COLUMNISTS

ทีวีดิจิทัลจะเหลือกี่ช่อง

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
21

คำถามที่พาดหัวไว้ข้างต้นคงอยู่ในความสนใจของสังคม  หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44  อุ้มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เมื่อปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา   

โดยจัดแพคเกจ ประกอบด้วย  3 มาตรการหลัก  คือ

  1. ยืดระยะเวลาชำระค่าสัมปทาน 3 งวดที่เหลือออกไปจนถึงปี 2565 (เดิมสิ้นสุด2562)  โดยการนี้ผู้ประกอบการต้องชำระดอกเบี้ย 1.5 %ให้ กสทช.  
  2. ให้ กสทช.อุดหนุนค่ามักซ์หรือโครงข่ายผู้ประกอบการ 50  % นาน  ปี  
  3. ให้สิทธิโอนใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการใหม่ได้

 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ไม่ได้แถลงถึง เหตุผลการจัดแพคเกจครั้งนี้  นอกจากย้ำว่ามีการหารือระหว่างรัฐบาล กสทช. และทีดีอาร์ไอ แล้ว โดยกระบวนการตัดสินใจยึดหลักรัฐไม่เสียผลประโยชน์มากเกินไป  

สำหรับสถานะทีวีดิจิทัล 22 ช่อง จากการสุ่มด้วยการ ส่องผลประกอบการ 10 ช่องในตลาดหุ้น พบว่า  มี 4 รายที่ ขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงไตรมาสแรกปีนี้    คือ

  • บมจ. นิวส์ เน็ตเวิร์ค ฯ  (บริษัทแม่สปริงส์นิวส์ ช่อง 19)
  • บมจ. เอ็นบีซี   ช่อง22 
  • บมจ. อัมรินทร์พริ้นติ้งฯ  ช่อง 34 
  • บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี ช่อง 25   

ส่วน  บมจ.เอ็นเอ็มจี บริษัทแม่ เนชั่นทีวี ช่อง 22 และ นาว ช่อง 26 นั้น เหนื่อยไม่แพ้กลุ่ม บริษัทข้างต้น ผลการดำเนินงานช่วงเวลาเดียวกัน ขาดทุนมากว่ากำไร  เฉพาะปี 2559 ขาดทุน 1,012 ล้านบาท  และผลประกอบการปี 2560  ผู้บริหารใหม่แจ้งเลื่อนส่งงบฯไปกลางปีนี้  

ด้านเจ้าเก่าอย่าง  บมจ.บีอีซี ช่อง 33 และช่อง  13  ยังมีกำไร แต่ตลอด ปีที่ผ่านมา ลดลงต่อเนื่อง ปีที่แล้วมีกำไรแค่ 61 ล้านบาท (ปี 2559 บีอีซี มีกำไร  1,218 ล้านบาท )

ส่วนปีนี้ประเดิมไตรมาสแรก ขาดทุน 126  ล้านบาท   ไม่ต่างจาก บมจ. อสมท. ช่อง 14  และ 30 ปี 2560 ขาดทุน 2,543 ล้านบาท สามเดือนแรกปีนี้ติดลบต่ออีก 125 ล้านบาท

 เวลานี้มีแต่ บมจ.เวิร์คพอยท์ ช่อง 23  กับ บมจ.อาร์เอส ช่อง ที่ผลประกอบการ 4 ปี เศษที่ผ่านมา กำไรมากกว่าขาดทุนเยอะ ไตรมาสแรกปีนี้ มีกำไร 165 ล้านบาท และ 101 ล้านบาทตามลำดับ

tv digital

หากประมวลหา สาเหตุที่ทำให้ทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ติดกับดักผลขาดทุนพบว่ามีอยู่ด้วยกัน 6 ประการ

  1. ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูง จากการเสนอราคาประมูลใบอนุญาตสูงโดยไม่มีเหตุผล  ตัวอย่าง ใบอนุญาตช่องคมชัดปกติ(เอสดี) กสทช.กำหนดราคาตั้งต้นไว้เพียง 380 ล้านบาท แต่เริ่มต้นเคาะถึง 1,975 ล้านบาท   หรือช่องข่าว&สาระ ราคาตั้งต้น  220  ล้านบาท แต่ผู้ร่วมประมูล เคาะเปิดการประมูลถึง 1,118 ล้านบาท  เป็นต้น  ราคาประมูลดังกล่าวสะท้อนว่า  เวลานั้นผู้ร่วมประมูลและแบงก์พาณิชย์ที่ทำแบงก์การันตีให้ผู้เข้าร่วมประมูล วาดภาพอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลไว้สวยหรูเกินจริง
  2. การชิงเม็ดเงินโฆษณาจากทีวีเจ้าเดิมที่ครองตลาดไม่ง่ายอย่างที่คิด
  3. ผู้ประกอบการมีจำนวนมากเกินไปเมื่อเทียบกับเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรม 
  4. ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องหลายปีฉุดให้เม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมซบตามไปด้วย
  5. ตลาดโฆษณาถูกแย่งชิงโดยสื่อใหม่
  6. เนื้อหายังไม่มีน่าสนใจพอ    

