General

‘ Asia on the Rise? ‘ เมื่อจีน-ญี่ปุ่น เปิดสมรภูมิรบลงทุนใน GMS

มหาอำนาจ ‘จีน-ญี่ปุ่น’ ลงสมรภูมิรบด้านการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเต็่มตัว แข่งอัดงบช่วยเหลือโครงสร้างพื้นฐาน เจโทร ชี้กลยุทธ์ไทย “เหยียบเรือสองแคม” เปิดประตูรับทั้งจีนญี่ปุ่น ผ่านอีอีซี

dusk 3158011 640

“Asia on the Rise?” หัวข้อสำคัญใน การประชุมวิชาการนานาชาติในระดับภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (AAS-in-ASIA) เมื่อ เร็วๆนี้ จัดโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมเอเชียศึกษา (Association for Asian Studies : AAS) มีนักวิชาการชั้นนำร่วมกันเสนองานวิจัยและมุมมองต่อบทบาท 2 มหาอำนาจแห่งเอเชีย จีนและญี่ปุ่นบนเวที “ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในเอเชียตะวันออกและภูมิภาคอาเซียน : ร่วมมือหรือแข่งขัน? ”

ศ.ไรอัน ฮาร์ทเลย์ แห่งมหาวิทยาลัยโทโฮกุ ประเทศญี่ปุ่น มองบทบาทของรัฐบาลญี่ปุ่นในการเข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานใน ‘เมียนมา’ มานานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะรูปของเงินทุนความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance : ODA)

“ญี่ปุ่นมุ่งมั่นแข็งขันที่จะปฏิรูปเมียนมาโดยให้เงินช่วยเหลือ เข้าไปลงทุน แม้กระทั่งช่วยกำหนดนโยบาย เพราะเมียนมาคือโอกาสใหม่ที่สำคัญที่สุดในอาเซียน ” 

IMG 0523
ไรอัน ฮาร์ทเลย์

นับตั้งแต่ปี 2554 ปีแรกของการปฏิรูปการเมืองในเมียนมา ญี่ปุ่นได้เพิ่มเงินช่วยเหลือ และยกหนี้เงินกู้ให้ มีการส่งผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาเชิงนโยบาย และสร้างเครือข่ายข้ามองค์กรในหลายระดับ ตลอดจนนำเงินเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาเขตอุตสาหกรรม ที่เห็นชัดคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (Thilawa) ซึ่งญี่ปุ่นหวังจะให้เป็นประตูเชื่อมโยงสู่มหาสมุทรอินเดีย ถือเป็นกิจการชิ้นแรกที่เห็นผลสำเร็จอย่างเด่นชัดที่สุด

ความช่วยเหลือและการลงทุนทางตรง (FDI) จากญี่ปุ่น จะหลั่งไหลเข้าสู่เมียนมาต่อไป ตราบใดที่เชื่อกันว่าเมียนมา ” เอาจริงเอาจังในการปฏิรูปประเทศ ” เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และเสรีนิยม กระนั้นในปีหลังๆ ญี่ปุ่นพบว่าเมียนมาดำเนินการปฏิรูปไปอย่างเชื่องช้า รู้สึกไม่เป็นที่น่าพอใจ เม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่น จึงหดตัวลดลง

ศ.ไรอัน มองว่า ในทศวรรษนี้ญี่ปุ่น มีโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย ก็คือการต้องแข่งขัน ตัดทอน อิทธิพลกับจีน ที่กำลังขยายบทบาททางเศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็วมายัง อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และนี่คือโจทย์ที่นักวิชาการ ที่ร่วมเวทีเสวนาชวนให้หาคำตอบเช่นกัน

Maki Okabe2
มากิ โอกาเบะ

“การผงาดขึ้นของจีน บั่นทอนความมั่นใจของญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อบทบาทของตนเองในภูมิภาคนี้” มุมมองจาก มากิ โอกาเบะ จากสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO)

มากิ เล่าต่อว่า การผงาดขึ้นมาของจีน บั่นทอนความเชื่อมั่นของญี่ปุ่นในการรักษาสถานะผู้เล่นสำคัญในภูมิภาค คำถามคือญี่ปุ่นกำลังแข่งขันกับจีนอยู่หรือไม่ และหากใช่ประเทศไทยจะวางตัวอย่างไรกับการแข่งขันดังกล่าว

สถิติทางการค้า และการลงทุนของจีน ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปรากฎว่า เติบโตอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปี ปริมาณการค้าอยู่ในระดับแซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว ขณะที่เม็ดเงินลงทุนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากลัว แม้แต่ประเทศไทยที่เคยเป็นฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นมายาวนาน ก็ได้แสดงความกระตือรือร้นดึงนักลงทุนจีนเข้ามาช่วยพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนี่เป็นยุทธศาสตร์ “ เหยียบเรือสองแคม ” ที่ไทยให้น้ำหนักต่อทั้งจีน และญี่ปุ่นในระดับที่เท่าเทียมกัน เห็นได้จากเดือนสิงหาคม 2561 รัฐบาลไทยเชิญนักลงทุนทั้งจากจีน และญี่ปุ่นเข้ามาดูงานและแสดงศักยภาพในอีอีซี

