Business

พลิกดีล ‘AOT – King Power’ สัมปทานกว่า 2 แสนล้าน ดันธุรกิจโต 10 ปี 

ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีปรากฏการณ์ ที่น่าสนใจมากเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทย เมื่อดัชนี SET กลับไปยืนเหนือระด้บ 1,700 จุด ได้อีกครั้งในวันที่ 19 มิถุนายน 2562 ด้วยมูลค่าการซื้อ-ขายหนาแน่นกว่า 107,550 ล้านบาท 

สำหรับปัจจัยสำคัญที่หลายคนมองกันคงหนีไม่พ้น เรื่องราคาของหุ้น AOT หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)  หากย้อนไปวันนั้น ราคาหุ้น AOT ปิดตลาดพุ่งสูงถึง 8.46% ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 23,510 ล้านบาท 

Logo AOT

ถามว่ามูลค่าที่ว่ามากมายขนาดไหน ก็ต้องบอกว่าสูงมากๆ เพราะคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของทั้งตลาดวันนั้นเลย ที่สำคัญคือทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของ AOT ขึ้นไปทะลุ 1 ล้านล้านบาทได้สำเร็จ 

สาเหตุที่มูลค่า AOT พุ่งไปขนาดนั้น ก็มาจากผลการคัดเลือกผู้ประกอบการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร หรือ Duty Free สนามบินสุวรรณภูมิ  สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่ ซึ่ง “King Power” เป็นผู้ชนะทั้งหมด 

เรื่องนี้สำคัญอย่างไร ทำไมถึงส่งผลต่อ AOT ขนาดนั้น คำตอบก็คือ มูลค่าผลตอบแทนที่ King Power จ่ายให้ AOT ครั้งนี้สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก โดยในปีแรก AOT จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 23,548 ล้านบาท และปรับขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป 

เปิดผลตอบแทนที่ King Power จ่ายให้ AOT

AOT4

King Power เสนอผลตอบแทนรวมปีละ 23,548 ล้านบาท ให้กับ AOT ตลอดระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 – 31 มีนาคม 2574 แบ่งเป็นดังนี้

1.ส่วนแบ่ง 20% จากยอดขาย (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) และมีขั้นต่ำ 15,419 ล้านบาทต่อปี สำหรับสิทธิ์ประกอบการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร สนามบินสุวรรณภูมิ

2.ส่วนแบ่ง 20% จากยอดขาย (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) และมีขั้นต่ำ 2,331 ล้านบาทต่อปี สำหรับสิทธิ์ประกอบการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร 3 สนามบินภูมิภาค ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่

3.ส่วนแบ่ง 15% จากผลประโยชน์ตอบแทน (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) และมีขั้นต่ำ 5,798 ล้านบาทต่อปี สำหรับสิทธิ์บริการจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร สนามบินสุวรรณภูมิ

แปลว่าตลอดอายุสัมปทาน 10 ปี 6 เดือน AOT จะได้รับเงินจาก King Power รวมแล้วกว่า 2.4 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นตัวเลขนี้จึงเป็นแรงบวกที่ส่งผลให้หุ้น AOT พุ่งกระฉูดจนหยุดไม่อยู่อย่างที่เราได้เห็นกัน 

อย่างที่บอกคือมูลค่าข้างต้นถือว่า สูงกว่าตัวเลขเดิมที่ AOT เคยได้รับอย่างมาก เพราะสัญญาเดิมมียอดเรียกเก็บขั้นต่ำราว 7,575 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น นั่นหมายความว่าจะทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มมากกว่าปีละ 20% เลยทีเดียว 

สำรวจโครงสร้างรายได้ AOT

AOT5

ปัจจุบัน AOT เป็นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานหลักๆ ในประเทศไทย โดยเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการเติบโตอย่างมั่นคงต่อเนื่อง 

ปี 2558 รายได้ 45,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.09% กำไรสุทธิ 18,728 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.16%

ปี 2559 รายได้ 52,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.31% กำไรสุทธิ 19,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.50% 

ปี 2560 รายได้ 56,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.50% กำไรสุทธิ 20,683 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.68% 

ปี 2561 รายได้ 62,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.50% กำไรสุทธิ 25,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.69%

ทั้งนี้ ล่าสุดในปี 2561 บริษัทมีสัดส่วนรายได้แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

AOT6

1.รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 33,986 ล้านบาท คิดเป็น 54.70%

2.รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 26,551 ล้านบาท คิดเป็น 42.73%

3.รายได้อื่นๆ 1,598 ล้านบาท คิดเป็น 2.57%

สำหรับค่าสัมปทาน Duty Free อยู่ในส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน แน่นอนว่าจากผลตอบแทนที่สูงขึ้นแบบนี้ ย่อมทำให้งวดปี 2562 AOT จะสามารถบุ๊ครายได้ส่วนนี้สูงขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยและส่งผลบวกให้ AOT เติบโตต่อเนื่องได้อีกเป็น 10 ปีแน่นอน 

Avatar photo