 สิงหาคม 2561  ปรากฏว่าทั้ง 3 ค่ายมือถือที่เข้ารับเอกสารประมูลคลื่นฯ ประกาศไม่เข้าร่วมประมูล!!

aaaaa

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงาน กสทช. กล่าวว่าหลังจาก ดีแทค และ เอไอเอส แจ้งไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นฯ 1800 ในวันนี้  ซึ่งก่อนหน้านี้ ทรู ได้แจ้งไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นฯ เช่นกัน  ทั้งนี้ การประมูลคลื่นฯ 1800  เป็นเรื่องที่ สำนักงาน กสทช. ต้องเตรียมความพร้อมการประมูล เนื่องจากสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2561  ดังนั้น กสทช. ต้องออกใบอนุญาตเพื่อให้ประชาชนเตรียมย้ายค่ายมือถือ รองรับการใช้งานได้ทันการสิ้นสุดสัมปทานคลื่นฯ 1800

เมื่อผู้ประกอบการแจ้งมาแล้วว่าจะไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้  สำนักงาน กสทช. จะเสนอเรื่องนี้ต่อ กสทช. และรัฐบาล เพื่อรับนโยบายที่จะดำเนินแนวทางต่อไป

“สิ่งที่ออกมาวันนี้ ผมขอบอกว่าหาก คิดใกล้ก็คงไปไม่ถึง เพราะสำนักงาน กสทช. จะเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อดำเนินการต่อไปหลังสิ้นสุดสัมปทานคลื่นฯ ดีแทคในเดือนกันยายนนี้”

ฐากร กสทช.

คาดสรุปแนวทาง 10 ก.ค.นี้  

นายฐากร กล่าวว่าแนวทางหลังจากนี้ คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์จากนี้  สำนักงาน กสทช.จะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอต่อรัฐบาลว่าจะดำเนินการประมูลคลื่นฯ 1800 ต่อไปหรือไม่ หรือให้ชะลอการประมูลคลื่นฯดังกล่าวไว้เป็นระยะเวลาเท่าไหร่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้

“หลังจากไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นฯ 1800  หลายคนฝันว่าอาจจะมีมาตรการเยียวยาต่างๆ ออกมาใช้หลังสิ้นสุดสัมปทาน ขอย้ำว่าเมื่อคิดใกล้ก็จะไปไม่ถึง เพราะหลายเรื่องจะมีเรื่องที่พลิกผันแน่นอน”

สิ่งที่ กสทช. ต้องดำเนินการ คือ รักษาผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นจะเดินหน้าดำเนินการเรื่องประมูลคลื่นฯ ต่อไป วันนี้แม้ไม่มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมูล แต่ยังมั่นใจว่าสำนักงานฯ จะเดินหน้าต่อได้ โดยขอรับนโยบายจาก กสทช. และรัฐบาล ในการประมูลคลื่นฯ 1800

เดินหน้าแก้อุปสรรคประมูล

นายฐากร กล่าวว่าผู้ประกอบการได้เสนอมุมมองปัญหาและอุปสรรคการประมูลคลื่นฯ 1800 มาแล้ว ซึ่ง กสทช. จะพิจารณาแก้ไขอุปสรรคบางเรื่องให้รัฐบาลพิจารณา แต่จะไม่พิจารณาเรื่องราคาตั้งต้นการประมูลคลื่นฯ ที่กำหนดไว้ที่ 3.74 หมื่นล้านบาท  ซึ่งดีแทค เสนอให้เริ่มประมูลที่ 1.6 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 50% จากราคาตั้งต้น

โดยราคาการประมูลคลื่นฯ 1800 จะลดลงหรือต่ำกว่าราคาประมูลครั้งก่อนไม่ได้ เพราะเป็นราคาที่ทั้ง 2 ค่ายที่ชนะการประมูลจะจ่ายเงินค่าใบอนุญาตครบในเดือนธันวาคม 2561 ซึ่งได้มีการจ่ายเงินมาแล้ว 75%

ฐากร กสทช.

