Business

ลุ้น! ‘3 ทีมสุดท้าย’ คนรุ่นใหม่แข่งสร้างโมเดลจัดการขยะ นำร่องที่ ‘คุ้งบางกระเจ้า’

แข่งสร้างโมเดลจัดการขยะ “Waste Runner 100 Days Challenge” เหลือ 3 ทีมสุดท้าย ลุยนำร่องลองโมเดลบนพื้นที่ “คุ้งบางกระเจ้า” กรรมการชี้โมเดลต้องยั่งยืนและสอดคล้องวิถีชุมชน

unnamed
บรรยากาศการนำเสนอโมเดลของ 8 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ

การแข่งขันสร้างโมเดลจัดการขยะในประเทศไทย “Waste Runner 100 Days Challenge” ที่จัดโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และโครงการ OUR Khung Bangkachao ได้ดำเนินมาถึงครึ่งทางแล้ว

ล่าสุดในวันนี้ (23 มิ.ย.) ได้มีการจัดงาน “Demo Day” เปิดโอกาสให้ 8 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ นำเสนอโมเดลการจัดการขยะ เพื่อเฟ้นหา 3 ทีมสุดท้าย โดยเกณฑ์การให้คะแนนแบ่งเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่ ความเป็นไปได้ในการดำเนินการจริง ผลลัพธ์ในการจัดการขยะ ความยั่งยืน สุดท้ายคือ ความคิดสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกับชุมชน

สำหรับผลการคัดเลือก 3 ทีมที่มีศักยภาพและผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย ได้แก่

  • ทีม Trash เสนอไอเดียการพัฒนาแอปพลิเคชันรับซื้อขยะรีไซเคิลผ่านธนาคารขยะรอบๆ ชุมชน โดยรวบรวมขยะที่ผู้คนในชุมชนนำมาขาย
  • ทีม Orgafeed การเพาะแมลงเพื่อจัดการขยะอินทรีย์ และเพิ่มรายได้จากการขายแมลง
  • Leaf no trash เปลี่ยนขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว เป็นบรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ เพื่อสร้างนิสัยการคัดแยกขยะด้วยการออกแบบสื่อสาร (Communication Design) และการเพิ่มมูลค่าจากขยะ ด้วยการผลิตเป็นสินค้าชุมชน

2 7

“วราวรรณ ทิพพาวนิช” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC ดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาโดยตลอดและผลักดันแนวคิด Circular Economy ที่เกี่ยวเนื่องกับพลาสติกอย่างเข้มข้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและการบริโภคอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม GC เล็งเห็นว่า การจัดการขยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Circular Economy เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จึงเกิดเป็นโครงการ  “Waste Runner 100 Days Challenge” เพื่อรวมตัวผู้สนใจในเรื่องการจัดการขยะและสร้างโมเดลที่ตอบโจทย์ Circular Economy โดยโครงการนี้จะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่ทำให้ Circular Economy ของพลาสติกมีความสมบูรณ์และครบวงจรมากขึ้น

unnamed 4

“ชยุตม์ สกุลคู” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แทคท์ โซเชียล คอนซัลติ้ง กล่าวว่า จากงาน “Demo Day” ในวันนี้ 3 ทีมสุดท้าย จะมานำเสนอโครงการให้แก่สาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการระดมทุน โดยผู้ที่สนใจจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการแก้ปัญหาขยะในงาน “GC Symposium” วันที่ 28 มิถุนายน 2562

แต่ละทีมจะดำเนินโครงการของตนเองในช่วงระยะเวลานำร่องบนพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ผ่านการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในมิติของธุรกิจการจัดการขยะ และมิติของการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อเป็นการทดสอบแนวคิดจากผู้ใช้และปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดให้เกิดเป็นโมเดลการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการต่อไป

“ธัญญา อ่วมเจริญ” คณะกรรมการ โครงการพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกระเจ้าสู่ความยั่งยืน ในฐานะคณะกรรมการตัดสิน กล่าวก่อนเริ่มงาน Demo Day ในวันนี้ว่า ในฐานะตัวแทนจากชุมชน ก็จะพิจารณาว่าโมเดลไหนสามารถนำไปใช้งานได้จริง เช่น ส่งผลให้ขยะลดลง ใช้ประโยชน์ได้ ชุมชนพอใจ กระบวนการไม่ยุ่งยาก รวมถึงเชื่อมโยงกิจการท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการบริหารจัดการ ถ้าหากทีมใดนำเสนอประเด็นเหล่านี้ได้ ก็จะได้คะแนนที่ดี

“ไผท ผดุงถิ่น” กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท บิลค์ เอเชีย จำกัด และอุปนายกสมาคมไทยแลนด์เทคสตาร์ทอัพ ในฐานะคณะกรรมการ เปิดเผยว่า การให้คะแนน จะเน้นพิจารณาเรื่องรูปแบบธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะต้องการเห็นโครงการที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองได้ และเป็นโมเดลที่มีศักยภาพในอนาคต

unnamed 3
คณะกรรมการทั้ง 4 คน

“สินชัย เทียนศิริ” ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ในฐานะคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า การให้คะแนนจะมองทุกองค์ประกอบทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม สุดท้ายต้องมองว่า แต่ละโมเดลเป็นทางออกและแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ เครื่องมือที่ใช้ต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา รวมถึงต้องมีความยั่งยืน ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับวิถีชุมชนด้วย

“ผมว่ามันเป็นโครงการแรก มันน่าจะเป็นลองผิด มากกว่าลองถูก แต่ถ้า 8 ทีมมาแล้ว มีถูก 1 ทีมถือว่าประสบความสำเสร็จแล้ว ส่วนอีก 7 ทีมไม่ใช่ผิด แต่อาจจะยังไม่เต็ม  วันนี้เป็นการมาแลกเปลี่ยนกันในทุกมิติ” นายสินชัยกล่าว

“ณัฐนันท์ ศิริรักษ์” ผู้จัดการฝ่าย หน่วยงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนจาก GC คงต้องมองว่าโมเดลที่นำเสนอ จะไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ นอกจากบางกระเจ้าได้หรือไม่ โดยความเชื่อมโยงระหว่างการจัดการขยะภายในท้องถิ่นและกระบวนการผลิตพลาสติกในเชิงพาณิชย์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะเป็นแนวทางในการขยายผลโครงการต่อไป

Avatar photo