Business

อาณาจักรโรงพยาบาลไทยภายใต้เงื้อมมือ ‘BDMS’

เมื่อพูดถึงธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของประเทศไทย เชื่อว่าชื่อแรกๆ ที่ทุกคนนึกถึงคงเป็น “น.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” เจ้าของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด ( มหาชน ) ที่รู้จักกันในหุ้น BDMS นั่นเอง

สำหรับ BDMS จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2534 ด้วยราคา 125 บาท (หากอิงราคาพาร์ปัจจุบันจะอยู่ที่ 0.32 บาท) ก่อนที่จะมีการเพิ่มทุนและแตกพาร์เหลือ 0.10 บาทอย่างในปัจจุบัน โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าตามราคาตลาดสูงถึง 4 แสนล้านบาท 

แน่นอนทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า BDMS เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ “โรงพยาบาลกรุงเทพ” ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการแพทย์ไทยในขณะนี้ แต่นอกจากโรงพยาบาลกรุงเทพแล้ว บริษัทยังมีเครือข่ายโรงพยาบาลอื่นๆ กว่า 46 แห่งทั้งในไทยและกัมพูชา แบ่งเป็น 7 กลุ่ม ดังนี้

BDMS1

  1. กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ 22 แห่ง
  2. กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช 6 แห่ง
  3. กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล 6 แห่ง
  4. กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท 5 แห่ง
  5. กลุ่มโรงพยาบาลรอยัล 2 แห่ง (ประเทศกัมพูชา)
  6. โรงพยาบาลอื่นๆ 5 แห่ง

เจาะลึกผลประกอบการ BDMS 

ด้วยกระแสสุขภาพที่เป็นเทรนด์สำคัญของโลก ทำให้ BDMS ได้รับอานิสงส์เป็นอย่างมาก สามารถเติบโตได้อย่างโดดเด่นในงวดไตรมาส 1 ปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 28,693 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,438.97 ล้านบาท 

ทั้งที่ช่วงต้นปีไม่ใช่ไฮซีซั่นของธุรกิจโรงพยาบาลเลย แต่ BDMS กลับทำผลงานสวนทางกับธุรกิจโรงพยาบาลอื่นๆ เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง 

ขณะที่ผลประกอบการย้อนหลัง 4 ปีของ BDMS ก็ถือว่าการมีความสม่ำเสมอพอสมควร ยกเว้นปี 2561 ที่บริษัทมีกำไรลดลง เนื่องจากในปี 2560 BDMS มีกำไรสูงกว่าปกติ จากการบุ๊คกำไรพิเศษในการขายหุ้นบางส่วนของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 

BDMS2

ปี 2558 รายได้ 65,188 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.31% กำไร 7,914 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.09%

ปี 2559 รายได้ 70,496 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.14% กำไร 8,386 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.92%

ปี 2560 รายได้ 77,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.42% กำไร 10,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.81% 

ปี 2561 รายได้ 81,096 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.13% กำไร 9,191 ล้านบาท ลดลง 10.03%

โดยส่วนตัวมองว่าจุดแข็งของ BDMS คือเครือข่ายโรงพยาบาลจำนวนมาก ทำให้สามารถส่งต่อคนไข้ระหว่างกันได้ และเกิด Economy of Scale ในเรื่องการลงทุนซื้ออุปกรณ์ที่มีราคาแพง เพราะมีการสร้างความร่วมมือในเครือจนเกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ ส่วนแบ่งรายได้ของ BDMS ยังกระจายตัวได้ดี คือ ไม่มีโรงพยาบาลไหนสร้างรายได้ให้กับบริษัทเกินกว่า 20% เลย จึงไม่แปลกที่วันนี้ BDMS จะยังเดินกลยุทธ์เน้นการสร้างเครือข่ายโรงพยาบาล ด้วยการซื้อกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

สำหรับเป้าหมายปี 2562 บริษัทวางไว้ที่เติบโต 6 – 8% จากปีก่อน พร้อมทั้งมีแผนเปิดโรงพยาบาลใหม่เพิ่มอีก 3 แห่ง  ประกอบด้วย โรงพยาบาลจอมเทียน โรงพยาบาล Bangkok International Hospital และโครงการ Movenpick BDMS Wellness Resort

Movenpick 1
Movenpick BDMS Wellness Resort

สุดท้ายรู้ไหมว่า นอกจากเรื่องผลดำเนินงานที่แข็งแกร่ง สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นมากของ BDMS  คือการเป็นหุ้นบลูชิพ ขวัญใจของทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ ซึ่งเป็นหุ้นเพียงไม่กี่ตัวในตลาดที่มีมูลค่าซื้อ-ขายติด 10 อันดับแรกสม่ำเสมอ จนนับว่าเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องดีเอามากๆ ของตลาดในเวลานี้ 

Avatar photo