หากราคาการประมูลในครั้งนี้ จะต้องกลับไปตั้งต้นในราคาที่ต่ำกว่าเดิมกว่าครึ่ง สำนักงาน กสทช.จะตกเป็นจำเลยสังคมทันที

ประเด็นที่เป็นปัญหาอุปสรรคของผู้ประกอบการที่ไม่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ มี 2-3 เรื่อง เช่น ดีแทค บอกราคาประมูลตั้งต้นไม่เหมาะสม  แต่ เอไอเอสและทรู เสนอให้ใช้หลักเกณฑ์การประมูลเดิม, เรื่องเงื่อนไขจำนวนใบอนุญาต, และระยะเวลา  ซึ่ง กสทช. จะนำปัญหาและอุปสรรคต่างๆ  เสนอรัฐบาลเพื่อหาทางแก้ไขบางเรื่อง เมื่อแก้ไขอุปสรรคบางประการได้แล้ว ผู้ประกอบการยังไม่เข้าร่วมประมูลอีก ก็จะมีการพิจารณากันอีกครั้ง

เล็งยกเลิกมาตรการเยียวยา

นายฐากร กล่าวอีกว่าการไม่เข้าร่วมประมูลของผู้ประกอบการในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจาก กสทช. เปิดประมูลคลื่นความถี่ไม่ทัน  เพราะเป็นการเปิดประมูลล่วงหน้าก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง 3 เดือน ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดสัมปทานดีแทค ในวันที่ 15 กันยายนนี้จะไม่มีการพิจารณาแผนเยียวยา

โดยก่อนหน้านี้ดีแทคได้เสนอแผนเยียวยาคลื่นฯ 1800  และคลื่นฯ 850 เมกกะเฮิรตซ์  มาให้ กสทช.พิจารณาเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการหลังจากจบสัญญาสัมปทาน

สำหรับการเยียวยากรณีคลื่นฯ ก่อนหน้านี้  เนื่องจากครั้งนั้น กสทช. เปิดประมูลคลื่นฯ 900 ไม่ทัน จึงมีขั้นตอนเข้าสู่มาตรการเยียวยา แต่กรณีคลื่นฯ 1800 เปิดประมูลคลื่นฯ ได้ทัน ตามที่ระยะเวลากำหนดไว้

ดังนั้นแนวทางการดำเนินการเมื่อไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล แม้กระทั่งผู้ที่ให้บริการอยู่ยังไม่สนใจเข้าร่วมประมูล ดังนั้น กสทช.จะเสนอมาตรการและแนวทางต่างๆ ต่อรัฐบาล ในการแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อนำคลื่นฯ 1800 มาประมูลภายใต้เงื่อนไขที่มีการแก้ปัญหาและอุปสรรค์บางประการ เพื่อทำให้มีผู้เข้าร่วมประมูลต่อไป แต่วันที่ 4 สิงหาคม 2561 ที่กำหนดให้เป็นวันเคาะราคาประมูลต้องขอยกเลิกไปก่อน

เราผ่านวิกฤติมาเยอะแล้ว ครั้งก่อน Jas ไม่มีเงินจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น ก็สามารถแก้ไขปัญหามาได้ วันนี้แค่ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล การแก้ปัญหาก็สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้เช่นกัน เราเดินหน้าต่ออยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง

ในการการประมูลครั้งนี้ กสทช. ได้ประกาศหลักการเดิมไปแล้วว่า เมื่อไม่มีผู้เข้าร่วมประมูล จะชะลอการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อทบทวนการประมูลใหม่ที่จะใช้ระยะเวลาเป็นปี เพื่อจัดประมูลในครั้งต่อไป

สำหรับคลื่นฯ ดีแทค ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน 2561 มีผู้ใช้งาน 4.7 แสนราย ดังนั้นคงไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนักในการย้ายเครือข่าย

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight