Economics

‘อยุธยา’ ผุดแผนสร้าง ‘สถานีขนส่ง-ปรับเส้นทางเดินรถโดยสาร’ รองรับไฮสปีด

“อยุธยา” คลอดแผนแม่บทรองรับ “โครงการไฮสปีด-รถไฟฟ้าสายสีแดง” ลุยสร้างสถานีขนส่งประจำจังหวัด ปรับแผนเดินรถโดยสารสาธารณะ พร้อมศึกษาฟีดเดอร์เชื่อมรถไฟฟ้ารังสิต

รถไฟความเร็วสูง จีน2

รายงานข่าวจากกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีให้จัดทำ “แผนแม่บทโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์” เพื่อกำหนดแนวทางการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับการพัฒนาจังหวัดและระบบขนส่งมวลชนในระดับประเทศ

เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2565 และมีการก่อสร้างสถานีอยุธยาด้วย โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 เส้นทางบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา และโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นต้น

รถไฟไทย จีน e1562225901672
ภาพจากกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในช่วง 3 ปีนี้ ระหว่างปี 2562-2564 แผนแม่บทฯ ได้บรรจุโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญไว้หลายโครงการ เช่น “โครงสร้างก่อสร้างสถานีขนส่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา” เนื่องจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังไม่มีสถานีขนส่งขนาดใหญ่ มีเพียงจุดจอดรถย่อยๆ  เช่น ตลาดหัวรอที่เป็นจุดจอดรถตู้โดยสารสาธารณะเชื่อมกับกรุงเทพฯ เป็นต้น

เบื้องต้นสถานีขนส่งแห่งใหม่จะตั้งอยู่บนถนนเอเชีย ห่างจากศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประมาณ 1 กิโลเมตร โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะของบประมาณปีงบประมาณ 2563 เพื่อลงทุนจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างรวม 190 ล้านบาท การก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จากนั้นจะส่งมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นผู้บริหารจัดการและบำรุงรักษา

“ตามแผนจะใช้เวลาสร้างสถานีขนส่ง 2-3 ปี ไม่น่าจะก่อสร้างเสร็จเกินปี 2565 เพราะรถไฟความเร็วสูงจะก่อสร้างเสร็จประมาณปี 2565 เหมือนกัน ต่อไปรถโดยสารสาธารณะทุกหมวดจะต้องมาจอดที่สถานีที่ขนส่ง รถหมวด 1 ที่ให้บริการในเกาะเมืองก็ต้องปรับความถี่และเส้นทางใหม่ให้เชื่อมโยงสถานีขนส่ง สถานีรถไฟ และสถานที่สำคัญ กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวและประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพราะปัจจุบันการเดินทางในอยุธยา 70-80% ใช้รถยนต์ส่วนตัว ทำให้เกิดปัญหารถติดในเกาะเมืองโดยเฉพาะในช่วงวันหยุด” แหล่งข่าวกล่าว

171875

ในแผนแม่บทฯ ยังบรรจุ “โครงการศึกษาเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางหมวด 3 เชื่อมโยงจังหวัดพระนครศรีอยุธยากับโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต” วงเงินงบประมาณ 1.2 ล้านบาท ในปี 2563 เพื่อให้บริการรถโดยสารประจำทางระหว่างสถานีรถไฟฟ้ารังสิตกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สำหรับสถานีรถไฟอยุธยา ที่จะถูกพัฒนาให้รองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงด้วยนั้น เบื้องต้นจะมีการก่อสร้างโครงสร้างใหม่คร่อมสถานีเดิม โดยชั้น 2 จะเป็นห้องจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟความเร็วสูงและชั้นที่ 3 จะเป็นชานชาลารถไฟความเร็วสูง

แต่ปัญหาที่พบคือ ถนนบริเวณหน้าสถานีรถไฟมีเพียง 2 ช่องจราจร จึงมีการหารือว่าจะต้องขยายเพิ่มเป็น 4 ช่องจราจร รวมทั้งจะศึกษาเส้นทางเข้าออกเกาะเมืองใหม่อีก 1 แห่งใกล้กับสถานีรถไฟอยุธยา จากปัจจุบันที่มีทางเข้าออกเกาะเมืองทั้งหมด 3 เส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง

fig 16 04 2019 11 45 54

ขณะเดียวกันแผนแม่บทฯ มี “โครงการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟอยุธยา” วงเงิน 2.7 ล้านบาทในปี 2562 เพื่อพัฒนาลอดจอดรถ และจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารของรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐาน รวมถึงรถสามารถทำความเร็วเฉลี่ยหน้าสถานีรถไฟได้เพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า จังหวัดอยุธยายังอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟอยุธยา (TOD) โดยล่าสุดกำลังหารือถึงขอบเขตการพัฒนาว่า ควรมีรัศมี 2 กิโลเมตรหรือ 5 กิโลเมตรนับจากสถานีรถไฟ รวมถึงรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ เช่น ศูนย์การค้า พื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่สีเขียว ที่พักอาศัย เป็นต้น

 

 

Avatar photo