Business

‘พลาสติกแห่งอนาคต’ จีซี สร้างอีโคซิสเต็ม เพิ่มมูลค่าขยะพลาสติก-นำกลับมาใช้ใหม่

ปัญหาขยะพลาสติกปีละ 2 ล้านตัน และทำให้ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกที่มีปัญหาขยะพลาสติกสูงสุด ซึ่งในจำนวนนี้ 5  แสนตันเป็นขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้คือ พฤติกรรมการทิ้งขยะ ที่ยังไม่มีการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง และการขาดการนำมารีไซเคิลอย่างจริงจัง นำมาซึ่งปัญหาทั้งระดับจุลภาคและระดับมหภาค

IMGL0421

บริษ้ท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ในฐานะบริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่ และมีส่วนร่วมในการผลิตพลาสติกที่กำลังสร้างปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ทราบดีว่า การยกเลิกการใช้พลาสติกเป็นเรื่องยาก และปิโตรเคมีที่นำมาผลิตพลาสติกเป็นทรัพยากรที่สามารถหมดไปได้ ดังนั้นแนวทางที่ดีที่สุดคือ การนำพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการสร้างระบบอีโคซิสเต็มเพื่อนำพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่

ล่าสุด จีซี ได้จัดงานประชุม Circular Living Symposium 2019: Upcycling Our Planet ร่วมกับ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เพื่อจุดประกายความคิดในการมีส่วนร่วมเพื่อปกป้องอนาคตของโลกใบนี้ร่วมกัน ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน (GC Circular Living) โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรีไซเคิลขยะพลาสติกกว่า 40 คน ที่เป็นตัวจริงด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนมาร่วมให้ความรู้ แชร์ประสบการณ์และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน

1 สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี กล่าวในงานประชุมดังกล่าวว่า ทรัพยากรเป็นสิ่งที่มีจำนวนจำกัด จึงจำเป็นต้องใช้อย่างชาญฉลาด ซึ่งการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีทรัพยากรเหลือพอที่จะส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

“จีซีในฐานะบริษัทปิโตรเคมี เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับความรู้ความเข้าใจของภาคประชาชน ให้เข้าใจถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า และเลือกแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้โดยเริ่มจากระดับองค์กรแล้ว และจะขยายผลออกไปสู่ภายนอก เน้นการให้ความรู้ถึงการใช้พลาสติกอย่างมีคุณค่า อย่าทำให้เป็นขยะ แต่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ใช้ประโยชน์ได้”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ก่อนหน้านี้ จีซีได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำขยะที่อยู่ในทะเลกลับมาใช้ใหม่โดยผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ขยะพลาสติก สามารถนำมาผลิตใหม่เพื่อสร้างคุณค่าและนำกลับไปใช้ใหม่ได้ นั่นหมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดมากขึ้นด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

2 สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา

 

“หลังจากงานประชุมครั้งนี้ เชื่อว่าจะสร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนโลก โดยเฉพาะการจุดประกายครั้งใหม่ของความร่วมมือของคนไทยทุกๆคนที่จะเปลี่ยนวิกฤต ซึ่งการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก จำเป็นต้องอาศัยพลังของคนไทยทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ และทุกๆ คน เพื่อพลิกตัวเองจากผู้สร้างปัญหาเป็นผู้แก้ปัญหา ด้วยการนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ด้าน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีขยะทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญ โดยที่ผ่านมาภาครัฐภาคเอกชนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาขยะทะเลโดยเฉพาะขยะพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาของโลก เป็นปัญหาระดับภูมิภาค และเป็นปัญหาของประเทศ

“หลายคนสงสัยว่าขยะทะเลมันจะมาเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตคน เหตุการณ์ปลาวาฬนำร่องขนาดใหญ่ที่มาตายในประเทศไทย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งผ่าท้องปลาวาฬดูก็พบว่าในนั้นมีขยะที่เป็นถุงพลาสติกทั้งหมด 85 ใบน้ำหนักรวมกัน 8 กิโลกรัม ซึ่งพลาสติกชิ้นใหญ่ใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 400-500 ปี ดังนั้นจะบอกว่าปัญหาขยะทะเลจะไม่เกี่ยวกับคนคงไม่ได้ เพราะคนเป็นผู้ทิ้งขยะลงทะเล”ดร.วิจารย์กล่าว

27374

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปริมาณขยะพลาสติกถึงปีละ 2 ล้านตันแต่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ประมาณ 5 แสนตัน จึงเหลืออยู่ประมาณ 1.5 ล้านตัน ที่ส่วนหนึ่งนำไปฝังกลบซึ่งย่อยสลายได้ยากและใช้เวลานาน และอีกส่วนหนึ่งถูกทิ้งลงสู่แม่น้ำ ไหลลงสู่ทะเล ดังนั้น หากนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ได้ จะเป็นทั้งการลดปริมาณขยะที่ก่อปัญหาให้โลก และยังเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่ามากขึ้นอีกด้วย

“ถามว่าเราปฏิเสธพลาสติกได้ไหมในชีวิตประจำวัน ต้องตอบเลยว่าไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดเราจะใช้พลาสติกและคุ้มค่าได้อย่างไร จะนำขยะพลาสติก 1.5 ล้านตัน กลับมาใช้ซ้ำได้อย่างไร”ดร.วิจารย์กล่าว

ในส่วนของภาครัฐ ได้ให้ความสำคัญกับขยะพลาสติก โดยคณะการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการจัดการขยะพลาสติกขึ้นเพื่อทำงานร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก และสร้างโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ โดยเฉพาะพลาสติกชนิดที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use Plastic) 7 ชนิด พร้อมทั้งวางเป้าหมายปี 2565 จะเลิกใช้ถุงพลาสติกชนิดบางขนาดเล็กกว่า 36 ไมครอน ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

27376

 

 

ขณะเดียวกันการลดพลาสติก ต้องทำควบคู่กันไป 3r ได้แก่ Reduce การลดการใช้ reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่ ซึ่งการกำจัดขยะพลาสติก ต้องทำตั้งแต่ต้นทางคือ ลดการใช้ จนถึงปลายทางคือ การคัดแยกถูกวิธีเพื่อนำกลับไปผลิตใหม่ได้ง่ายขึ้น

ในระบบอีโคซิสเต็มของเศรษฐกิจหมุนเวียน จะประกอบไปด้วยตั้งแต่ต้นน้ำคือผู้ใช้พลาสติกและก่อให้เกิดขยะเมื่อทิ้ง ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือการแยกขยะแต่ละประเภทให้ถูกวิธี เพื่อให้สามารถนำเข้าสู่กระบวนการกลางน้ำได้ง่ายขึ้น นั่นคือ การนำขยะที่ได้มาคัดแยก บีบอัด แปรสภาพ ซึ่งสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าได้หลายอย่าง เช่น การนำไปผลิตสารปรับปรุงดินหรือปุ๋ยอินทรีย์ ในกรณีขยะที่เป็นอินทรีย์ย่อยสลายได้ เช่น ผัก อาหาร ส่วนขยะพลาสติกจะถูกนำกลับไปแปรรูปเป็นพลาสติกชิ้นเล็ก ทำความสะอาด เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้งซึ่งเป็นปลายน้ำและจะวนลูปต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เป็นการลดใช้ทรัพยากรใหม่ๆ ได้นั่นเอง

 

 

Avatar photo