Economics

คนกรุงเฮ! ครม.ไฟเขียวแผนฟื้นฟู ‘ขสมก.’ ถึงเวลาลุยจัดหารถเมล์ใหม่ 3,000 คัน

ครม. ไฟเขียว “แผนฟื้นฟู ขสมก.” หลังใช้เวลาร่างพิมพ์เขียวมาร่วม 5 ปี จากนี้ลุยจัดหารถเมล์ใหม่ให้คนกรุง 3 พันคัน เปิดโครงการสมัครใจจากพนักงาน 5 พันคน ตั้งเป้าปี 66 อีบิทดาเริ่มเป็นบวก ส่วนปี 67 เตรียมชงขอขึ้นค่าโดยสารอีก 1 บาทต่อเที่ยว

DSC 0593
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2566 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้ ขสมก. ใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

สำหรับปัญหาหลักของ ขสมก. ในขณะนี้คือ รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) มีสภาพเก่า ทรุดโทรม ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยี โครงสร้างองค์กรมีขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เชื้อเพลิง ค่าเหมาซ่อม และดอกเบี้ยจ่ายมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง และมีภาระหนี้สะสมทั้งหมด 1.2 แสนล้านบาท

fig 25 06 2019 09 54 33

จัดหารถเมล์ใหม่ 3 พันคัน

นายอาคมกล่าวต่อว่า ในแผนฟื้นฟูได้กำหนดแนวทางดำเนินการทั้งหมด 5 ด้าน เพื่อทำให้ ขสมก. เป็นองค์กรที่เลี้ยงตัวเองได้ มีสภาพคล่องที่ดี แก้ปัญหาหนี้สินได้อย่างยั่งยืน รวมถึงมีบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น

แนวทางที่ 1 ขสมก. ต้องดำเนินการจัดหารถเมล์ใหม่และปรับปรุงรถเมล์เก่าจำนวน 3,000 คัน เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจและหารายได้ รวมถึงนำมาทดแทนรถเมล์เก่าเพื่อปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น ประกอบด้วย

  • โครงการปรับปรุงรถเมล์เก่าจำนวน 323 คัน วงเงิน 138 ล้านบาท
  • โครงการเช่ารถเมล์ใหม่จำนวน 700 คัน แบ่งเป็นรถเมล์ไฮบริด 400 คันและรถเมล์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 300 คัน
  • โครงการจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า (EV) จำนวน 35 คัน
  • โครงการจัดซื้อรถเมล์ไฮบริดจำนวน 1,453 คัน
  • โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 489 คัน ซึ่งเป็นโครงการเดียวที่ดำเนินการเสร็จแล้ว

fig 25 06 2019 09 54 10

อย่างไรก็ตาม ขสมก. ยังไม่สามารถดำเนินการจัดหารถเมล์ใหม่ได้ทันที เพราะต้องขอแก้ไขมติ ครม. เรื่องการอนุมัติให้จัดหารถเมล์จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,000 ล้านบาท เหลือให้เพียง 3,000 คันตามแผนฟื้นฟูก่อน

โดย ขสมก. จะเสนอเรื่องขอแก้ไขมติ ครม. ฉบับดังกล่าวให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและ ครม. พิจารณาตามลำดับ จากนั้นจะเสนอโครงการจัดหารถเมล์ใหม่ตามแผนฟื้นฟูให้ ครม. พิจารณาอนุมัติเป็นรายโครงการและคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลได้ในปี 2562

“ตามแผนฟื้นฟู ในเดือนมิถุนายน 2563 ขสมก. จะจัดหารถเมล์ใหม่มาวิ่งได้ทั้งหมด 1,058 คัน ประกอบด้วย การปรับปรุงรถเมล์ใหม่ 323 คัน, การเช่ารถเมล์ไฮบริดและรถเมล์เอ็นจีวี 700 คัน และการจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า 35 คัน ซึ่งก็คิดเป็นครึ่งหนึ่งของแผนฟื้นฟูแล้ว จากนั้นจะจัดซื้อรถเมล์ไฮบริดอีก 700 คันในปี 2564 และอีก 753 คันในปี 2565 ส่วนโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ 489 คันนั้นดำเนินการแล้วเสร็จและรับรถหมดแล้ว” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ ขสมก. ต้องนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาใช้ภายในองค์กรมากขึ้น เช่น ระบบอี-ทิคเก็ต, ระบบจีพีเอส, ไวไฟบนรถเมล์ เป็นต้น

รถเมล์ 2

ตั้งคณะทำงานเคลียร์หนี้ 1.2 แสนล้านบาท

นายอาคมกล่าวต่อว่า แนวทางที่ 2 ดำเนินการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถ ด้วยการยื่นขอใบอนุญาตเส้นทางการเดินรถจำนวน 137 เส้นทางต่อกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุครั้งละ 7 ปี

แนวทางที่ 3 ปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับมากขึ้นด้วยการลดพนักงานที่มีกว่า 13,000 คน ให้เหลือประมาณ 8,000 คน หลังจากนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้แล้ว

โดย ขสมก. จะเปิดโครงการสมัครใจพนักงาน (Early Retirement) รวมทั้งหมด 5,051 คน วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 เฟส ได้แก่  ปี 2563 จำนวน 655 คน, ปี 2564 จำนวน 2,198 คน และปี 2565 จำนวน 2,198 คน ส่งผลให้อัตราส่วนพนักงานต่อรถ 1 คน ลดลงจาก 5.14 คน เหลือ 2.7 คน

แนวทางที่ 5 บริหารหนี้สินสะสมที่มีกว่า 1.2 แสนล้านบาท โดยกระทรวงการคลังและ ขสมก. จะตั้งคณะกรรมการแจกแจงสาเหตุของหนี้สิน จากนั้นรัฐบาลและกระทรวงการคลังจะพิจารณารับภาระหนี้ที่เกิดจากนโยบายค่าโดยสารซึ่งคิดเป็น 80% ของภาระหนี้สินสะสมทั้งหมด ส่วน ขสมก. จะเป็นผู้รับภาระหนี้สินที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพประมาณ 20%

รถเมล์ 1

ปี 67 ขอขึ้นค่าโดยสารอีก 1 บาท

นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยว่า ขสมก. ได้ร่างแผนฟื้นฟูฉบับนี้มานาน 5 ปี ซึ่งในที่สุด ครม. ก็ได้ให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูองค์กรตามที่เสนอ

โดยเมื่อสิ้นสุดแผนฟื้นฟูในปี 2566 ขสมก. จะเริ่มมีสภาพคล่องดีขึ้น มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) เป็นบวกและมีผลขาดทุนน้อยลง

สำหรับการลงทุนตามแผนฟื้นฟูนั้น ขสมก. จะนำรายได้จากค่าโดยสารมาจ่ายค่าเช่ารถเมล์ รวมถึงจะกู้เงินมาดำเนินโครงการจัดซื้อรถเมล์ใหม่และโครงการสมัครใจจาก คิดเป็นหนี้สินใหม่ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่ง ขสมก. จะชำระหนี้สินครบทั้งหมดในปี 2588

DSC 0603
ประยูร ช่วยแก้ว รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวชนกรุงเทพ

“แผนฟื้นฟู ขสมก. อ้างอิงรายได้จากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอนุมัติกรอบราคาไว้เมื่อปลายปี 2561 ในระหว่าง 5 ปีนี้จะไม่มีการปรับขึ้นราคา แต่เมื่อถึงปี 2567 จะมีการขอปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 1 ครั้ง ในอัตรา 1 บาทต่อเที่ยว” นายประยูรกล่าว

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ฐานะการเงินของ ขสมก. ตามแผนฟื้นฟูฉบับนี้ จะอยู่บนเงื่อนไขเรื่องอัตราค่าโดยสารด้วย เพราะฉะนั้นฐานะการเงิน ขสมก. จะเป็นไปตามแผนหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายเรื่องอัตราค่าโดยสารของรัฐบาลใหม่ด้วย

Avatar photo