Politics

นักวิชาการ-นักการเมือง จี้แก้รัฐธรรมนูญ 2560 ประเมินการเมืองไทย ‘ถอยหลัง’

นักวิชาการ-นักการเมือง จี้แก้รัฐธรรมนูญ 2560 หลังประเมินการเมืองไทย “ถอยหลัง”  อ.ปริญญา ย้ำระบบตรวจสอบถ่วงดุลต้องเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ด้าน “อภิสิทธิ์” ประเมินรัฐบาลไม่จริงใจปฏิรูปประเทศจริง โดยเฉพาะปฏิรูปการศึกษา-ตำรวจที่ต้องทำเร่งด่วน

IMG 3079

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “รัฐธรรมนูญ 60 : 60 ปี สมคิด เลิศไพฑูรย์” พร้อมเสวนาวิชาการ “การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 : เดินหน้าหรือถอยหลัง” “ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเมืองไทยในตอนนี้มีที่สุดในหลายเรื่อง ประกอบด้วยมีพรรคการเมือง และมีพรรคร่วมรัฐบาลมากที่สุด เป็นประวัติศาสตร์ของโลกถึง 26 พรรค เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 19 พรรค มีเสถียรภาพน้อยที่สุดของการเมืองไทย มีการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) โดยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ช้าที่สุด จากที่ผ่านๆมาใช้เวลาไม่เคยเกิน 30 วัน ครั้งนี้ต้องขยายเวลา ใช้เวลารวมกันถึง 45 วัน ตั้งครม.ช้าที่สุด และปัจจุบันก็ยังไม่มีครม.อย่างเป็นทางการ

“เสียงปริ่มน้ำ จะทำให้รัฐบาลนี้มีปัญหาตลอดสมัย และเก้าอี้มีแค่ 35 ที่นั่ง แต่มีพรรคร่วมรัฐบาลถึง 19 พรรคยังไงก็ไม่พอคน ”

ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล1
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีข้อกังขาหลายเรื่อง เช่น เป็นระบบแบบผสม (Hybrid System) ซึ่งการกล่าวอย่างนี้ย่อมไม่ใช่คำชม iรวมถึงที่มาของสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน และที่ต้องติดตามกันต่อไปก็ คือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญ คือ ผู้คุมกฎกติกาในเรื่องนี้ แต่บรรดาองค์กรอิสระทั้งหลาย รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญใน 5 ปีแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาจากสว.ที่มาจากสรรหาโดยคสช.จึงเป็นคำถามว่า จะตรวจสอบผู้ที่เลือกเขามาหรือไม่

ส่วนหลักปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งตรงข้ามกับอำเภอใจ มีการแบ่งอำนาจเป็นนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เพื่อให้คานอำนาจกัน แต่การเมืองในตอนนี้ พบว่ามาตรา 44 ยังคงใช้ไปเรื่อยๆ ที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จภายในคนคนเดียว  ดังนั้นตราบใดที่ยังมีมาตรา 44 จะเรียกการปกครองโดยกฎหมายได้อย่างไร และยืนยันว่ารัฐธรรมนูญไทยถอยหลังมากกว่าก้าวหน้า

“ นายกรัฐมนตรี และครม.มีโอกาสทำผิดพลาดได้ สำคัญ คือระบบการคานอำนาจ และการถูกตรวจสอบ ต้องยืนยันว่านักการเมืองมี 2 แบบ คือ ประชาชนเลือก และปฏิวัติมา ดังนั้นจึงขอตั้งคำถามว่า เราจะคุมแต่คนที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียวหรือ ”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ1
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยมีมาแล้วถึง 20 ฉบับ ไม่เหมือนต่างประเทศที่มีเพียง 1-2 ฉบับเท่านั้น และจะไม่ใช่ฉบับสุดท้ายแน่นอน

รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับล้วนมีเป้าหมาย ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดอนาคตของประเทศ แต่เมื่อยังจำเป็นต้องใช้ตัวแทนประชาชนอยู่ สำคัญจึงอยู่ที่ต้องทำให้คนใช้อำนาจใช้ตามหลักธรรมาภิบาล ยึดหลักนิติธรรม ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สูงสุด และตรวจสอบได้  เกณฑ์วัดสำคัญ คือ ประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนในการกำหนดทิศทางของประเทศ

จากการศึกษาเส้นทางรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาของไทยไม่ได้ราบรื่น แต่ล้วนมีเป้าหมาย แต่ฉบับปี 2560 เป้าหมายคืออะไรยังมองไม่เห็น บอกว่าทำเพื่อปฏิรูปประเทศ แต่ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรียังไม่เห็นมีการแสดงวิสัยทัศน์เรื่องการปฎิรูปประเทศ โดยเฉพาะปฏิรูปเรื่องที่ควรทำอย่างปฏิรูปการศึกษา และปฏิรูปตำรวจ แม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างการซื้อขายตำแหน่ง ที่ควรทำเพื่อ “ปราบโกง” อย่างที่ประกาศไว้ยังไม่เป็นรูปธรรม

