Economics

การบ้าน ‘รัฐมนตรีปชป.’ ยกระดับ ‘โครงสร้างราคาเป็นธรรม’ ให้ชาวสวนปาล์ม

อีกไม่นานประเทศไทยก็จะได้รัฐบาลใหม่ เป็นการปิดสวิตช์คสช. ตามที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศถึงข้อดีในการร่วมรัฐบาลเอาไว้ ซึ่งจะทำให้คนไทยได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ไร้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 บริหารประเทศตามกลไกปกติ ถูกตรวจสอบได้โดยระบบรัฐสภา และที่สำคัญคือสะท้อนปัญหาประชาชนได้อย่างเข้าใจ เข้าถึง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่จับต้องได้

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์2
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

การพลิกฟื้นชีวิตเกษตรกร เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้กลับมามีเงินหมุนเวียนในระบบ ผู้คนมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่งผลถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแรง และยั่งยืน ไม่ใช่โตเฉพาะจีดีพีที่มีแต่ทุนใหญ่ได้ประโยชน์เท่านั้น

เรื่องนี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ พรรคประชาธิปัตย์ เลือกรับผิดชอบ กระทรวงพาณิชย์ และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งว่าที่รัฐมนตรีของทั้ง 2 กระทรวงคือ นายจุรินทร์ และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ต่างก็ทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อเตรียมความพร้อมเดินหน้าทำงานได้ทันทีที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการนโยบายของพรรคหลายครั้ง

ในที่นี้ขอนำเสนอเฉพาะประเด็นปาล์มน้ำมัน ที่แม้ว่าราคาในขณะนี้ดูเหมือนจะขยับขึ้น แต่เมื่อดูไส้ในของโครงสร้างราคาแล้วจะพบว่ามีความไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรอยู่มาก

ยกตัวอย่างจากการคำนวณสูตรโครงสร้างราคาผลปาล์มตามความเห็นของอนุกรรมการการจัดทำโครงสร้างที่ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ หรือ กนป. สรุปเตรียมเสนอให้ครม.พิจารณา ซึ่งกำหนดไว้ว่า ราคาผลปาล์ม (FFB) = (ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO)+ค่าผลพลอยได้) –  (ค่าสกัด+ค่าบริหาร+ค่าขนส่ง) * อัตรา % น้ำมัน (OER)

อนุกรรมการชุดนี้กำหนดตัวเลขค่าสกัดไว้ด้วยการนำตัวเลขจาก 3 ที่มา คือ จากสมาคมโรงงานสกัดกำหนด 3.36 บาท กรมการค้าภายใน 1.99 บาท และ เกษตรกร 1.50 มาหารเฉลี่ยได้ตัวเลขอยู่ที่ 2.28 บาท ทั้งที่ในความเป็นจริงควรตัดตัวเลขของสมาคมโรงงานสกัดออกไป เพราะสูงเกินความจริง คงเหลือไว้เฉพาะของกรมการค้าภายใน กับเกษตรกรที่ใกล้เคียงกันมาหารเฉลี่ยเท่านั้น ซึ่งก็จะมีผลทำให้ค่าเฉลี่ยที่ต้องไปลบออกจากรายได้ที่เกษตรกรควรได้รับลดลง เกษตรกรจะมีรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น

ส่วนค่าบริหารที่อยู่ในสูตรการคำนวณด้วยนั้น ทั้ง 3 แหล่งที่มาไม่ต่างกันมากนักคือ สมาคมโรงงานสกัด 1.28 บาท กรมการค้าภายใน 1.29 บาท และเกษตรกร 1.50 บาท เฉลี่ยอยู่ที่ 1.26 บาท

1519929572 6

อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามว่าใช้หลักอะไรในการคำนวณ เพราะค่าบริหารที่กำหนดระหว่างของเกษตรกรกับสมาคมโรงงานสกัดแตกต่างกันน้อยมาก ทั้งๆ ที่ค่าใช้จ่ายต่างกัน แต่ในส่วนนี้ยังไม่มีการศึกษาตัวเลข จึงขอใช้ตัวเลขที่อนุกรรมการฯ ชุดนี้กำหนดมาเป็นฐานในการคิดก่อน

แต่องค์ประกอบของสูตรคำนวณที่ควรตัดออกไป เพราะเป็นต้นทุนที่โรงงานสกัดควรรับผิดชอบ ไม่ใช่โยนภาระมาที่เกษตรกร คือ ค่าขนส่ง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการขนส่งน้ำมันจากโรงงานหีบน้ำมันไปยังโรงงานสกัด ไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับเกษตรกร

