COLUMNISTS

’22 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง’ เศรษฐกิจปรับ ปัญหาเปลี่ยน ‘เรียนรู้’ เพื่อตั้งรับ

Avatar photo
4823

ย้อนไป 22 ปีที่แล้วของเดือนนี้ (กรกฎาคม) หลายคนตื่นขึนมาเผชิญหน้ากับฝันร้ายในโลกของความเป็นจริง ธุรกิจล้มครืนระเนระนาด ล้มละลายกันเป็นทิวแถว จากปัญหาวิกฤติการเงินที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจล้มเป็นโดมิโน ในยุครัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นรองนายกรัฐมนตรี

1233833 52dbbd2f84446a5239122495d6c40024

เศรษฐกิจในสภาพสาหัส ลมหายใจระรวยรินชีพจรจะหยุดเต้นที่ถูกลากเข้าไอซียู หมอที่ควรดูแลคนไข้ให้จบตลอดรอดฝั่ง กลับทิ้งคนไข้ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนขั้วการเมือง นายชวน หลีกภัย นำพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนตั้งรัฐบาล รับไม้ต่อท่ออ็อกซิเจนคืนลมหายใจ ปั๊มหัวใจให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

รัฐบาลชวน 2 เข้ามานำประเทศไทยออกจากห้องไอซียู กอบกู้เศรษฐกิจให้ฟื้นตัว จนกระทั่งไม่ต้องเบิกเงินกู้จากไอเอ็มเอฟเต็มจำนวน 14,500 ล้านดอลลาร์ ตามที่รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ทำสัญญาไว้ โดยหยุดการเบิกเงินกู้ก่อนกำหนด ทำให้ยอดการกู้เงินจากไอเอ็มเอฟอยู่ที่ 12,034.3 ล้านดอลลาร์ ประหยัดเงินประเทศชาติได้เกือบ 2,500 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลต่อมาคือรัฐบาลทักษิณ จึงมีภาระการชำระหนี้ลดลง เรื่มการขำระหนี้เร็วขึ้น เป็นที่มาของวาทกรรมเอาดีเข้าตัวว่ารัฐบาลทักษิณใช้หนี้คืนก่อนกำหนด

หลังเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 แม้จะไม่สามารถเอาผิดกับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคนั้น ที่นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปเทแบบหมดหน้าตักเพื่อสู้กับสงครามโจมตีค่าเงินจนพ่ายแพ้แบบย่อยยับ  ด้วยเหตุผลเพื่อคืนความเชื่อมั่นให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยในสายตาต่างชาติ แบบไม่สาวไส้ให้กากินของอดีตรมต.คลัง ธารินทร์ นิมมาเหมินทร์ แต่ยังดีที่ต่อมามีการถอดบทเรียนจากอดีต ปรับปรุงกฎระเบียบ ไม่ให้มีการย่อหย่อนจนกลายเป็นจุดเปราะบางของระบบการเงินอีก

ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็สะสมมากขึ้นทุกปี จนล่าสุดประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยรายงานล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ที่ 207.3 พันล้านดอลลาร์

ความท้าทายของไทยจึงไม่ใช่เรื่องการบริหารให้มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมาก ๆ แต่เป็นบริหารอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการรับมือกับเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจผันผวนสูงขึ้น จากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า เป็นค่าเงินที่แข็งที่สุดในโลก และธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังลดความร้อนแรงของค่าเงินบาท ซึ่งสหรัฐเองก็กำลังจับตานโยบายการเงินของไทยอยู่

000 Hkg4163520

ในรอบปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 8.3 % เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นค่าเงินที่เข้มแข็งที่สุดในโลก อันเป็นผลมาจากบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการวิเคราะห์ว่า ค่าเงินที่แข็งขึ้นจะทำให้การส่งออกชะลอตัว ทางเลือกของธนาคารแห่งประเทศไทยคือ การแทรกแซงทางวาจาหรือการกระทำ และติดตามดูบัญชีเงินบาทของต่างชาติอย่างใกล้ชิด

แต่การแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสหรัฐกำลังจับตามอง ดังจะเห็นได้จากรายงานการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศประจำปีของกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่ระบุว่า ประเทศไทยจัดเป็นคู่ค้าสำคัญ บ่งชี้ว่านโยบายการเงินของไทยกำลังถูกจับตาอย่างมาก

ขณะเดียวกันโฮมิน ลี นักกลยุทธ์เศรฐกิจมหภาค ธนาคาร Lombard odier สวิตเซอร์แลนด์ วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มแข็งขึ้นในช่วงปลายปีนี้ราว 2-3 % หรืออยู่ที่ระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยว่า จะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความพอดี เพราะหากค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก อีกทั้งหากเงินนอกไหลเข้ามาเก็งกำไรมากขึ้น จะมีมาตรการสกัดเงินร้อนจากต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจระยะสั้นอย่างไร การกำหนดมาตรการต่าง ๆ จะเพียงพอต่อการควบคุมความผันผวนของค่าเงินหรือไม่ ฯลฯ

22 ปีผ่านไประบบการเงินไทยมีความแข็งแรงมากขึ้น เศรษฐกิจปรับตัวไปมาก ปัญหาก็เปลี่ยนตามไปด้วย ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และนักธุรกิจไทยต้องเตรียมแผนล่วงหน้า เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญฝันร้ายในอนาคต