มากิ บอกว่า ญี่ปุ่นดูเหมือนจะยอมรับความจริงว่า ศักยภาพและอิทธิพลของจีน ทรงพลังเกินกว่าที่ญี่ปุ่นจะไปต่อต้าน หรือแข่งขัน จึงเป็นที่มาของการทบทวนยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ของญี่ปุ่น มุ่งแสวงหาความร่วมมือกับจีนแทนที่จะแข่งขัน เราจึงเห็นโครงการความร่วมมือใหม่ ภายใต้ชื่อ “China and Japan’s Business Cooperation in Third Countries”  ที่เริ่มขับเคลื่อนที่อีอีซี เป็นแห่งแรก และมีแนวโน้มจะขยายผลไปยังโครงการอื่นๆ ในภูมิภาคต่อไป

อาจารย์นรุตม์ เจริญศรี1
นรุตม์ เจริญศรี

สำหรับมุมมองของนักวิชาการของไทยในเรื่องนี้ นายนรุตม์ เจริญศรี อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สะท้อนว่า การแข่งขันระหว่างจีนกับญี่ปุ่น จะยังไม่หมดไปตราบใดที่ภูมิภาคนี้ ยังมีผลประโยชน์อันอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทั้งสองประเทศ

โดยการช่วงชิงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก คือพื้นที่แห่งการแข่งขันที่เห็นได้ชัด ญี่ปุ่นมีโอกาสใช้ประโยชน์จากท่าเรือดานังของเวียดนาม และท่าเรือในเขตอีอีซีของไทยได้มากกว่า ทำให้จีนต้องมองหาแหล่งพัฒนาแห่งใหม่ และกัมพูชา คือตัวแปรสำคัญที่จีนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาท่าเรือ โดยเฉพาะในพื้นที่ “เมืองสีหนุวิลล์ ” ซึ่งจีนหวังจะขยายภาคการผลิตและส่งออก

“ถ้าจีนมี Belt and Road ญี่ปุ่นก็มี Free and Open Indo-Pacific Initiative” นายนรุตม์ มองว่าการแข่งขันยังดำเนินไปอย่างเข้มข้นในเขตตะวันตกของเมียนมาติดกับมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งทั้งสองประเทศต่างกำลังลงทุนพัฒนาท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรมริมชายฝั่งอย่างแข็งขัน เพื่อสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) ไปสู่เอเชียใต้ต่อไป

David Blake
เดวิด เบลค

ศ.เดวิด เบลค จากมหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ นำเสนอข้อมูลสอดคล้องกับมุมมองของอาจารย์ นรุตม์ ในแง่ของการแข่งขันสร้างอิทธิพล ด้วยการให้เงินอุดหนุน และลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยพื้นที่การแข่งขันที่สำคัญคือ “เขื่อน” และโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำในประเทศลาว ได้รับเงินช่วยเหลือจากทั้งจีน และญี่ปุ่นในจำนวนมหาศาล

“ญี่ปุ่นเป็นผู้ให้เงิน และส่งผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาภาคส่วนพลังงานน้ำของลาวมายาวนาน ก่อนจะชะลอตัวลงไปเมื่อไม่นานมานี้ หลังการเข้ามาของเงินทุน และความช่วยเหลือจากจีน ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”

ในภาพรวม การเติบโตของเศรษฐกิจ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และนโยบายเปิดเสรีของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยเร่งเร้าให้สองขั้วมหาอำนาจอย่างจีนและญี่ปุ่น ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้สอดรับกับบริบทความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากวิสัยทัศน์ที่จีนขับเคลื่อนนโยบาย หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง อย่างต่อเนื่อง ญี่ปุ่นได้ประกาศ Free and Open Indo-Pacific Initiative หวังจะทัดทานการขยายตัวของพญามังกรในภูมิภาค

ไม่ว่าจีนหรือญี่ปุ่นจะเป็น ‘หัวขบวน’ ในการพัฒนา ประเทศไทย ยังสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากนโยบายนี้ได้ในทุกทาง เห็นได้จากการพัฒนาอีอีซีก็มีทั้งจีน และญี่ปุ่นมาแสดงบทบาทการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเปิดโอกาสให้ทั้งสองชาติเข้ามามีบทบาท อาจบอกได้ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ของไทยยังคงเป็นศูนย์กลาง และประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้อย่างมีนัยสำคัญต่อไป

Avatar photo