Economics

ปตท.เตรียมตั้ง ‘PTT Accelerate’ ดึงงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

ปตท.เร่งเครื่องนวัตกรรม ผ่านธุรกิจเทคโนโลยี และวิศวกรรม เตรียมตั้งบริษัท PTT  Accelerate จับมือมหาวิทยาลัย ดึงงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เกาะ 5 เมกะเทรนด์ ตอบโจทย์โลกอนาคต ย้ำพร้อมฉีกธุรกิจใหม่ออกนอกกิจการน้ำมันและก๊าซฯ เพื่อป้องกันถูก Disrupt สร้างการเติบโต 

37498

“เราไม่อยากถูก Disrupt แต่ต้องการไป Disrupt มากกว่า”  วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี และวิศวกรรม บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน)  เกริ่นนำ เพื่อบอกเป้าหมาย ทำให้ปตท.ตั้งธุรกิจเทคโนโลยี และวิศวกรรมมาเมื่อราว 2 ปีก่อน เพื่อมุ่งในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ทั้งที่ต่อเนื่องจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงที่จะฉีกแนวออกไป เป็น New Business S-Curves

เป็นเหตุผลสำคัญที่คณะกรรมการบริษัทปตท.เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2562 อนุมัติเพิ่มงบปี 2562 ในธุรกิจเทคโนโลยีวิศวกรรม จากเดิม 6,737 ล้านบาท เป็น 41,175 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นถึง 34,438 ล้านบาท

เขา ย้ำว่า เราจะโฟกัส 5 เมกะเทรนด์ ประกอบด้วย 1.การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมสู่ยุคดิจิทัล และการอพยพย้ายถิ่นสู่เมืองมากขึ้น ซึ่งต้องการระบบขนส่งสาธารณะในเมืองที่สมบูรณ์ 2.สังคมสูงวัย 3.เทคโนโลยีใหม่ที่จะมาช่วยสนับสนุนการทำงานของภาคธุรกิจ เช่น หุ่นยนต์ (Robot) บล็อกเชน (Blockchain) เป็นต้น 4.นวัตกรรมยานยนต์ และ 5.แรงกดดันจากทรัพยากรที่มีเหลือน้อยลง ซึ่งจะทำให้เกิดโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในภาคพลังงาน น้ำ ที่ดิน เป็นต้น

“เราตั้งคำถามเหมือนกันในการหานวัตกรรม เพื่อเป็นธุรกิจใหม่ของปตท. ตอนแรกๆผู้บริหาร ต้องการหาธุรกิจที่เกาะเกี่ยวกับธุรกิจน้ำมันและก๊าซฯ แต่ตอนหลังมานี้ไม่จำเป็น เราสามารถฉีกแนวออกไปจากธุรกิจเดิม ”

258

กลไกในการทำงานของปตท.คือ “สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. “ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งก็ปรับบทบาทมาตามลำดับ จากศูนย์วิจัยและพัฒนา ในระยะแรก เน้นเพิ่มขีดความสามารถในสาขาปิโตรเลียม และปิโตรเคมีเท่านั้น  ขยายขอบเขตไปถึงการติดตามและคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยมีกว่า 500 ผลิตภัณฑ์แล้ว ที่ออกมาจากมันสมองของนักวิจัยจากสถาบันแห่งนี้ วิทวัส ย้ำว่า หยุดไม่ได้ สถาบันฯกำลังถูกปรับเปลี่ยนอีก เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนองค์กรของปตท.

