Economics

‘แผนผลิตไฟฟ้ารัฐ-เอกชน’ วุ่น คำวินิจฉัย ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ เป็นเหตุ

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี ดูจะไม่ราบรื่นเสียแล้ว เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำวินิจฉัยเมื่อ 25 มิถุนายน 2562 และแจ้งผลการวินิจฉัยเป็นทางการไปยังผู้ร้องเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผลวินิจฉัยระบุข้อความให้กระทรวงพลังงานทำตามข้อแนะนำ ” ให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ” นั้นหมายถึงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กลับไปมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ 51%

โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยอ้างอิง รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 ที่บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องจัด หรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ “

สายส่งไฟฟ้า

ขณะนี้กระทรวงพลังงานในฐานะหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตาม อยู่ระหว่างรอหนังสือแจ้งจากอย่างเป็นทางการจากผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งผู้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน คือ นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ซึ่งวงการพลังงานแทบไม่รู้จัก แต่ความเป็นจริง เป็นคณะกรรมการประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจมาหลายปี ดำเนินการร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อปี 2561 เพราะคลางแคลงใจสถานการณ์จริงกับสิ่งที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้มานาน ไม่ใช่เฉพาะรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 แต่กำหนดไว้ตั้งแต่ ปี 2550

เพราะเป็นที่ทราบว่า กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าน้อยลงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ณ เดือนมกราคม ปี 2562 กำลังผลิตของกฟผ.อยู่ที่ 34.39 % และเมื่อสิ้นแผนพีดีพี 2018 หรือในปี 2580 กฟผ. จะเหลือกำลังผลิตประมาณ 24% 

เรื่่องนี้อาจจะไม่จบที่กระทรวงพลังงาน เพราะการทำตามข้อแนะนำให้กฟผ. กลับไปมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ง่าย อันเนื่องจากนโยบายเปิดเสรีกิจการไฟฟ้าตามแนวทางปฏิรูปพลังงานก็เดินคู่ขนานกันมานาน ประกอบกับรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ฉบับ คือ 2540 2550 และ 2560 ต่างมีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 อยู่ที่ระบุว่า “ไม่ให้รัฐประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ การจัดให้มีการสาธารณูปโภค “

ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานก็ย้อนรอยทำหนังสือชี้แจงผู้ตรวจการแผ่นดินไปก่อนหน้านี้ ระบุถึง การที่รัฐส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้ามานาน ตั้งแต่ปี 2532 ทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) เอกชนรายเล็ก (เอสพีพี)และรายเล็กมาก (วีเอสพีพี)

ทำนองว่า แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดสัดส่วนให้รัฐ มีกำลังผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ไม่มีความหมายใดๆ และบัดนี้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนก็แข็งแรงขึ้นทุกวัน ล้วนเป็นระดับบิ๊กกันแล้ว

aaaa

S 16777222

ทางออกเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร หากดูตามอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในรัฐธรรมนูญ  มาตรา 230 มีอำนาจเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆได้ และหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อพิจารณาสั่งการ ตามที่เห็นสมควรต่อไป

แล้วคณะรัฐมนตรีจะสั่งการใด ก็ต้องติดตามต่อไป เพราะผู้อนุมัติแผนพีดีพี ก็คือ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ  (กพช.) และคณะรัฐมนตรี ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นเป็นหัวโต๊ะทั้งสองคณะ

เมื่อนโยบาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญขัดกันไปมาอย่างนี้ ก็มีอีกทางออก คือ เรื่องอาจต้องไปจบที่ศาล เพราะรัฐธรรมนูญเปิดทางให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่ามี บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่การร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องร้องให้ถูกเรื่อง คนร้องถูกฝาถูกตัวด้วย ไม่งั้นเรื่องอาจตกอีก

Avatar photo