ในส่วนนี้หากตัดออกไป นอกจากจะทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีผลให้โรงงานต้องพยายามลดต้นทุนระยะยาวด้วยการสร้างโรงงานสกัดให้ใกล้เคียงกับแหล่งผลิตรวมถึงโรงงานหีบน้ำมัน จากเดิมที่โรงงานสกัดตั้งอยู่ไกลจากโรงหีบน้ำมัน ซึ่งโรงงานอาจอ้างว่าทำให้เขาต้องลงทุนเพิ่ม แต่ในความเป็นจริงโรงงานดำเนินการทุกอย่างตามประโยชน์สูงสุดที่ตัวเองได้รับมาโดยตลอด ขณะที่เกษตรกรไม่มีทางเลือกต้องขนส่งผลผลิตของตนเองไปยังโรงงานไม่ว่าจะตั้งอยู่ในที่ใดก็ตาม ค่าขนส่งในส่วนนี้จึงไม่ควรเป็นภาระของเกษตรกร

เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมขอจำลองตัวเลขลงสูตรคำนวณให้เห็นชัด ๆ ดังนี้

สูตรเดิมตามตัวเลขที่อนุกรรมการกำหนด

  • ราคา CPO ปัจจุบันอยู่ที่ 21.5 บาท
  • ค่าผลพลอยได้ 2.70
  • ค่าสกัด 2.28
  • ค่าบริหาร 1.26
  • ค่าขนส่ง 0.92

เมื่อนำมาคำนวณตามสูตรข้างต้น = (21.5+2.70)-(2.28+1.26+0.92) * 20% เกษตรกรจะขายปาล์มได้ในราคา 3.90 บาทต่อกิโลกรัม

แต่ถ้าเราคำนวณใหม่ด้วยสูตรที่เป็นธรรมคือตัดค่าขนส่งออกและใช้ตัวเลขที่ไม่สูงเกินความจริงในส่วนของค่าสกัดดังที่กล่าวในข้างต้น ผลจะเป็นดังนี้

  • ราคา CPO ปัจจุบันอยู่ที่ 21.5 บาท
  • ค่าผลพลอยได้ 2.70 บาท
  • ค่าสกัดจาก 2.28 บาท ลดลงเหลือ 1.7 บาท
  • ค่าบริหาร 1.26
  • ตัดค่าขนส่ง 0.92 บาทออก

คำนวณได้ดังนี้ (21.5+2.70)-(1.7+1.26)*20 % เกษตรกรจะขายปาล์มได้ในราคา 4.248 บาทต่อกิโลกรัม มากกว่าสูตรเดิมถึง 34 สตางค์

S 18087949

นี่คือสิ่งที่ผู้บริหารต้องทักท้วงผลสรุปของหน่วยงานราชการที่ยังกำหนดตัวเลขที่ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรอยู่ รวมถึงมีสิ่งที่ต้องคิดเพิ่มเติมคือ การเปลี่ยนสูตรคำนวณใหม่ด้วยการบวกราคาเมล็ดใน*5% ของน้ำหนักทะลายลงไปด้วย เพราะที่ผ่านมาโรงงานได้กำไรจากค่าเมล็ดในมาโดยตลอด ขณะที่เกษตรกรไม่เคยได้รับประโยชน์จากส่วนนี้เลย จึงควรแบ่งปันกำไรที่โรงงานได้รับมาให้เกตรกรเพื่อความเป็นธรรม

หากดำเนินการตามนี้ เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายปาล์มกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 4 บาทอย่างแน่นอน ซึ่งรัฐบาลจะไม่ต้องเสียงบประมาณในการประกันรายได้ส่วนต่างให้กับเกษตรกรเลยแม้แต่บาทเดียว

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเพื่อให้เกิดโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมอย่างแรกคือการกำหนดมาตรการบังคับให้โรงงานต้องรับซื้อปาล์มสุกที่ให้อัตราการสกัดน้ำมัน 19 % ภายใน 6เดือน และ 20% ภายใน 12 เดือน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรต้องผลิตปาล์มคุณภาพเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นธรรม แตกต่างจากในปัจจุบันที่ไม่ว่าจะมีผลผลิตอย่างไรก็ได้ราคาเท่ากัน ทำให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการผลิตปาล์มคุณภาพ

งานหนักที่ต้องผลักดันสำหรับ 2 รัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ที่ดูแลกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากทำให้เกิดสูตรคำนวณที่เป็นธรรมแล้ว ยังต้องเร่งออกกฎหมายกำหนดมาตรการควบคุมให้เกิดปาล์มคุณภาพที่เป็นจริงในทางปฏิบัติด้วย

หากทำได้ไม่เพียงเกษตรกรจะได้ประโยชน์ ประเทศชาติก็ไม่ต้องเสียงบประมาณไปอุดหนุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องทำควบคู่ไปกับการบริหารจัดการผลผลิตให้เกิดการใช้ภายในประเทศอย่างสมดุล ไม่ให้เกดปัญหาล้นสต๊อก หรือมีข้ออ้างที่จะนำเข้าปาล์มน้ำมันจนกดราคาภายในประเทศเหมือนที่ผ่านมา

การแก้ปัญหาทั้งระบบไปพร้อมกันคือทางรอดของเกษตรกรชาวสวนปาล์มและเป็นทางเลือกที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้วย

Avatar photo