COLUMNISTS

‘ฟัง’ ทำไม และอย่างไร (1)

Avatar photo
Head of Faculty สลิงชอท กรุ๊ป
452

ราว 20 ปีก่อน ขณะที่ผู้เขียนเป็นนิสิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย ย่านบางเขน มีรุ่นพี่ชักชวนให้ผู้เขียนเป็นสมาชิกชมรมหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนได้พัฒนาความสามารถด้านการพูดต่อหน้าสาธารณชน และทักษะที่เกี่ยวข้องตลอดช่วงเวลาของการศึกษาในระดับปริญญาตรี

หลังจากนั้นเมื่อผู้เขียนสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแถวสามย่าน อาจารย์ท่านหนึ่งถามผู้เขียนว่า

อาจารย์: จะเป็นพิธีกรในงานของมหาวิทยาลัยได้ ฝึกอยู่นานไหม

ผู้เขียน: นานค่ะ ฝึกอยู่หลายปี

อาจารย์: (พยักหน้า) ยิ่งเรื่องการฟัง เธอยังต้องเรียนรู้ที่จะฝึกฟังผู้อื่น…ไปทั้งชีวิต

ย้อนไปในช่วงเวลานั้น มีหลักสูตรฝึกอบรมมากมายที่เกี่ยวกับการพูด การนำเสนอ แต่มีการสอนเรื่องการฟังไม่มากนัก ยกเว้นหลักสูตรการพัฒนานักจิตวิทยา หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้เขียนได้เผชิญเหตุการณ์ในการทำงานบทบาทต่าง ๆ ของตนเอง ประกอบกับหลักสูตรฝึกการเป็นโค้ช เมนทอร์ ผู้เอื้ออำนวย และผู้นำเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นการบ่งบอกได้ว่า มีการให้ความสำคัญกับการฟังมากขึ้น

pixabay 2 figures listening 625661 1280

เพราะ “การฟังอย่างลึกซึ้ง”  (Deep Listening) เสมือนกุญแจที่จะเข้าถึงใจของผู้ที่เราสนทนาด้วย ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน สอดคล้องกับเนื้อหาในบทความเรื่อง “บทบาทของผู้นำองค์กรในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว” บทบาทแรกที่สำคัญ คือ การสื่อสารทั้งในระดับบุคคล ทีมและองค์กร โดยผู้นำต้องพัฒนาตัวเองให้มีความเข้าอกเข้าใจ (Empathic Understanding) ซึ่งต้องอาศัยการฟังอย่างลึกซึ้งเป็นพื้นฐาน

จากภูมิปัญญาของชาวจีน มีอักษรตัวหนึ่งที่อ่านว่า “Ting”  (ทิง) เป็นคำกริยา แปลว่า “ฟัง”  (https://tammylenski.com/) เป็นอักษรที่ประกอบด้วยหมวดคำที่แสดงให้เห็นว่า การฟังนั้นต้องอาศัยประสาทสัมผัสหลายส่วน ผ่านหูที่รับฟังถ้อยคำ ตาที่สังเกตภาษากาย สีหน้า ท่าทาง และใจที่รับฟัง ประมวลความเข้าใจ รับรู้ถึงความความหมาย ที่เป็นความรู้สึกนึกคิดของคู่สนทนา

สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการ มีสติ มุ่งความสนใจที่มีทั้งหมดไปยังบุคคลที่ตนเองกำลังรับฟัง ไม่อาจแบ่งแยก ย้อนไปในอดีต หรือพุ่งไปยังอนาคต หรือไปอยู่กับคนอื่น หรือสถานที่อื่นใดได้ ดังนั้นหากเราฟังได้อย่างลึกซึ้ง Dr. Theodor Reik นักจิตวิเคราะห์ กล่าวว่า หูที่สามของเราจะเปิด เราจะได้ยินความในใจแม้คู่สนทนาของเราไม่ได้เอ่ยปาก

อย่างไรก็ตาม หากผู้นำต้องการยกระดับความสามารถในการสื่อสารด้วยความเข้าอกเข้าใจ การรับข้อเท็จจริง อารมณ์ ความรู้สึกด้วยประสาทสัมผัสทุกด้านข้างต้น ซึ่งเป็นการรับสารขาเข้าอย่างเดียวจึงยังไม่เพียงพอ

แต่การส่งสารขาออก ที่ทำให้คู่สนทนารับรู้ถึงการฟังของผู้นำ มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ยิ่งไปกว่านั้น ความอกเข้าใจ ที่ตรงกับ ประโยคที่ว่า “Walk in the others’ shoes” ยังต้องมีคุณภาพใจของผู้นำอย่างไร

ในตอนหน้า ผู้เขียนจะกล่าวถึงรายละเอียดที่จะช่วยให้คู่สนทนา “รับรู้” ว่า ผู้นำ “ฟัง” จริงๆ ได้อย่างไร