Business

สิ้นสุดการรอคอย! รฟท.ลุยรถไฟสายใหม่บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เปิดบริการปี 67

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานเปิดการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม เพื่อนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนทราบถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาโครงการฯ พร้อมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ และการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และนครพนม

อาคม33

นายอาคม  กล่าวในหัวข้อ “สิ้นสุดการรอคอย รถไฟทางคู่สายใหม่บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม ของชาวอีสาน” ว่าโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ ที่ได้รับการบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี  มีระยะทาง 355 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 70 ตำบล 19 อำเภอ ของ 6 จังหวัด มีสถานีรถไฟ 18 สถานี แบ่งเป็นสถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี (มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหารและนครพนม)

สถานีขนาดกลาง 5 สถานี และสถานีขนาดเล็ก 9 สถานี มีป้ายหยุดรถ 12 แห่ง มีย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 6 แห่ง ด้านความปลอดภัย โครงการได้มีการออกแบบให้มีสะพานรถไฟข้ามถนน/ถนนเลียบคลอง 158 แห่ง มีสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 81 แห่ง มีทางลอดทางรถไฟ 245 แห่ง และมีทางบริการขนานทางรถไฟ 165 แห่ง

ส่วนขั้นตอนการดำเนินงาน หลังจาก ครม. อนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน จากนั้นปี 2563 จะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเริ่มดำเนินการก่อสร้าง คาดจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567

อาคม2

สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ -มหาสารคาม -ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม เป็นหนึ่งในโครงการเร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก- ตะวันตก เพื่อรองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล และการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนบน  เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะช่วยให้ประชาชนเดินทางสะดวกขึ้น ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการขนส่งและโลจิสติกส์สินค้า เพิ่มรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสการค้าและการท่องเที่ยวระดับโลก

อาคม1

ด้านนายมงคล ตันสุวรรณ กรรมการรองเลขาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย ที่สะท้อนภาพสถานการณ์ของภาคธุรกิจท้องถิ่นของจังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียงตามแนวเส้นทางรถไฟ โอกาสด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่รถไฟก่อสร้างเสร็จ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง ด้านการค้าชายแดน ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight