Economics

‘ปตท.’ ทบทวนแผนลงทุนผลิต ‘อะโรเมติกส์’ 4 หมื่นล้าน เหตุสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

ปตท.ทบทวนแผนขยายกำลังผลิตอะโรเมติกส์ของไออาร์พีซี เหตุสงครามการค้าจีนและสหรัฐ ตั้งโจทย์ศึกษาใหม่ ย้ำให้ทุกโครงการลงทุนจากนี้ ต้องศึกษาให้รัดกุมรอบคอบ

141597

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ Maximum Aromatics Project (MARS) ของบริษัทไออาร์พีซี ว่า สาเหตุที่เลื่อนการตัดสินใจโครงการดังกล่าวออกไปเป็นปลายปี 2562 จากเดิมที่คาดว่าจะมี่ความชัดเจนภายในไตรมาส 2 ปีนี้ เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ ที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ ปิโตรเคมีในตลาดใหญ่ลดลง ทำให้เกิดปัญหากำลังผลิตเกินความต้องการ

ประกอบกับโครงการ MARS เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูง 30,000-40,000 ล้านบาท จึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อน โดยมอบหมายให้นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายของ ปตท. เป็นผู้ศึกษารายละเอียด

และโครงการนี้ไม่ใช่โครงการเดียว แต่ทั้งกลุ่ม ปตท. ต้องศึกษาโครงการลงทุนให้รัดกุมมากขึ้น โครงการใดมีความจำเป็น ก็ต้องลงทุนก่อน อาทิ โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นมาตรฐานยูโร 5 ยังดำเนินการต่อไปตามแผน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 รวมไปถึงศึกษาธุรกิจที่สามารถสร้างพลังร่วมกัน (Synergy) ของกลุ่ม ปตท. เช่น สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ หรือต่อยอดร่วมกันได้หรือไม่

โรงงานไออาร์พีซี

ทั้งนี้โครงการ MARS ก็เกี่ยวเนื่องกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ด้วย ดังนั้นการลงทุนโครงการ MARS จะต้องศึกษาว่า ควรมีกำลังการผลิตเท่าใดจากแผนเดิมอยู่ที่ 1-2 ล้านตันต่อปี ขณะที่พื้นที่ก่อสร้าง จะต้องเป็นพื้นที่ของไออาร์พีซี เนื่องจากไทยออยล์ ไม่มีพื้นที่แล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 6-12 เดือนข้างหน้า

อนึ่ง โครงการ MARS ตามแผนเดิม คาดว่าจะมีข้อสรุปในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ และจะเปิดเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 ของปี 2566 ทั้งนี้โครงการดังกล่าว มีเป้าหมายเพิ่มขนาดการผลิตพาราไซลีนเป็น 1.1-1.3 ล้านตันต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 1 ล้านตันต่อปี และผลิตเบนซินเพิ่มเป็น 3-5 แสนตันต่อปี จากเดิมอยู่ที่ 3 แสนตันต่อปี

ขอบคุณภาพโรงงาน จาก บริษัทไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

Avatar photo