Branding

ล้วงลึกความสำเร็จ ‘MUJI’ สร้างแบรนด์แบบ ‘ไร้แบรนด์’

นักการตลาดทั่วไปแล้ว หากอยากจะสร้างแบรนด์สักแบรนด์หนึ่งให้เป็นที่รู้จัก ถูกจดจำจากผู้ใช้ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คงเป็นการนำ “โลโก้” หรือชื่อแบรนด์ไปแปะบนผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นๆ 

เรื่องนี้อาจไม่ใช่กับ MUJI แบรนด์ไลฟ์สไตล์สัญชาติญี่ปุ่น ที่มีสินค้าให้เลือกมากมาย ไล่ไปตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องเขียน เครื่องใช้ภายในบ้าน จนถึงเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน หรือจักรยาน MUJI ก็ยังมีขาย

MUJI1

แต่สิ่งเดียวที่ MUJI ไม่เคยมีเลย สิ่งนั้นคือโลโก้ที่ไปแปะบนสินค้าที่ขายนั่นเอง เพราะพวกเขาเชื่อในความ “ไร้แบรนด์ เรียบง่าย แต่มีอัตลักษณ์ชัดเจน” ซึ่งที่มาของชื่อ MUJ ก็มาจากคำว่า “Mujirushi Ryohin” แปลว่าของดีที่ไม่มียี่ห้อ 

MUJI ก่อตั้งขึ้นโดย เซจิ ซึซูมิ (Seiji Tsutsumi) เมื่อปี 1980 ด้วยแนวคิดต้องการผลิตสินค้าที่มีกระบวนการผลิตเรียบง่าย ต้นทุนต่ำ แต่ได้คุณภาพ ซึ่งไอเดียนี้ก็ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว จนพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ตั้งแต่ปี 1998 ไม่เฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ปัจจุบันบริษัทขยายสาขาไปแล้วเกือบ 1,000 สาขาจาก 28 ประเทศทั่วโลก 

สิ่งนี้ถูกสะท้อนให้เห็นในผลประกอบการของ บริษัท เรียวฮิน เคอิคาขุ ที่เติบโตต่อเนื่องทุกปี

MUJI3

ปี 2015 รายได้ 75,604 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.96% กำไร 6,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14%

ปี 2016 รายได้ 89,338  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.16% กำไร 10,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.42% 

ปี 2017 รายได้ 96,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.37% กำไร 11,119 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.14%

ปี 2018 รายได้ 110,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.88% กำไร 13,155 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.31% 

โดยล่าสุดบริษัท เรียวฮิน เคอิคาขุ มีมูลค่าตลาดสูงถึง 262,653 ล้านบาท

อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของ MUJI ในวันนี้ ?

1. สร้างความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ

ช่วงเริ่มต้นของ MUJI ในญี่ปุ่นมีธุรกิจค้าปลีกเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ทุกแบรนด์ล้วนคล้ายกันหมด คือเน้นทำธุรกิจแบบ “Fast fashion” ด้วยการผลิตมากๆ ราคาถูก เน้นซื้อง่าย ขายเร็ว และทำสงครามราคากันดุเดือด 

เซจิ ซึซูมิ ซึ่งตอนนั้นเป็นประธานห้างสรรพสินค้า เซยู (Seiyu) จึงเกิดไอเดีย อยากจะผลิตสินค้าที่แตกต่างออกไป โดยเน้นสร้างสินค้าคุณภาพดี ใช้งานได้ยาวนาน และเข้ากับทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ในตอนนั้นไม่มีเลยในญี่ปุ่น จนทำให้ MUJI ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องจากช่องว่างตลาดส่วนนี้

muji

2. วิธีคิด Less is More 

ภายใต้ความเรียบง่ายของสินค้า MUJI กลับแฝงไปด้วยวิธีคิดที่ไม่ง่ายเลย เพราะสินค้าทุกตัวถูกออกแบบอย่างพิถีพิถัน โดยดีไซเนอร์ชื่อดังในญี่ปุ่น 

โจทย์ในการคิดสินค้าใหม่ทุกครั้งของ MUJI คือจะต้องเรียบง่าย, ใช้งานได้จริง, ราคาสมเหตุสมผล และมาจากธรรมชาติ ส่วนสีหลักที่ใช้มีเพียงน้ำตาล, ขาว, ดำ, เทา, น้ำเงิน และสีเงินเท่านั้น ทำให้สินค้า MUJI ทุกชิ้นแม้จะไม่มีโลโก้แปะบอก แต่เราก็รับรู้ได้ทันทีว่าของชิ้นนี้มาจาก MUJI

3. Lifestyle คือสิ่งสำคัญ

MUJI Culture คือสิ่งที่ เซจิ ซึซูมิ ต้องการจะสร้าง โดยให้ความสำคัญกับการออกแบบสินค้าเพื่อความสะดวกสบายและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก รวมถึงการรวมเป็นหนึ่งกับวิถีชีวิตของผู้คนแบบลงตัว

MUJI 13.5.15 3

คือสินค้า MUJI ต้องไม่โดดเด่นจนเกินไป แต่สามารถผสมผสานไปได้กับทุกไลฟ์สไตล์ เช่น ถ้าจะออกแบบโซฟาสักตัวหนึ่ง โซฟาตัวนั้นต้องกลมกลืนกับบรรยากาศรอบห้อง และเข้ากับสินค้าแบรนด์อื่นๆ ได้ลงตัวโดยไม่แย่งความโดดเด่นนั่นเอง เพื่อให้สินค้า MUJI ใช้งานได้ในทุกที่บนโลก

ปัจจุบัน MUJI เข้ามาขยายสาขาในไทยแล้ว 17 สาขา และยังคงยึดในแก่นความเรียบง่าย มีประโยชน์หลากหลาย เข้ากับการใช้ชีวิตของทุกคนได้เช่นเดิม ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องธุรกิจแบบง่ายๆ แต่กลับยากที่ใครจะเลียนแบบจริงๆ

Avatar photo