และขอย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่ใช้เงินรุนแรงมากที่สุดกว่าทุกครั้ง การซื้อเสียงทำอย่างโจ่งแจ้ง ละเอียด และถี่ บอกไม่ได้ว่าไม่รู้กันในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง มีการใช้ทรัพยากรรัฐ และไม่เพียงกติกาเอื้อเท่านั้น แต่พฤติกรรมยังตอกย้ำวิธีการที่ไม่ถูกต้องด้วย การตรวจสอบการทุจริตเลือกตั้ง ทั้งที่ยุคนี้หาหลักฐานได้ง่ายกว่ายุคอื่นๆ แต่ก็มีเพียงกรณีเดียวที่แจกใบส้ม กรณีอื่นๆเงียบ

นายอภิสิทธิ์ ย้ำว่า ปัญหาในตอนนี้คือ ปล่อยให้การเมืองเดินไปแบบเดิมๆ โดยไม่ได้หยิบยกมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ปัญหาการแบกฝ่ายจะมีต่อไป หากฝ่ายที่ชอบทำไม่เป็นไร แต่หากอีกฝ่ายทำจะเล่นกันถึงตาย ความขัดแย้งอย่างนี้กระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาลแน่นอน ดังนั้นรัฐบาลต้องเอาความขัดแย้งมาคลี่ออก และออกแบบระบบ เพื่อหาคำตอบร่วมกันให้ได้ ยืนยันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ปัญหา คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่างจากทุกฉบับ ทำให้การแก้ไขยาก  แต่ถ้าไม่แก้ แม้จะมีการเลือกตั้งอีก ก็เป็นแบบเดิม

“ สำคัญมากกว่า คือผู้ที่ได้อำนาจไป ทำเพื่อประโยชน์สูงสุด หาทางคลายระบบ ให้ประเทศ และการเมืองไทย เดินไปข้างหน้าได้ ”    

รศ.ดร. เจษฎ์ โทณะวณิก1
เจษฎ์ โทณะวณิก

ด้านรศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย  ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มีศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน กล่าวว่า เชื่อว่าทุกคนต้องการให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากถามว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ชอบธรรมหรือไม่ “ไม่ชอบ” แน่นอน

เพียงแค่อารัมภบทก็รับยากแล้ว ที่มีเรื่องประชารัฐ และหลายเรื่อง ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ของเขา มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิม โดยเฉพาะเรื่องคำถามพ่วงจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรื่องที่มาและอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นอกจากนี้ยังไม่เปิดทางให้มีการวิจารณ์ หรือเสนอแนะใดๆ รวมถึงไม่มีการอธิบายใดออกมาในประเด็นสำคัญอย่างการคำนวณที่นั่งสส.

“ ถือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถอยหลังเข้าคลอง เทียบทีมฟุตบอลแล้ว ก็เหมือนกรรมการ โค๊ช เจ้าของทีมลงเล่นในสนามทั้งหมด จำเป็นต้องหาทางออกโดยเร็วในรัฐสภา อย่าฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง หรือโยนทิ้ง หรือรัฐประหาร และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ”

ศ.ดร. อุดม รัฐอมฤต2
อุดม รัฐอมฤต

ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ฉบับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถือเป็นฉบับที่ 20 มุ่งเน้นใน 4 ด้านได้แก่ 1.การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. การป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ 3. การป้องกันความพยายามล้มล้างรัฐธรรมนูญและหลักการสำคัญ และ 4.การปฏิรูปบ้านเมืองในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ป้องกันไม่ให้คนไม่ดี สามารถเข้ามาใช้อำนาจทางการเมือง หรือเมื่อเข้ามาได้ก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มแข็ง ซึ่งเนื้อหาคงไม่อาจทำให้ทุกคนพอใจ แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญ ณ วันที่เราอยากเห็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้

“ในกรรมาธิการยกร่าง ก็มีการถกเถียงกัน เสนอความเห็นแตกต่างหลากหลาย แต่ทุกอย่างต้องเป็นมติจากที่ประชุม เราไม่ได้ปิดห้องประชุม ทุกอย่างเปิดเผย ไม่มีใครมาชี้ว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ทุกอย่างไม่สามารถทำได้ถูกใจทุกคน ทุกคนอยากเห็นการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้า ก็ต้องอยู่ที่คนเล่นจะเอาด้วยหรือไม่ ”

 

Avatar photo