Business

ไทยติดอันดับ 15 ของโลกนำเข้านาฬิกาจากสวิส ‘สยามพารากอน’มุ่งเดสติเนชั่นงานวอทช์แฟร์

“BRANDZ” เผยไทยนำเข้านาฬิกาจากสวิสอันดับ 15 ของโลก ขณะที่ทิศทางแบรนด์หรูทั่วโลกมูลค่า 5.3 ล้านล้านบาท ยังโตต่อเนื่อง สยามพารากอน คว้าเทรนด์นำทัพแบรนด์นาฬิการะดับโลก จัดงาน “Siam Paragon Watch Expo 2019” รวมกว่า180 แบรนด์ดัง ยกระดับภาพรวมอุตสาหกรรมนาฬิกาในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ตั้งเป้าเงินสะพัด 360 ล้านบาท

02 คุณจักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล คุณชนิสา แก้วเรือน และนายแบบนางแบบ

นางสาวชนิสา แก้วเรือน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานกิจกรรมการตลาดและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า จากผลวิจัยของ BRANDZ บริษัทวิจัยทางการตลาดและสื่อสารการตลาดระดับโลก ระบุว่า ในปี 2562 ภาพรวมของตลาดแบรนด์ระดับ ลักซ์ชัวรี่ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 29% ทำให้ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวม 5.3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมนาฬิกานั้นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นไปในทิศทางบวก

ทั้งนี้ตัวเลขจากงานบาเซิล เวิลด์ ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ระบุว่า มูลค่าการส่งออกนาฬิกาสวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าราว 6.7 แสนล้านบาท โดยมีตลาดเอเชียเป็นแกนนำหลัก ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 53% เพิ่มขึ้น 12.2% และฮ่องกงยังคงเติบโตเป็นอันดับต้นๆนอกจากนี้ยังเห็นการเปลี่ยนแปลงของหลายแบรนด์ที่มีการปรับดีไซน์รวมถึงราคาที่จับต้องได้เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดนาฬิกาในเอเชีย ยังคงเป็นที่สนใจของแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยเองติดอันดับ 15 ของโลกที่นำเข้านาฬิกาจากสวิส โดยตลาดนาฬิกาหรูระดับ ลักซ์ชัวรี่ ยังคงเป็นเป็นอันดับ 1 ที่ผู้บริโภคยังคงให้ความสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้ชายที่นิยมซื้อเพื่อเป็นของขวัญให้ตัวเองหรือการสะสมเพื่อเพิ่มมูลค่าและการลงทุน”นางชนิสากล่าว

04 นายแบบนางแบบ

สำหรับเทรนด์นาฬิกาหรูระดับลักซ์ชัวรี่ในปีนี้ จะเห็นได้ว่าหลายแบรนด์มีดีไซน์ออกมาในสไตล์วินเทจ ย้อนห้วงเวลาไปสู่อดีตอันภาคภูมิใจ ขณะเดียวกันก็ยังคงเปี่ยมไปด้วยความสง่างามเหนือกาลเวลา ที่ผสานเทคโนโลยีและมีความร่วมสมัย นอกจากนี้คือเรื่องของขนาดที่เล็กกระทัดรัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเส้นผ่านศูนย์กลางหรือความหนาของตัวเรือน หลังจากที่เทรนด์นาฬิกาขนาดใหญ่ครองพื้นที่มาเกือบทศวรรษ และสุดท้าย คือการให้ความสำคัญกับวัสดุที่มีความโดดเด่นล้ำสมัย มาผสมผสานอย่างสร้างสรรค์ อาทิ ทองคำ และเซรามิก เป็นต้น

ในส่วนของงานสยามพารากอน วอทช์ เอ็กซ์โป 2019 จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “THE RHYTHM OF TIMEPIECES” นับเป็นงานมหกรรมที่รวบรวมความสุดยอดของประดิษฐกรรมแห่งเรือนเวลาจากทั่วโลกกว่า 180 แบรนด์ชั้นนำ รวมกว่า 30,000 เรือน มารวมกันไว้ในงานเดียว โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 ซึ่งถือเป็นการอัพเดทเทรนด์นาฬิกาที่ส่งตรงมาจากงานบาเซิล เวิลด์ โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม – 7 สิงหาคมด้วยงบประมาณจัดงานกว่า 45 ล้านบาท คาดสร้างเม็ดเงินสะพัดในงานไม่ต่ำกว่า 360 ล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมตลาดนาฬิกาในประเทศไทยมูลค่ารวม 25,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ นาฬิการะดับลักซ์ชัวรี่ ราคา 500,000 บาท ขึ้นไป สัดส่วนตลาด 20%, นาฬิกาไฮเอนด์ ราคา 100,000 – 500,000 บาท 34.85%, นาฬิกามิดเอนด์ ราคา 20,000 – 100,000 บาท 30.62% และนาฬิกาแฟชั่นและเทรนด์ ราคา 5,000 – 20,000 บาท สัดส่วน 14.53% มีอัตราการเติบโตจากปีที่แล้ว 3% ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจ

03 คุณจักรกฤษณ์ กีรติโชคชัยกุล คุณชนิสา แก้วเรือน พร้อมด้วยพันธมิตรแบรนด์นาฬิกาชั้นนำ

 

นอกจากนี้เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีนาฬิกาที่อัญเชิญตราสัญลักษณ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ประชาชนสามารถสะสม ได้แก่ WISE ผลิตจำนวน 20,000 เรือน และ KLASSE 14 ผลิตขึ้นจำนวนทั้งสิ้น 1,000 เรือน แบ่งเป็นรุ่นสำหรับคุณสุภาพบุรุษ ตัวเรือนขนาด 40 มิลลิเมตร จำนวน 600 เรือน และรุ่นสำหรับสุภาพสตรี ตัวเรือนขนาด 36 มิลลิเมตร จำนวน 400 เรือน พร้อมสลักหมายเลขประจำตัวเรือนไว้ที่ฝาหลังทุกเรือน บรรจุในกล่องสีเหลืองที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ และมีจำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น

ปัจจุบัน วอทช์ แกลอเรีย (WATCH GALLERIA) สยามพารากอน มีส่วนแบ่งตลาดนาฬิกา 10% จากภาพรวมของตลาดนาฬิการีเทลมูลค่า 15,000 ล้านบาท คาดว่างานสยามพารากอน วอทช์ เอ็กซ์โป ช่วยกระตุ้นยอดขายให้เติบโตขึ้นกว่า 12% ด้วยโปรโมชั่นสุดพิเศษ และด้วยเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณฟื้นตัวตั้งแต่หลังเลือกตั้งที่ผ่านมา ประกอบกับผู้ประกอบการแบรนด์นาฬิกาชั้นนำทยอยออกคอลเลคชั่นใหม่ ด้วยราคาและดีไซน์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของ ปี 2562 วอทช์ แกลอเรีย ตั้งเป้าเติบโตขึ้น 5%

Avatar photo