CEO INSIGHT

ก้าวย่างปีที่ 35 ‘ห้างไดอาน่า’ ปรับครั้งใหญ่ ภายใต้โจทย์ ‘โดนใจคนใต้ยุคดิจิทัล’

ปักหลักเปิดให้บริการพี่น้องชาวใต้มาจนเข้าสู่ปีที่ 35 ในปีนี้ ถือว่าเป็นการปรับครั้งใหญ่ของ ศูนย์การค้าไดอาน่า คอมเพล็กซ์ เพื่อรองรับกับการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกที่รุนแรงขึ้นจากกลุ่มทุนค้าปลีกเมืองกรุง แต่ที่สำคัญเหนือกว่าคู่แข่งคือ การปรับเพื่อให้เท่าทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคในท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล และยกระดับไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกับสังคมเมืองทั่วไป

จุ้มจิ้ม วรนันท์ จันทรัศมี
วรนันท์ จันทรัศมี

นางสาววรนันท์ จันทรัศมี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์การค้าไดอาน่าคอมเพล็กซ์ จำกัด ทายาทนักธุรกิจหมื่นล้าน บุตรสาวคนโตของ นายเนตร จันทรัศมี เจ้าของศูนย์การค้าไดอาน่า คอมเพล็กซ์ หาดใหญ่ในเครือพิธานกรุ๊ป ได้เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัวและมองว่า ไดอาน่า ถึงเวลาต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ในยุคที่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไป อิทธิพลของการใช้ชีวิตแบบสังคมเมืองเข้ามาทีบทบาทกับคนต่างจังหวัดมากขึ้น ไดอาน่าจึงต้องปรับเพื่อให้สามารถครองใจชาวใต้และนักท่องเที่ยวไว้ได้ ท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น จากการขยายธุรกิจของกลุ่มทุนค้าปลีกจากส่วนกลาง

ปัจจุบัน ศูนย์การค้าไดอาน่าคอมเพล็กซ์ มีสาขาหลักอยู่ใจกลางเมืองหาดใหญ่ บนพื้นที่ขายกว่า 60,000 ตารางเมตร และมีสาขาห้างสรรพสินค้าที่ปัตตานี และไดอาน่าซูเปอร์อีก 6 สาขา ในศูนย์การค้าไดอาน่าคอมเพล็กซ์ สาขาหาดใหญ่ และปัตตานี และรูปแบบสแตนด์อโลน 4 สาขาในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี และนราธิวาส

จากโจทย์ดังกล่าว นำมาสู่การปรับตัวให้ทันสมัยและมีความเป็น ไลฟ์สไตล์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เซ็นเตอร์ มากขึ้น เพื่อสร้างจุดยืนที่ชัดเจน และแตกต่างจากคู่แข่งขัน โดยเน้นจุดขาย “ความคุ้มค่าของราคา” และ “ความสนุกในการช็อปปิ้ง” พร้อมทั้งใช้งบลงทุนการพัฒนาพื้นที่แล้วประมาณ 100 ล้านบาท

ศูนย์การค้าไดอาน่าหาดใหญ่ 38

“ที่ผ่านมา เราใช้ความเป็นท้องถิ่นนิยมเป็นจุดขายของห้างฯ แต่ในยุคที่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนเริ่มเปลี่ยน เราก็ต้องปรับตัวด้วยการพัฒนาโซนพื้นที่ต่างๆ ให้มีความทันสมัยขึ้น เพิ่มร้านค้าและบริการให้ครบวงจรทุกด้าน รวมถึงจับมือกับคู่ค้าแบรนด์ดังที่คนท้องถิ่นให้ความสนใจ”

แม้ความทันสมัยจะคืบคลานเข้ามา แต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารก็ยังต้องการให้ภายในห้างฯ มีวิถีชีวิตของผู้คนภาคใต้แฝงอยู่ ดังนั้นในพื้นที่ห้างฯ ของไดอาน่าจึงะมีโซนที่จัดไว้ให้สำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่นโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้ภาพของความอบอุ่นและเป็นกันเองที่มีมาตลอด 35 ปีจางหายไป

ภาพการปรับตัวของ ห้างไดอาน่า สะท้อนออกมาชัดเจนจากการจับมือกับคู่ค้าใหม่ๆ สร้างแฟล็กชิพสโตร์ในภาคใต้ตอนล่าง เพื่อเพิ่มแม่เหล็กใหม่ๆ ดึงดูดลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น เอฟเอ็น เอ๊าท์เลท (FN Outlet) สาขาแรกในไทยที่เปิดในศูนย์การค้า, มูมูโซ (MUMUSO) ร้านจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ชื่อดังจากประเทศจีนสาขาเดียวในจังหวัดสงขลา และมิสเตอร์ ดี.ไอ.วาย. (MR.D.I.Y.) เชนสโตร์ยักษ์ใหญ่จากมาเลเซีย ที่เปิดสาขาใหญ่ที่สุดในสงขลาบนพื้นที่กว่า 700 ตารางเมตร รวมถึงแฟลกชิพสโตร์เสื้อผ้าและสินค้าไลฟ์สไตล์จากแบรนด์ชั้นนำอื่นๆ อีกมากมาย

ศูนย์การค้าไดอาน่าหาดใหญ่ 40

นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารชื่อดังและร้านพื้นเมืองยอดนิยมในหาดใหญ่ รวมถึงความบันเทิงอย่างโรงภาพยนตร์ ไดอาน่าซีนีเพล็กซ์ที่จับมือกับเมเจอร์กรุ๊ป พร้อมมอบประสบการณ์การชมภาพยนตร์อย่างเหนือระดับด้วยตั๋วหนังราคาถูกที่สุดในเมืองหาดใหญ่ อีกทั้งยังเพิ่มการจัดอีเว้นท์ภายในห้างฯ อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดกิจกรรมหมุนเวียนให้คนอยากมาที่ห้างฯ กันมากขึ้น โดยตั้งเป้าจัดอีเว้นท์ไม่ต่ำกว่า 150 อีเว้นท์ต่อปี

ที่สำคัญคือ การรับเทรนด์ยุคดิจิทัล ห้างไดอาน่า ได้เพิ่มช่องทางการซื้อขายแบบออนไลน์ โดยแยกประเภทสินค้าเป็นแบบทั่วไป ที่ให้บริการจัดส่งครอบคลุมทั่วประเทศ ทั้งช่องทางอีคอมเมิร์ซ และโซเชียลคอมเมิร์ซ รวมถึงมาร์เก็ตเพลสที่ร่วมกับ ช้อปปี้ เปิดช่องทาง “ไดอาน่าช็อปออนไลน์” บนช้อปปี้ ส่วนกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน ได้เปิดช่องทางออนไลน์ภายใต้ชื่อ “อร่อยเดลิเวอรี่” บริการจัดส่งอาหารและเครื่องดื่มทั่วพื้นที่หาดใหญ่กว่า 200 เมนู จากทุกร้านในเครือของไดอาน่า

ปัจจุบัน ศูนย์การค้าไดอาน่าคอมเพล็กซ์ สามารถสร้างกลุ่มลูกค้าเฉพาะของไดอาน่าช็อปออนไลน์ได้ถึง 300,000 คน และอันดับหนึ่งเป็นลูกค้าจากแถบภาคอีสาน นอกจากนี้ในอนาคตทางห้างฯ ยังได้วางแผนจะขยายการขายและจัดส่งไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี เพราะมองว่าการทำธุรกิจออนไลน์นั้นสามารถเติบโตได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

ศูนย์การค้าไดอาน่าหาดใหญ่ 40

ไม่เพียงแต่การปรับตัวในวันนี้ ผู้บริหารห้างไดอาน่า ยังวางกลยุทธ์การทำธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะชูกลยุทธ์ “ออมนิ ชาแนล” (Omni Channel) เพื่อเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่หลากหลายขึ้น และมุ่งพัฒนาไปสู่การค้าขายแบบไร้รอยต่อ (Seemless) ที่เชื่อมระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ซึ่งต้องคอยปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและไลฟ์สไตล์ของลูกค้า

Avatar photo