“ สถาบันวิจัยฯจะต้องปรับบทบาทใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัย เป็นศูนย์กลางในการพัฒนางานวิจัย ที่เคยอยู่บนหิ้งให้มาตอบโจทย์อุตสาหกรรม และปัญหาสังคมทั้งหมด ทำเป็นตัวอย่างของประเทศ ”

ที่จะทำไปพร้อมกัน ก็คือ ตั้ง บริษัท PTT  Accelerate หรือเรียกง่ายๆว่า บริษัทหิ้งสู่ห้าง ขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย นับสิบแห่ง เพื่อนำงานวิจัยต่างๆออกมาสู่การผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง ซึ่งจะทำให้เกิดในปีนี้

“ When NOTHING is CERTAIN anything is POSSIBLE  ,The OPPOSITE of success isn’t FAILURE it’s INACTION “ คือ หลักที่วิทวัส ยกขึ้นมาผลักดันให้ทุกคนเห็น

37499

แต่เขาก็ย้ำ ไม่ใช่ปตท.จะเลิกทำน้ำมัน และก๊าซฯไปเลย เพราะจุดกำเนิดเรามาจากตรงนั้น ยังเป็นภารกิจที่ปตท.ต้องทำต่อไปในการจัดหาพลังงานให้ประเทศอย่างเพียงพอ ไม่ขาด เพราะบางอย่างจะไปเป็นไฟฟ้า ก็คงยังต้องใช้เวลา เช่น เครื่องบินยังต้องใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนอีกนาน ไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้ในระยะเวลากันใกล้

เพียงแต่จะฉีกไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและก๊าซฯมากขึ้น และที่จะเห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ในอีกไม่นานจากนี้ ก็คือ แบตเตอร์รี่ลิเทียม-ซัลเฟอร์ แบตเตอร์รี่ตระกูลใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักวิจัยทั่วโลก เพื่อใช้งานแทนแบตเตอร์รี่ไอออนที่ใช้งานอยู่เดิม เพื่อเพิ่มความจุพลังงานต่อน้ำหนัก และต่อปริมาตร หมายถึงน้ำหนันเบา มีประสิทธิภาพในการบรรจุพลังงานได้มากขึ้น และในราคาที่ถูกลง

วิทวัส บอกว่า แบตเตอร์รี่คือหัวใจของโลกยุคใหม่ ทั้งพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็น ลม หรือโซลาร์เซลล์ และยานยนต์ไฟฟ้า เราจึงต้องการมุ่งไปตรงนี้ เริ่มต้นได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากกระทรวงพลังงาน เป็นโครงการที่ลงทุนไปแล้วรวม 150 ล้านบาท คาดว่าไม่เกิน 3 ปีจากนี้ จะได้เห็นการจับมือกับพันธมิตรผลิตเชิงพาณิชย์ จับตลาดทั้งภายในประเทศ และส่งออก

หากแกะกลยุทธ์ของปตท.แล้ว ก็ไม่แตกต่างจากบริษัทใหญ่อื่นๆที่จะใช้สตาร์ทอัพเป็นตัวขับเคลื่อนร่วมด้วย วิทวัส บอกว่า  ตอนนี้ปตท.ลงทุนตรงไปในสตาร์ทอัพ 2 ราย คือ บริษัทบาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็น สตาร์ทอัพ Property Tech นำ Big Data มาใช้งาน รวมข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรมาบริการลูกค้า  และสตาร์ทอัพโดรนเพื่อการเกษตร ใช้โดรนในการพ่นยาฆ่าแมลง

ppp

เป็นสัญญาณว่าปตท.ไม่ได้ทำงานเพียงลำพังอีกต่อไป ยังร่วมมือกับเครือข่ายหลายแขนง ผู้กุมบังเหียนงานเทคโนโลยีของปตท. เล่าว่า ตอนนี้ปตท.ยังทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย เพื่อรวบข้อมูลภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดมาไว้ที่เดียว อำนวยความสะดวกในการจับคู่ระหว่างธุรกิจ เช่น  อนาคตใครจะเปิดโรงงาน ต้องการใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะ ก็สามารถเข้ามาในแพลตฟอร์มนี้ เพียงแค่คีย์เข้าไปก็จะหาได้เลยว่าใครเป็นกูรูเรื่องที่ต้องการ เราจะเรียกมันว่า CORE หรือ Center Of Robotic Excellence เป็นโครงสร้างหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีเราเข้าไปช่วย

ที่จะทำไปพร้อมกัน ก็คือ จะตั้ง บริษัท PTT  Accelerate หรือเรียกง่ายๆว่า บริษัทหิ้งสู่ห้าง ขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อนำงานวิจัยต่างๆออกมาสู่การผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง ที่น่าจะทำให้เกิดในปีนี้

