Startup

เปลี่ยนขยะเป็นเงินทำได้จริงกับสตาร์ทอัพเพื่อสังคม ‘Googreen’

googreen

ทุกวันนี้เชื่อว่า สิ่งที่ทำให้คนไทยรู้สึกไม่สบายใจเป็นอันดับต้น ๆ หนีไม่พ้นภาพของท้องทะเลที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ หนังยาง ซองขนม ฯลฯ และที่น่าสลดใจไปมากกว่านั้นก็คือภาพของสัตว์ทะเลที่กินขยะพลาสติกเข้าไปจนต้องตายในที่สุด และนั่นทำให้หลายคนต้องกลับมาย้อนถามตัวเองว่า แนวคิดด้านการจัดการขยะของบ้านเรานั้นถูกต้องแล้วหรือยัง

หากใครยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนมากพอ เรามีคำตอบจากอีกหนึ่งสตาร์ทอัพอย่าง “Googreen” ที่เริ่มต้นจากการเป็นโซเชียลเอนเทอร์ไพรส์หรือองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมมาฝากกัน โดยผลงานก่อนหน้าของ Googreen คือการพัฒนาธนาคารขยะตามชุมชนและโรงเรียนต่าง ๆ ก่อนจะขยายผลมาสู่การพัฒนาแอพพลิเคชันเพื่อจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม

ฉัตรศนัน มาสว่างไพโรจน์ ผู้ก่อตั้ง Googreen เผยว่า แนวคิดของ Geegreen คือการสร้างวินัยให้คนสามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง โดยมีการจูงใจให้เกิดการแยกขยะผ่านแอพพลิเคชัน ที่ทุกคนสามารถบันทึกได้ว่า ตนเองนำขยะมาฝากเข้ากับโครงการไว้มากแค่ไหนแล้ว และทุกครั้งที่นำมาฝากก็จะได้แต้มกลับไปสะสม เมื่อสะสมแต้มถึงระดับหนึ่งก็จะแลกเป็นเงิน หรือเป็นสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันได้

ปัจจุบัน แนวคิดของ Googreen เริ่มนำไปปรับใช้แล้วกับโรงเรียนบางแห่ง และมีผู้ใช้งานในระบบแล้วประมาณ 600 คน โดยจะมีการขยายผลไปยังชุมชน หรือหมู่บ้านต่าง ๆ เช่น หมู่บ้านของค่ายพฤกษาเพิ่มเติมด้วย ส่วนของแอพพลิเคชันนั้น คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือนหน้า โดยมีทั้งบน iOS และแอนดรอยด์

สำหรับสาเหตุที่นำไปใช้กับโรงเรียนก่อนนั้น ฉัตรศนัน ให้เหตุผลว่า เด็กรุ่นใหม่เก่งเทคโนโลยีมากกว่าผู้ใหญ่เยอะ และทำให้ทีมงานได้เห็นว่าการใช้งานระบบต้องแก้ไขในจุดใดบ้างก่อนจะสเกลไปยังระดับที่ใหญ่กว่านี้

“การจัดการภายในโรงเรียนง่ายมาก เราทำจุดให้เขาดรอปสิ่งของ แล้วก็นัดวันกันว่าเราจะเข้าไปรับขยะเมื่อไร แล้วพอเด็ก ๆ นำขยะมาฝาก ก็บันทึกแต้มให้เด็ก ๆ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือเราพยายามให้มีการแจ้งเตือนไปยังผู้ปกครองด้วย เพื่อให้ผู้ปกครองเห็นคุณค่าว่าขยะที่ลูก ๆ แบกมานั้น มันกลายเป็นรายได้ขึ้นมานะ”

“ถ้าเมื่อไรมีคนแยกขยะสม่ำเสมอ นั่นคือรายได้เราเติบโต ยิ่งตอนนี้มีบริษัทในเยอรมนีติดต่อมา คือเขาเจอสกู๊ปข่าวของเราที่นักข่าวสเปนเคยมาสัมภาษณ์แล้วนำไปเผยแพร่ บริษัทแห่งนี้อ่านเจอแล้วเขาสนใจแนวคิดเรา อยากให้เราจัดหาวัตถุดิบเป็นขวดพลาสติกให้เขา เพื่อที่เขาจะรีไซเคิลไปทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ มันทำให้เราเห็นว่ามันมีความต้องการนะ แล้วแอพพลิเคชันนี้มันสามารถสเกลการจัดเก็บขยะเพื่อมาตอบโจทย์ตรงจุดนี้ได้” ฉัตรศนันกล่าว

สำหรับภาคธุรกิจ ฉัตรศนันเผยว่า มีหลายองค์กรที่สนใจและติดต่อเข้ามาเพื่อให้เธอเข้าไปช่วยจัดการขยะให้เช่นกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เธอบอกว่า จะเข้าไปทำให้ได้ แต่ผู้บริหารต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดบางอย่างเสียก่อน

“ปัญหาคือองค์กรใหญ่ ๆ ของไทยทุกวันนี้เก็บขยะขาย แต่เงินเข้าส่วนกลาง ซึ่งมันลำบากแล้วสำหรับเรา เพราะคุณตั้งจุดคัดแยะขยะมาก็จริง แต่ถามว่ามันจูงใจให้พนักงานแยกขยะได้ทั้งหมดไหม มันไม่ได้ เพราะขยะของเขาไปเป็นรายได้ขององค์กร มันไม่ยุติธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้เราไปต่อไม่ได้ เราต้องเปลี่ยน Mindset ตรงนี้ของผู้บริหารระดับสูงให้เป็นแบบเดียวกันกับเราก่อน คือร่วมกันแก้ปัญหาและแบ่งปันผลประโยชน์ อย่างโรงเรียน เมื่อก่อนภารโรงเขาก็เก็บขยะขาย แต่ครูอาจารย์ตระหนักว่านี่คือการสอนให้เด็กมีวินัย เขาก็บอกภารโรงว่า ไม่ต้องเก็บ เพราะต้องการสอนให้เด็กแยกขยะ แต่ถ้าอันไหนแยกไม่ได้จริง ๆ จึงจะเป็นหน้าที่ของภารโรงไป”

ฉัตรศนัน ยังทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า แนวคิดแบบทุนนิยมในการจัดการขยะคือหนึ่งในตัวการที่ทำให้ท้องทะเลสกปรกแบบทุกวันนี้

“หากแนวคิดในการคัดแยกขยะของหลาย ๆ ฝ่ายยังเป็นแบบนี้ คือเงินเข้าส่วนกลาง ไม่ว่าจะทำอย่างไร องค์กรนั้นก็ไม่สามารถคัดแยกขยะได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือชุมชนต่าง ๆ ถ้าไม่มีการสอนคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง และแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่างที่ควรจะเป็น ผลก็คือ เมื่อมีน้ำท่วม มีภัยพิบัติเกิดขึ้น มันก็พัดขยะที่จัดเก็บได้ไม่หมดลงทะเล ดังนั้น เราต้องอย่าเอาทุนนิยมนำหน้าในการทำงานค่ะ”

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight