The Bangkok Insight

‘พลังงาน’ เปิดทางกฟผ.หารายได้จากสายส่ง ทดแทนกำลังผลิตไฟฟ้าลดลง

พลังงาน ปรับแผนลงทุนสายส่ง 3 การไฟฟ้า รับมือไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน ย้ำนโยบายเปิดทางเอกชนผลิตไฟฟ้า เพื่อลดการลงทุนของรัฐ หาทางออกให้กฟผ.สร้างรายได้เสริมจากการเป็นเจ้าของโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า ด้านกฟผ. ย้ำกำลังผลิตไฟฟ้ารัฐที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับประชาชนตัดสิน  

1062019 ๑๙๐๖๑๑ 0004 1
กุลิศ สมบัติศิริ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งทีมทำงาน เพื่อบูรณาแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของประเทศไทย ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)  และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รวมถึง กระทรวงพลังงาน และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)เป็นต้น เพื่อปรับแผนการขยายโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศใหม่ มุ่งเน้นรองรับการที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต โดยขณะนี้กำลังศึกษาแนวทางร่วมกันที่จะลงทุนสายส่งให้มีขนาดมากกว่า  500 เควี เช่น 800 เควี หรือ 1,000 เควี

“ก่อนที่เราจะเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าของภูมิภาค โครงข่ายไฟฟ้าภายในประเทศของเราต้องแข็งแรงก่อน ดังนั้นวันนี้ 500 เควีอาจไม่พออีกต่อไป และต้องนำแผนลงทุนสายส่งไฟฟ้า ที่บรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี ที่กฟผ.ต้องลงทุน กว่า 3 แสนล้านบาท ในระหว่างปี 2561-2580 มาเชื่อมโยงให้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด  “

และต่อไปเมื่อสายส่งไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคงเพียงพอแล้ว  กฟผ.สามารถมีธุรกิจเสริมจากการเป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ ทดแทนกำลังผลิตไฟฟ้าที่หายไปได้

 

S 648314941 ตัด
พัฒนา แสงศรีโรจน์

ด้านนายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. กล่าวว่า เป็นคนกลางซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ  ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เรากำลังศึกษา เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองประมาณ 35% มากพอที่จะขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความต้องการ และอยู่ติดกับประเทศไทย ได้แก่ พม่า และกัมพูชา และระยะต่อไปจะเป็นทางผ่านการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างสองประเทศ เช่น จากสปป.ลาว ไปยังมาเลเซีย โดยเราคิดค่าผ่านสายส่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการที่กระทรวงพลังงานเข้ามาบูรณาการแผนพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า มี 3 วัตถุประสงค์หลัก นอกเหนือจากการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค ก็คือ การขยายสายส่งรองรับความต้องการไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้น การสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่กระจายในพื้นที่ต่างๆ

และรองรับมาตรฐานความมั่นคงของกำลังผลิตไฟฟ้า ตามหลัก N-1 ซึ่งเป็นการบริหารความเสียง ซึ่งมาจากพื้นฐานการคิดว่าโรงไฟฟ้าที่มีอยู่โรงใหญ่ที่สุด 1 เครื่อง ที่กำลังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอยู่ในขณะนั้น เกิดขัดข้องต้องหยุดผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ไฟฟ้าต้องไม่ดับ นั่นหมายถึงต้องมีกำลังผลิตที่มากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเผื่อไว้เท่ากับกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดที่หยุดเดินเครื่องไป

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ

สำหรับการตีความของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ให้รัฐต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% นั้น ทางกฟผ.คงไม่สามารถวิจารณ์คำวินิจฉัยได้  แต่ขึ้นอยู่กับประชาชน ที่จะเห็นว่าความมั่นคงของระบบไฟฟ้า คืออะไร และกฟผ.ควรมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเท่าใดจึงจะเหมาะสม

นายกุลิศ กล่าวถึงผลการวินิจฉ้ยของผู้ตรวจการฯ ว่า ผู้ตรวจการฯอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญ  2560 ที่บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องจัด หรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ “

แต่มาตรานี้ กระทรวงพลังงานตีความแล้ว เห็นว่า สาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐต้องเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่า 51% นั้น หมายถึง ระบบโครงข่ายต่างๆ เช่น ถนน รางรถไฟ ท่อประปา โครงข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งล้วนเป็นของรัฐอยู่แล้วจนถึงวันนี้ ในส่วนของไฟฟ้าหมายถึงสายส่งไฟฟ้า ซึ่งกฟผ.ยังเป็นเจ้าของโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าทั้งหมดเช่นกัน

อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงาน จะส่งแนวทางการตีความดังกล่าวให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ พิจารณาก่อนเสนอกลับไปยังผู้ตรวจการฯ คาดว่าผู้ตวจการฯจะเสนอครม.ต่อไป ส่วนจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ขึ้นอยู่กับครม. และผู้ตรวจการฯที่มีอำนาจหน้าที่ส่งศาลได้เท่านั้น

“กฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้าน้อยลง เพราะเราส่งเสริมให้เอกชนมาผลิตไฟฟ้าหลายปีมาแล้ว เพื่อลดการลงทุนของภาครัฐ แต่กฟผ.ก็ยังเป็นเจ้าของโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าทั้งหมด และสามารถมีธุรกิจเสริมจากการเป็นเจ้าของสายส่งได้ด้วย เช่น เป็นตัวกลางซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ” 

ทั้งนี้กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ณ เดือนมกราคม ปี 2562 กำลังผลิตของกฟผ.อยู่ที่ 34.39 % และเมื่อสิ้นแผนพีดีพี 2018 หรือในปี 2580 กฟผ. จะเหลือกำลังผลิตประมาณ 24%

Avatar photo