Economics

‘ทย.’ เตรียมประกาศพื้นที่สร้าง ‘สนามบินนครปฐม’ พร้อมรับฟังความเห็นรอบ 2

“กรมท่าอากาศยาน” เตรียมประกาศพื้นที่เหมาะสมตั้ง “สนามบินนครปฐม” พร้อมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนรอบที่ 2 ในเดือน ต.ค. นี้ ก่อนสรุปผลการศึกษาช่วงสิ้นปี

fig 09 04 2019 11 52 04

นายจรุณ มีสมบูรณ์ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม กล่าวว่า กรมท่าอากาศยานได้ดำเนิน “โครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม” เนื่องจากปัจจุบันสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ที่เป็นสนามบินหลัก มีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้เกิดความแออัดของการจราจรทางอากาศในบริเวณสนามบิน ดังนั้น กรมท่าอากาศยานจึงดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ เพื่อบรรเทาความคับคั่งของสนามบินหลัก

สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐม เป็นการศึกษาความต้องการและพื้นที่ที่มีศักยภาพในการก่อสร้างสนามบินใหม่ โดยพิจารณาในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแบบก่อสร้าง เพื่อบรรเทาความคับคั่งของสนามบินหลัก และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

รับฟังความเห็น สนามบิน นครปฐม
บรรยากาศการเปิดรับฟังความเห็นโครงการศึกษาสนามบินนครปฐมครั้งที่ 1

โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินงานรวม 450 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2561 – 20 ธันวาคม 2562 โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา กรมท่าอากาศยานได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ปฐมนิเทศโครงการ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในโครงการและเกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด

ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนการศึกษา วิเคราะห์ และจัดประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับชุมชนในแต่ละพื้นที่ทางเลือก เพื่อสรุปตำแหน่งที่ตั้งสนามบินที่เหมาะสมมากที่สุด และจะดำเนินการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นครั้งที่ 2 ประมาณเดือนตุลาคม 2562 โดยคาดว่าจะสามารถประกาศพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 นี้

fig 16 06 2019 08 28 52

นายจรุณ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสนามบินนครปฐมทั้งหมดจะแบ่งเป็น 6 ขั้นตอน ดังนี้

1.ศึกษาวิเคราะห์และทบทวนข้อมูลความต้องการ (Demand) ของการใช้สนามบินสำหรับรองรับการบินเชิงธุรกิจ (Business Aviation) การบินทั่วไป (General Aviation) และความเหมาะสมของการมีสนามบินเพื่อบรรเทาความคับคั่ง (Reliever airport) ของสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

2. สำรวจออกแบบระบบสนามบินและจัดทำแบบรูปรายละเอียดเบื้องต้น เช่น การสำรวจสภาพภูมิประเทศ จัดทำแผนที่ของที่ดิน ออกแบบในรายละเอียดด้านวิศวกรรม จัดทำแบบแปลนและเอกสารต่างๆ สำรวจสิ่งกีดขวาง เป็นต้น

3.งานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ประกอบด้วย การรวบรวมข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบ มาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบ แผนการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่ง และการคาดการณ์ผลกระทบเสียงจากเครื่องบินบริเวณพื้นที่โครงการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

360ed8a8 aefe 4956 80b5 b8dba0c919d7

4. ศึกษาวิเคราะห์ทางเลือกที่จะเป็นไปได้ในการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการลงทุน และดำเนินการโครงการ

5. ศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำรายงานการศึกษาตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 โดยจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามรายละเอียดที่ต้องมีในผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการของหน่วยงานเจ้าของโครงการ พ.ศ. 2560 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (บอร์ด PPP) ได้ประกาศกำหนดตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2556 และสาระอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

6.จัดทำร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน ร่างขอบเขตของโครงการและเงื่อนไขสำคัญและร่างสัญญาการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ

fig 09 04 2019 15 12 37

นายจรุณกล่าวว่า สำหรับประชาชนที่ต้องการติดตามข่าวสารและความคืบหน้าโครงการ สามารถติดตามได้ที่ www.ศึกษาสนามบินนครปฐม.com โดยกรมท่าอากาศยานจะได้นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแอบอ้างและข้อมูลอันเป็นเท็จที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชน และสามารถสอบถามข้อมูลโดยตรงกับกรมท่าอากาศยานและบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2286 3775, 0 2509 1432, 0 2938 2926, 0 2938 2882-3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่เป้าหมายในการศึกษาที่ตั้งสนามบินนครปฐมมีทั้งหมด 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอดอนตูม อำเภอนครชัยศรี และอำเภอบางเลน แต่ในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 มีผู้เสนอให้พิจารณาอำเภอกำแพงแสนด้วย ซึ่งกรมท่าอากาศยานก็ได้ให้ที่ปรึกษารับไว้พิจารณา

Avatar photo