Agile  คือ เป็นแนวทางที่วิทวัส เอ่ยถึงอย่างหนักแน่น ที่จะทำให้สิ่งที่ปตท.คิดประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแค่นั่งมอง ตั้งคำถาม และวิจารณ์ แต่บุคลากรพร้อมเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน โดยเฉพาะผู้บริหาร เขาบอกว่า การจะนำนวัตกรรมมา ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ ขายได้ ต้องมี sense of ownership  ซึ่งเรามีแนวคิดจะดึกำลังคนจากธุรกิจต่างๆ มา pool ไว้ที่บริษัทนี้ เพื่อคิดนวัตกรรมใหม่ๆด้วยกัน เมื่อเกิดแล้วก็ส่งกลับไปสังกัดเดิม แต่ก็ไม่ง่าย เพราะต้องมีแรงจูงใจมากพอ จึงต้องคิดหาวิธีการที่เหมาะสม

นอกจากสถาบันวิจัยฯ แล้ว ปตท.ก็กำลังไปขึ้นรูปงานนวัตกรรมที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) วังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ซึ่งจะเป็นพื้นที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆในระดับประเทศ รองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)  ขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม

S 54722569

ปตท.มีความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และอยู่ระหว่างการดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกให้เข้ามาใช้พื้นที่กว่า 3,000 ไร่ พร้อมกับเปิดให้เป็น Sandbox ทดสอบวิจัย เพื่อลองผิดลองถูกก่อนออกไปใช้งานจริง เช่น 5G ที่ดึงหัวเว่ย เข้ามาเป็นพันธมิตร

“4G มีข้อจำกัด ใช้กับ Autonomous อย่างยานยนต์ไร้คนขับไม่ได้ ต้องเป็น 5G  แม้ใช้งานทั่วไป จะโหลดอะไรสักอย่าง ใช้ 4G ใช้เวลาเป็นนาทีๆ แต่ 5G แค่ดีดนิ้วก็เสร็จ เมื่อตอบโจทย์ได้มากกว่า ทำไมเราจะไม่ทำให้ 5G เกิดขึ้นในประเทศให้ได้เร็วขึ้น “ วิทวัส ย้ำ

กลยุทธ์หลักของปตท.ที่วิทวัส บอกว่าจะเกาะเกี่ยวไป มีทั้งนวัตกรรมเพื่อมาช่วยในการบริหารจัดการ เช่น งานธุรกรรมชำระเงินระหว่างประเทศ ( L/C ) บน R3 Enterprise Blockchain Platform  การนำบล็อกเชนมาใช้กับหนังสือค้ำประกันเชิงพาณิชย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bank Guarantee) เป็นต้น  และการสร้างนวัตกรรมใหม่เป็นธุรกิจใหม่

โดยนำ Pain Point มาเป็นโจทย์ และ หา Silver Bullet ว่าอะไรที่ทำให้เกิด Disruption ในธุรกิจนั้น และเอาออกมา เพื่อให้เราตั้งโจทย์ได้ถูก ทั้งหมดเพื่อไม่ให้ปตท.ถูก Disrupt และหาโอกาสในการสร้างธุรกิจใหม่ แล้วจะไปได้ถูกทางได้อย่างไร วิทวัส บอกอย่างภูมิใจว่า ทีม Express Solutions (ExpresSo) เป็นคนรุ่นใหม่ของปตท. ที่เราให้ติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆบนโลกใบนี้ และมองนวัตกรรมที่จะมาเป็นธุรกิจใหม่ของปตท.ในอนาคต ส่วนงบประมาณที่เป็นหัวใจของการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายพอๆกับบุคลากร วิทวัส บอกว่า งบวิจัยและพัฒนาของปตท.ต่อผลกำไรสุทธิต้องมากขึ้น ตอนนี้อยู่ที่ 1% ต้องไปให้ถึง 3% เหมือนกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก

Avatar photo