 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล รับมือกับสถานการณ์ ที่คาดไม่ถึง ด้วยสารพัดวิธี  อย่างแรงที่สุดคือ กรณี เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล (พันธ์ทิพา ศกุณต์ไชย) จาก บริษัทไทยทีวี ประกาศ จอดำ ช่อง 17  กับช่องเด็กโลกา ตั้งแต่ปี 2558  

อีกวิธีที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง คือ  การเลิกจ้างพนักงานลดค่าใช้จ่าย  หลายช่องใช้วิธีนี้จนดูเป็นเรื่องปกติของวงการ   ประมาณว่า 4 ปีที่ผ่านมา คนทีวี ดิจิทัลถูกดุนออกไปไม่น้อยกว่า 500 คนแล้ว  เฉพาะช่วงแรกปีนี้มีไม่ต่ำกว่า 100 คน

หาผู้ร่วมทุน แนวทางนี้ทุกช่องปรารถนามาก แต่ทำได้เฉพาะช่องที่มีจุดแข็ง ด้านใด ด้านหนึ่ง หากขาดทุนต้องมีเหตุผล  เช่น กรณีจีเอ็มเอ็มช่อง 25  และ อมรินทร์ช่อง 34   ได้กลุ่มสิริวัฒนภักดีเข้ามาเติมทุนใหม่  และ วันช่อง  31 ตระกูลปราสาททองโอสถเข้ามาร่วมถือหุ้น    

นอกจากนี้ การขายเหมาเวลาให้ลูกค้าเอาไปโฆษณา กระทะ แว่นตา เครื่องออกกำลัง ไป ฯลฯ ได้รับความนิยมไม่น้อยเช่นกัน  

วิธีสุดท้าย คือขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล  ที่ผ่านมา สมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 13 รายเป็นหัวหอกเรื่องนี้   กระทั่งรัฐบาลจัดแพคเกจชุดน้ำใจให้ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น  ซึ่งช่วยลดความอึดอัดทางการเงินให้ผู้ประกอบการได้ตามสมควร แต่วิธีรับมือที่กล่าวมานั้นคงช่วยได้ระยะหนึ่งเท่านั้น

ก่อนหน้านี้คนในวงการมองว่าอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลมีจำนวนผู้เล่นล้นตลาด (22 ราย) และ เป็นสาเหตุหนึ่งให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดทุน ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯกสทช.เคยออกมาพูดเรื่องจำนวนของทีวีดิจิทัลที่มากเกินไปเช่นกัน

เขาระบุว่า จำนวนทีวีดิจิทัลที่เหมาะสม ควรจะอยู่ระหว่าง 10-16 ช่อง และรายได้ขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท     

ตัวเลขข้างต้น เลขาฯ กสทช. คงคิดกลมๆ จากฐานว่า  เม็ดเงินโฆษณาผ่านทีวี  ราว 60-70 %  ของงบโฆษณารวมราวแสนล้านบาทเศษ เท่ากับ 60,000 ล้านบาทเศษๆ ในแต่ละปี หารด้วย 5,000 ล้านบาท จึงได้จำนวนช่องที่เหมาะสมที่ระบุไว้ข้างต้น  (ปี 2560  เม็ดเงินโฆษณารวมทั้งอุตสาหกรรมอยู่ที่ 101,445 ล้านบาท:นีลเส็น)  

ถ้ายึดตามสูตรคณิตศาสตร์ดังกล่าว เท่ากับว่าน่าจะมีทีวีดิจิทัลต้องออกจากวงการ 6-12  ช่อง

การลดจำนวนผู้เล่นทีวีดิจิทัลในตลาดให้สอดคล้องกับขนาดตลาดมีความเป็นไปได้  หลังรัฐบาลจัดแพคเกจอุ้มให้  ส่วนจะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่เกินสิ้นปี คงได้เห็นกัน