Digital Economy

2569 ไทยจะส่งออก’โรโบติกส์’!

artificial intelligence 2167835 1280

ภาครัฐเปิดอีกหนึ่งเทรนด์ กระตุ้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทุนในโรโบติกส์ และระบบอัตโนมัติ ตั้งเป้าเพิ่มผลิตภาพให้อุตสาหกรรมไทย 50% ลดการนำเข้าหุ่นยนต์ – ระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศ 30% หรือคิดเป็นมูลค่า 80,000 ล้านบาท รวมถึงหวังเพิ่มบุคลากรด้าน SI (System Integrator) เป็น 1,400 รายภายในปี 2566 ชี้หากทำสำเร็จจะเกิดการลงทุนด้านโรโบติกส์ภายในประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท และจะสามารถส่งออกได้ในปี 2569 ด้วย

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจะไป 4.0 ได้เห็นทีจะต้องลงทุนเพิ่มอีกแล้ว โดยล่าสุดเป็นการออกมากระตุ้นจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนอย่างสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับอีก 8 หน่วยงาน ได้แก่ คลัสเตอร์หุ่นยนต์, เครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotics Excellence หรือ CoRE), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนามย่อมแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และรี้ด เทรดเด็กซ์ ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทุนนำระบบโรโบติกส์ และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในธุรกิจ หวังเพิ่มผลิตภาพจากธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น

โดยการสนับสนุนดังกล่าวมาจากการพบ PainPoint ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในปัจจุบันที่ว่า แรงงานหายากมากขึ้น และผู้ประกอบการมักเผชิญกับปัญหาการบาดเจ็บของพนักงาน รวมถึงมีของเสียในกระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนของเอสเอ็มอีบางเจ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางภาครัฐมองว่า การนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานสามารถลดปัญหาเหล่านี้ลงได้ และช่วยให้กระบวนการผลิตของเอสเอ็มอีมีประสิทธิภาพ และสามารถแข่งขันได้นั่นเอง

robot 916284 1280

อย่างไรก็ดี หุ่นยนต์ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ การจะนำระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้จำเป็นต้องมีตัวกลางสำคัญอย่าง System Integrator หรือ SI ที่มีความเชี่ยวชาญ และสามารถประเมินสภาพธุรกิจได้ว่าควรลงทุนในหุ่นยนต์ระดับใด รวมถึงสามารถพัฒนากลไก – ซอฟต์แวร์ของหุ่นยนต์เข้ามาให้คำแนะนำกับภาคธุรกิจด้วย ดังนั้น มาตรการส่งเสริมในครั้งนี้จึงรวมถึงการเพิ่มจำนวน SI ในระบบให้มากขึ้น จากปัจจุบันตามการเปิดเผยของ ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) มี SI มาขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 80 ราย และมีแผนจะเพิ่มเป็น 1,400 รายภายใน 5 ปี

ดร.ณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ) เผยถึงมาตรการการส่งเสริมดังกล่าวว่า เป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติคือการผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยมีผลผลิตมวลรวมเพิ่มขึ้น 50% และมีผู้ประกอบการด้าน SI เพิ่มขึ้นเป็น 1,400 ราย (ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนทั้งสิ้น 200 ราย) ซึ่งความต้องการด้านโรโบติกส์ที่เพิ่มขึ้นนี้จะนำไปสู่การลงทุนทั้งจากในประเทศและต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าเกินกว่า 200,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี โดยปัจจุบัน มีประเทศเป้าหมายที่ต้องการจะมาลงทุนด้านโรโบติกส์ในไทยหลัก ๆ คือ จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และเป้าหมายประการสุดท้ายคือต้องสามารถส่งออกได้ในปี 2569 ด้วย

มาตรการด้านสินเชื่อและภาษี

ในส่วนของมาตรการด้านการให้คำปรึกษาด้านการเงินและสินเชื่อ จะมีการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เอสเอ็มอีที่ลงทุนด้านโรโบติกส์ และระบบอัตโนมัติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

  • สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ไม่เกิน 7 ปี สำหรับเอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็ก (จ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมีมูลค่าทรัพย์สินถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่รวมที่ดิน)
  • สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปีแรก ปีที่ 4 – 7 MLR ต่อปี ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 7 ปี : วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย บุคคลธรรมดาไม่เกิน 2 ล้านบาท
  • โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ผ่อนได้นาน 7 ปี สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการซื้อเครื่องจักรใหม่ใช้ในกิจการ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท/ราย ไม่ต้องจ่ายเงินต้นนาน 12 เดือน

ส่วนมาตรการด้านภาษี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จะให้สิทธิประโยชน์เช่น

  • ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร
  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% ของเงินลงทุนเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยไม่รวมค่าที่ดิน และทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง
  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 100% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดิน และทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง หากเป็นการสนับสนุนการผลิตเครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ (Local Content) ตั้งแต่ 30% ขึ้นไป

ข้อกำหนดของมาตรการส่งเสริมครั้งนี้คือ ผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563

20180613 112229

ผู้เชี่ยวชาญชี้ไทยจะได้เปรียบต้องลงทุนโรโบติกส์

ด้าน รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์ มองว่า การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทุนในระบบอัตโนมัติและโรโบติกส์นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีความได้เปรียบมากขึ้นในแง่การแข่งขันกับธุรกิจอื่นในระดับภูมิภาค และสามารถคุ้มทุนได้ภายในเวลาเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี และมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น 10 – 16% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นการลงทุนอย่างถูกต้องเหมาะสมด้วย ไม่ใช่การลงทุนแบบไม่ประเมินตัวเอง

เมื่อถามว่าธุรกิจเอสเอ็มอีใดบ้างที่จำเป็นต้องปรับตัวรับการแข่งขันครั้งนี้ ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) เผยว่า 5 ประเภทธุรกิจเอสเอ็มอีที่ควรต้องเร่งปรับตัวคือ ธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์, โลจิสติกส์, ภาคการเกษตร, อิเล็กทรอนิกส์ และออโตโมบิล (Tier-3)

พัฒนาอาชีวะรับเทรนด์โรโบติกส์

20180613 120433
นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ

นอกจากการส่งเสริมเทคโนโลยีโรโบติกส์และระบบอัตโนมัติด้วยมาตรการจูงใจต่าง ๆ แล้ว นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย – เยอรมัน ยังเผยด้วยว่า ภาคการศึกษาของไทยเองก็มีการเร่งสร้างบุคลากรสายอาชีวะให้ขึ้นมารองรับงานในอุตสาหกรรมโรโบติกส์นี้มากขึ้น โดยจะมีการจัดหลักสูตรพรีเมียมที่จับมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ เพื่อวางหลักสูตรให้เด็กอาชีวะไทยขึ้นมาเป็นบุคลากรที่จะบำรุงรักษาระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ให้ได้อีกด้วย พร้อมกับเผยว่า เหตุที่ต้องเร่งสร้างคนนั้น เพราะที่ผ่านมา การบำรุงรักษาต้องพึ่งพาต่างชาติในด้านเทคโนโลยี และชิ้นส่วน ถ้าไทยไม่เร่งสร้างความพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ เราก็ต้องซื้อเขาตลอดไป

ทั้งนี้ ตามแผนของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมองว่า หากธุรกิจไทยเริ่มต้นศึกษาและลงทุนด้านโรโบติกส์ตั้งแต่วันนี้ จะทำให้เรามีผู้ประกอบการ SI ที่มีประสบการณ์มากขึ้น และสามารถกลายเป็นผู้ส่งออกด้านโรโบติกส์ได้ภายในปี 2569 ด้วย

เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมองเห็นได้อย่างรอบด้านมากขึ้น ทางสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ยังมีการจัดแบ่งพื้นที่ในงาน Manufacturing Expo 2018 (20 – 23 มิถุนายน 2561) ส่วนหนึ่งให้กลายเป็น Robotics Cluster Pavilion โดยจะรวม SI ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับ TARA และ CoRE มาร่วมให้คำปรึกษากับธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเต็มตัว พร้อมเจ้าหน้าที่จาก BOI และ SME Bank มาให้คำแนะนำด้านการเขียนโครงการฯ ขอรับการสนับสนุนจาก BOI และขอสินเชื่อจาก SME Bank ด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของงาน Manufacturing Expo ที่จัดในลักษณะครบวงจร

ในส่วนนี้ นายอิสระ บุรินทรามาตย์ กรรมการผู้จัดการ รี้ด เทรดเด็กซ์ เผยว่า ที่ผ่านมา บริษัทด้านโรโบติกส์ที่มาจัดบูธภายในงานมีหลายระดับ และมาจากหลายภูมิภาคทั่วโลก แต่ละบริษัทอาจจะมี SI ของตนเองมาให้คำแนะนำหรือไม่มีก็ได้ แต่สำหรับในปีนี้ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอีในด้านโรโบติกส์ จึงมองว่าการจัดงานในลักษณะดังกล่าวจะทำให้เอสเอ็มอีได้เห็นภาพ และได้พบกับ SI ที่ได้มาตรฐานที่จะมาช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเลือกลงทุนเทคโนโลยีโรโบติกส์ได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง

Avatar photo