World News

‘ยุตินิวเคลียร์’ หรือแค่การซื้อเวลาของ ‘คิม จอง อึน’

แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ จะออกมาประกาศก้องถึงความสำเร็จของการประชุมครั้งประวัติศาสตร์กับ คิม จอง อึน ประธานประเทศเกาหลีเหนือ จากการที่อีกฝ่ายหนึ่งตกลงที่จะดำเนินการปลดอาวุธนิวเคยีร์ทั้งหมด  แต่เหล่านักวิเคราะห์ชี้ว่า ข้อตกลงดังกล่าว “ขาดรายละเอียด” ที่จำเป็นสำหรับการรับประกันว่า กรุงเปียงยางจะดำเนินการตามคำมั่นที่ให้ไว้

000 15U8JY 1

เกาหลีเหนือ ระบุว่า จะเดินหน้าดำเนินการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดสิ้นไปจากคาบสมุทรเกาหลี ในแถลงการร่วมหลังเสร็จสิ้นการประชุมดังกล่าว ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกับการประชุมที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาระหว่างคิม กับประธานาธิบดีมูน แจ อิน ของเกาหลีใต้

“ผมเชื่อว่า เรื่องนี้จะเริ่มต้นขึ้นในเร็ววันนี้แน่” ทรัมป์กล่าวถึงกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ระหว่างการแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการหารือกับผู้นำเกาหลีเหนือ ขณะที่คิม บอกว่า โลกจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการเจรจาครั้งนี้

แต่เหล่าผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า ในแถลงการณ์ของผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายนี้ ไม่มีถ้อยคำใดที่บ่งชี้ว่า การปลดอาวุธนิวเคลียร์ดังกล่าวจะเป็นไปในทิศทางใด ไม่ว่าจะเป็นแง่ของกระบวนการ หรือกรอบเวลาดำเนินงาน

นอกจากนี้ ยังไม่มีการใช้คำที่สหรัฐต้องการเห็นทั้ง เสร็จสมบูรณ์ พิสูจน์ได้ และไม่เปลี่ยนแปลง อันเป็นกระบวนการที่เข้มงวดที่ “ไมค์ ปอมเปโอ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระบุไว้ก่อนหน้าการประชุมว่า เป็นผลลัพธ์จากการประชุมเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ทางสหรัฐจะยอมรับได้

ทั้งในขณะที่ทรัมป์บอกว่า การคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือยังคงมีผลอยู่ จนกว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์จะเสร็จสมบูรน์ แต่แรงกดดันด้านเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือนั้น ผ่อนคลายลงไปแล้วตั้งแต่ก่อนหน้าการประชุมจะเปิดฉากขึ้น

000 15U8TF

แถลงการณ์ร่วมของทรัมป์ และคิม ยังไม่มีการพูดถึงการเข้าตรวจสอบจากสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ) ตามที่ญี่ปุ่น แสดงความหวังไว้ก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นว่า ทรัมป์ยอมประนีประนอมกับเกาหลีเหนืออย่างมากในเรื่องปลดอาวุธนิวเคลียร์นี้ เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ทางการเมืองที่แข็งแกร่งจากการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้

“การประชุมประสบความสำเร็จอย่างสูงในมุมของคิม ของคิม จอง อึน” แดเนียล รัสเซล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ รับผิดชอบกิจการเอเชียตะวันออก และแปซิฟิกระบุ

เขาบอกด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การตรวจสอบได้ ซึ่งคำถามที่ว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว จะมีกระบวนการใดในการประชุมที่สิงคโปร์ ที่จะทำเกิดคำว่า ตรวจสอบได้ขึ้นมาหรือไม่

สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง จากแถลงการณ์ และการแสดงความเห็นของทรัมป์ คือเรื่องที่ว่า เกาหลีเหนือยินยอมที่จะทำลายขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป ที่สามารถยิงไปถึงแผ่นดินใหญ่สหรัฐ หรือพิสัยใกล้กว่านั้น ที่ใช้ข่มขู่พันธมิตรสหรัฐ อย่าง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรือไม่

ทรัมป์ ยังเปิดเผยว่า คิมได้ให้คำมั่นที่จะปิดพื้นที่ทดสอบขีปนาวุธด้วย แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ตกลงกันหลังจากการลงนามไปแล้ว และไม่ได้รวมไว้ในแถลงการณ์แต่อย่างใด

ฮาจิเมะ อิซูมิ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนานาชาติโตเกียว แสดงความเห็นว่า การปิดพื้นที่ทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ได้มีการนำเรื่องนี้เข้าไว้ในข้อตกลงด้วยนั้น อาจเป็นเรื่องที่ไม่น่าพอใจสำหรับฝั่งสหรัฐ

000 15U80E

การที่แถลงการณ์ร่วมของผู้นำทั้ง 2 ประเทศ ไม่มีรายละเอียดอย่างเจาะจง ทำให้เกิดความกังวลว่า รัฐบาลเปียงยางอาจจะแค่ “ซื้อเวลา” เพื่อการพัฒนา โดยมีแต่คำสัญญาอันว่างเปล่าถึงการปฏิรูป แบบเดียวกับที่เคยเกิดมาแล้วในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา

อย่างเหตุการณ์เมื่อปี 2548 ที่เกาหลีเหนือเห็นพ้องที่จะทำลายอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด และปฏิบัติตามแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่ไม่มีกำหนดเส้นตาย การยุติโครงการนิวเคลียร์ และรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ อาจทำให้ไม่มีการปฏิบัติเกิดขึ้นจริง

เหล่าผู้เชี่ยวชาญยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เกาหลีเหนือต้องการจากการประชุมครั้งนี้ว่า อาจเป็นเพราะคิมกำลังมองหาความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ จากนานาประเทศ เนื่องจากกำลังประสบปัญหาขาดแคลนถ่านหินอย่างหนัก ที่ทำให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เพียงพอสำหรับคนทั้่งประเทศ
ยิ่งกว่านั้น การที่คิมพุ่งเป้าที่จะใช้ทรัพยากรของประเทศ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็ทำให้การยกเลิกคว่ำบาตรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight