COLUMNISTS

‘ลิบรา’ เงินเอกชนจะผงาดแทนเงินตรารัฐ?

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
3304

เป็นข่าวใหญ่พอๆ กับการประชุมจี20 หรือ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่โอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ “เฟซบุ๊ก” ประกาศจับมือ 27 พันธมิตรออกสกุลเงินดิจิทัลชื่อ “ลิบรา” (Libra) ซึ่งมีความหมายถึงระบบชั่งดวงวัดของโรมัน โดยพันธมิตรที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอเฟซบุ๊ก ชวนมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ล้วนเป็นยักษ์ใหญ่จากแวดวงธุรกิจต่างๆ ของโลก อาทิ ด้านการเงินมี มาสเตอร์การ์ด วีซ่า อีเพย์ เพย์พัล บริการเรียกแท็กซี่ อูเบอร์ ฯลฯ

2019 06 18 image 7

สาเหตุหลักที่ทำให้ลิบราได้รับความสนใจมากกว่าเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ มาจากความพร้อมรอบด้าน

1. ความน่าเชื่อถือของโครงการ พันธมิตรที่จับมือร่วมกันบุกเบิกลิบราเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีมูลค่าธุรกิจไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ทุกรายมีฐานลูกค้าทั่วโลกมากมายมหาศาล เฉพาะเฟซบุ๊กเจ้าเดียวก็มากกว่า 2 พันล้านบัญชีแล้ว โดยพันธมิตรรุ่นก่อตั้ง จะร่วมลงขันรายละ 10 ล้านดอลลาร์เป็นทุนประเดิม และในอนาคตยังมีแผนชวนผู้สนใจรายใหม่ๆ เข้าร่วมอีกด้วย

2. ด้านการบริหารจัดการ เฟซบุ๊กตั้ง “สมาคมลิบรา” เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ขึ้นมาขับเคลื่อนลิบรา เพื่อยืนยันลิบราเป็นของทุกคน ไม่ใช่ของเฟซบุ๊กแม้จะเป็นผู้เริ่มก็ตาม

3. เสถียรภาพของลิบรา เฟซบุ๊กออกแบบให้ลิบรามีระบบทุนสำรองเงินหนุนหลัง เป็นสินทรัพย์ที่รัฐบาลต่างๆ ให้การรับรอง เช่นเดียวกับเงินตราของประเทศต่างๆทั่วไปที่อิงกับเงินตราสกุลหลักๆ ของโลก ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ซึ่งเป็นหลักประกันว่า ลิบราจะไม่สวิงสุดเหวี่ยงเหมือนเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ

4. การใช้งาน เฟซบุ๊กพัฒนา “คาลิบรา วอลเล็ต” หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์สำหรับจัดเก็บ และแลกเปลี่ยนเงิน โดยไม่ต้องผ่านแบงก์ ธุรกรรมที่เกิดไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่มีค่าใช้จ่ายจากอัตราแลกเปลี่ยน เรียกว่าใครมีสมาร์ทโฟน และบัญชีเฟซบุ๊กสามารถใช้ลิบราได้เลย โดยไม่ต้องมีบัญชีแบงก์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดขายลิบรา ที่เฟซบุ๊กนำเสนอ

ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่า การปรากฏตัวของลิบรา ที่มาพร้อมระบบการเงินใหม่ผ่านเครือข่ายโซเชียล โดยมี บล็อกเชน เป็นหลังบ้าน จะส่งแรงกระแทกถึงอุตสาหกรรมแบงก์อย่างรุนแรงอีกระลอก โดยเฉพาะธุรกรรมชำระเงิน และโอนเงินข้ามพรมแดน เพราะภายใต้ระบบลิบรา ไม่มีค่าใช้จ่ายและทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ผลกระทบที่น่าสนใจกว่าคือผลกระทบต่อระบบการเงินของรัฐ

นับจากลิบราเปิดตัว รัฐบาลหลายประเทศตั้งข้อสงสัย ต่อแผนการของเฟซบุ๊ก และธนาคารกลางหลายประเทศ เชิญตัวแทนเฟซบุ๊กเข้าให้ข้อมูลเป็นการด่วน โดยสื่อรายงานว่า  บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีคลัง ฝรั่งเศส ออกมายืนกรานว่า มีเพียงรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ที่สามารถออกสกุลเงินมาใช้ในขอบเขตอำนาจอธิปไตย

libras 1

พร้อมกันนั้น รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศส ยังได้ร้องขอให้ธนาคารกลางของประเทศกลุ่ม จี 7 ให้เร่งจัดทำ รายงานให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้ว่า จะทำอย่างไรถึงจะกำหนดมาตรการหลักประกัน เพื่อความมั่นใจว่าลิบรา จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภคและไม่กลายเป็นช่องทางฟอกเงินของพวกนอกกฎหมาย

ในทางกฎหมาย หากลิบราไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น เงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ลิบราจะมีสภาพเป็นสกุลเงินเถื่อน การใช้ต้องแอบใช้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้โดยตรง แต่ถ้ากฎหมายยอมรับ ลิบรา จะถูกควบคุมโดยกฎหมายของประเทศนั้นๆ ฉะนั้นโอกาสที่ลิบราจะผงาดขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักเหมือนดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดการณ์ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

แต่ในมุมมองของ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้เชี่ยวชาญ บิทคอยน์ และบล็อกเชนพูดใน สุทธิชัย LIVE ซึ่งเชื่อในกระบวนการพัฒนาของระบบการเงินโลกว่าจะเปลี่ยนทุกๆ 50 ปี ฟันธงว่าในอนาคตรัฐบาลทั่วโลกจะออกดิจิทัล เคอเรนซี มาแทนเงินกระดาษที่ใช้ปัจจุบัน

ในท้ายที่สุดลิบราที่ออกโดยเอกชน จะผงาดขึ้นมาเป็นเงินสกุลหลักของโลกแทนที่ดอลลาร์เป็นอยู่เวลานี้ และเป็นจุดสิ้นสุดของยุคเงินตราประจำชาติที่ใช้มานับร้อยปี หรือ จะเป็นเพียงสกุลเงินเสริม และต้องอยู่ภายใต้รัฐต่อไป คำตอบคงปรากฏในไม่ช้า