World News

ลาวเน้นจำเป็นต้องกู้ยืมสูงพัฒนาประเทศ

ในฐานะที่เป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และเป็นหนึ่งในประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดของภูมิภาคนี้ ทำให้ดูเหมือนว่า ลาวจะมีการจัดลำดับความสำคัญด้านการเติบโตแตกต่างออกไปจากประเทศอื่นๆ ด้วยการสร้างหนี้เพิ่มขึ้น

laos2
ทองลุน สีสุลิด

นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ผู้นำลาว เชื่อมั่นว่า การมีหนี้เพิ่มสูงกว่าระดับที่ได้รับการเตือนไว้นั้น เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศที่จะสร้างการเติบโต และมีความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก แม้ว่าเหล่าประเทศผู้บริจาคจากโลกตะวันตก และสถาบันการเงินข้ามชาติจะมีความวิตกกับเรื่องนี้มากขึ้นก็ตาม

“ในฐานะประเทศที่มีการพัฒนาน้อยสุด แน่นอนว่า ลาวจำเป็นต้องการเงินทุนที่จะสนับสนุนการเติบโต” ทองลุนกล่าว ระหว่างการให้สัมภาษณ์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว นอกรอบการประชุม “ฟิวเจอร์ ออฟ เอเชีย 2018”

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงให้ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะ และหนี้สาธารณะที่ได้รับการค้ำประกัน ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เมื่อปี 2560 สูงกว่า 60% และคาดว่าจะพุ่งถึง 65.9% ในปี 2562

ขณะที่การวิเคราะห์แนวโน้มหนี้ลาวของไอเอ็มเอฟ เมื่อเดือนมกราคม 2560 เตือนว่า ภาระหนี้นอกประเทศของลาว ปรับสูงขึ้นจากระดับ “ปานกลาง” ไปอยู่ในระดับ “สูง” จากสัดส่วนหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่ที่ลาวมีหนี้ ทะลุเพดานที่ไอเอ็มเอฟกำหนดไว้ที่ 40% ของจีดีพี

การลงทุนในการพัฒนาเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้่ำ บนแม่น้ำโขง และการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่เกิดขึ้นในปี 2559 ส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนั้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ลาวมีหนี้เพิ่มขึ้น แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงถึงราว 7% ต่อปีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ “คริสติน ลาการ์ด” ระบุว่า โครงการต่างๆ ดังกล่าว อาจทำให้ลาวมีปัญหาในเรื่องหนี้มากขึ้น และอาจทำให้ต้องจำกัดการใช้จ่ายในด้านอื่นๆ จากดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้เกิดปัญหาด้านดุลการชำระเงินตามมา

laosss

อย่างไรก็ดี ทองลุนย้ำว่า ลาวจำเป็นต้องกู้ยืม และยังถึงขั้นตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องของปริมาณหนี้ลาว ที่หน่วยงานข้ามชาติต่างๆ รวบรวมเอาไว้ได้

“ผมคิดว่า พวกเขาอาจมีวิธีการคำนวนที่แตกต่างกันออกไป”

เขากล่าวถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนว่า ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอะไรมากนัก ทั้งเรื่องภาระหนี้ และการก่อสร้าง

ผู้นำลาวยืนยันด้วยว่า การก่อสร้างคืบหน้าไปค่อนข้างมาก ปัจจุบันแล้วเสร็จไปแล้ว 34% พร้อมรับประกันว่า รางรถไฟในส่วนที่ก่อสร้างที่ลาว ซึ่งมีความยาวราว 417 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564 โดยการดำเนินงานต่างๆ เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

แนวคิดดังกล่าวของผู้นำลาว ได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการจีน “เจี่ย ชิงกั๋ว” คณบดีคณะนานาชาติศึกษา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่บอกว่า สำหรับตัวเขานั้น เรื่องดังกล่าวไม่ใช่การมาตั้งคำถามเกี่ยวกับปริมาณเงินกู้ เพราะสิ่งที่ควรจะสงสัย ควรเป็นเรื่องของประเภทโครงการ หรือเงื่อนไขด้านต่างๆ

ระหว่างให้สัมภาษณ์ นายกรัฐมนตรีลาวย้ำด้วยว่า ลาวต้องการที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง หลังจากที่พ้นสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดไปแล้ว

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight