Economics

‘ก.ล.ต.’ จับตา ‘ลิบรา’ แนะศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด-รอบคอบ

“กลต.” จับตา “ลิบรา” ก้าวสำคัญของเฟซบุ๊ก ชี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมเตือนนักลงทุนศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด รอบคอบ

64851864 388540248449185 516624367447179264 n

นายธวัชชัย พิทยโสภณ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า จากข่าว “Libra” หรือ “ลิบรา” คริปโทเคอร์เรนซีที่ยักษ์ใหญ่ด้านสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook และพันธมิตรอีกมากมายซึ่งก็เป็นที่รู้จักทั่วโลกไม่แพ้กัน เช่น Visa Mastercard PayPal eBay Uber เป็นต้น มีแผนจะนำมาใช้ในปี 2563 นี้ อาจจะเกิดข้อสงสัยว่าทำไมคนถึงให้ความสำคัญกับข่าวนี้มากนัก ขณะที่ภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกก็ยังออกมามีท่าทีในเชิงระมัดระวังอย่างมาก

ทั้งนี้ Libra ถือเป็น “ก้าวที่กล้า” ของ Facebook และพันธมิตรในการพยายามนำคริปโทฯ ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้เป็นระบบชำระเงินหลักของคนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงผู้คนที่เดิมไม่มีบัญชีธนาคาร / ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ โดยจะมีต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ต่ำมาก และสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ แม้กระทั่งธุรกรรมระหว่างประเทศได้ด้วยความรวดเร็ว โดยหลักการแล้ว หากเรื่องนี้เกิดขึ้นได้จริง โดยมีการจัดการข้อกังวล / ความเสี่ยงต่าง ๆ และมีการกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสม (ขอเน้นจุดนี้เป็นพิเศษ) ก็คงจะเป็นประโยชน์และช่วยพลิกโฉมการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งทำให้เกิดรูปแบบการทำธุรกิจและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีนี้ได้ไม่น้อยเลยครับ

ที่ผ่านมาหนึ่งในข้อจำกัดของคริปโทฯ อย่าง Bitcoin ที่ทำให้ยังไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้ในชีวิตประจำวันแบบวงกว้างเท่าเงินตราที่เราคุ้นเคยกันก็คือมูลค่าที่ค่อนข้างผันผวน ในประเด็นนี้ Libra ได้พยายามสร้างกลไกมาจัดการด้วยการมีตะกร้าของเงินฝากและหลักทรัพย์ระยะสั้นที่ออกโดยรัฐบาลสำรองไว้เต็มจำนวนสำหรับทุก ๆ 1 Libra ที่สร้างขึ้นมา หรืออาจเรียกได้ว่า Libra เป็น “stable coin” (หมายถึงคริปโทฯ ที่มีมูลค่าตามสินทรัพย์ที่อ้างอิง)

ในขณะเดียวกัน Facebook ก็จะตั้งอีก 1 บริษัทที่ชื่อ “Calibra” เพื่อเป็นผู้ให้บริการ wallet สำหรับผู้ประสงค์จะใช้ Libra ซึ่งนอกจากการใช้จ่ายผ่าน app ของ Calibra แล้ว ได้ยินว่า Libra ยังจะไปผูกกับ messaging apps ที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลกอย่าง Facebook Messenger และ Whatsapp อีกด้วย เรียกได้ว่า Facebook พยายามทำให้ใช้ Libra ทำธุรกรรมได้สะดวกเหมือนเราส่งข้อความหากันตอนนี้

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าคริปโทฯ รวมทั้ง stable coin อย่าง Libra เป็นความท้าทายของระบบการกำกับดูแลทั่วโลก ตั้งแต่ความสามารถของหน่วยงานกำกับดูแลในการติดตามตรวจสอบธุรกรรมต่าง ๆ ที่ผู้คนทำระหว่างกันเองโดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแล ซึ่งเคยเป็นเครื่องมือหรือจุดเกาะเกี่ยวสำคัญที่หน่วยงานกำกับดูแลใช้เป็นหลักมาถึงปัจจุบัน แถมธุรกรรมยังเป็นแบบไร้พรมแดน ก็จะมีประเด็นเรื่องอำนาจในการกำกับดูแลและกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่เท่าเทียมและไม่สอดคล้องกันเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง แถมเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ที่มีพัฒนาการรวดเร็ว ผู้กำกับดูแลเองก็อาจยังไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอหรือเท่าทันกับพัฒนาการเหล่านี้ รวมทั้งยังไม่มีมาตรฐานสากลหรือแนวปฏิบัติที่ดีให้ยึดเป็นหลักได้อีก

ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลเพิกเฉย ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปโดยไม่วางแนวทางจัดการข้อกังวลและความเสี่ยงต่าง ๆ รวมทั้งหาวิธีใช้บังคับกฎหมายกฎเกณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็คงไม่สามารถเรียกได้ว่า หน่วยงานนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่แล้ว และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลยครับหากเกิดปัญหาที่กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจหรือประชาชนในวงกว้าง

ลิบรา1

สำหรับประเทศไทย มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่เป็นกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลในเรื่องนี้ โดยมี ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว จึงมีความเกี่ยวข้องกับ Libra ที่เป็นคริปโทฯ ในบางส่วน กล่าวคือ หากในอนาคตมีผู้ใดประสงค์จะให้บริการเกี่ยวกับ Libra ในฐานะศูนย์ซื้อขาย (exchange) นายหน้า (broker) หรือผู้ค้า (dealer) ก็ต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. ก่อน

ทีนี้คงมีหลายท่านสงสัยว่า ในโลกไร้พรมแดน (borderless) อะไรที่เรียกว่าเป็นการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งขอเรียนว่า ในเรื่องนี้ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยและต้องดูข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีนะครับ แต่หลัก ๆ ก็ต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งมาดำเนินการในประเทศไทยด้วย ดังนั้น หากท่านเข้าไปในเว็บไซต์หรือสื่ออื่น ๆ เพื่ออ่านข้อมูลหรือชมคลิปที่ชักชวนให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยดำเนินการอยู่ในต่างประเทศทั้งหมด ก็ไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. ที่ ก.ล.ต. ดูแล ในบริบทของการทำธุรกรรมที่มีลักษณะข้ามพรมแดนหรือไร้พรมแดน จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสิ้น ไม่ใช่มีแต่เรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น

ที่สำคัญ ขออนุญาตเรียนทุกท่านให้ใช้ความระมัดระวังหากมีใครชักชวนให้ท่านลงทุนโดยอ้างว่าเป็นการร่วมลงทุนใน Securities Token Offering (STO) ของ Libra Association หรือเหรียญชื่อ Libra Investment Token โดยอ้างว่าเป็นโอกาสร่วมลงทุนกับ Facebook หรือพันธมิตรต่าง ๆ นั้น ขอให้ระวังมาก ๆ นะครับ เพราะคนทั่วไปคงไม่สามารถเข้าถึงการลงทุนนี้ได้ครับ นอกจากนี้ กรณีคริปโทฯ ที่เป็น stable coin อาจจะมีประเด็นเกี่ยวพันกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ ด้วย ซึ่ง ก.ล.ต. จะติดตามพัฒนาการในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และได้ประสานงานกับบางหน่วยงานไว้แล้วครับ

สุดท้ายนี้ ขอฝากไว้อีกครั้งครับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ก่อนลงทุน ท่านควรมั่นใจว่า มีความเข้าใจและสามารถยอมรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องได้เท่านั้น ผู้ที่สนใจและประสงค์จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ขอให้ติดต่อผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อและศึกษาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ เสี่ยงสูง ดอท คอม และหากผู้ลงทุนมีเบาะแสเกี่ยวกับการดำเนินการที่น่าสงสัย โปรดแจ้ง SEC Help Center สายด่วน ก.ล.ต. 1207 เพื่อการตรวจสอบต่อไป

ขอบคุณสำนักงาน ก.ล.ต.

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK