Technology

‘กูรูอีคอมเมิร์ซ’ ฟันธง ‘ลิบรา’ ดันค้าออนไลน์โตก้าวกระโดด ถ้าใช้ทั่วโลก!!

การประกาศเปิดตัว เงินสกุลใหม่ “ลิบรา (Libra) โดยเฟซบุ๊ก นับว่าเขย่าวงการไม่เฉพาะคริปโตเคอร์เรนซี่ หรือสกุลเงินดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมรุนแรงในทุกวงการที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ทั้งที่เป็นเงินสด บัตรเครดิต ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงินโดยเฉพาะสถาบันการเงิน

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา 1
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในบ้านเรา ด้วยมูลค่าตลาดที่คาดว่าจะสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท เติบโต 12% จากปี 2561 ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่จะได้รับผลเช่นกัน หากมีการนำ ลิบรา มาใช้จริง เพราะเพียงแค่ประชากรเฟซบุ๊กทั่วโลกพร้อมใจกันใช้ก็ถือว่ามหาศาลแล้ว

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ หรือ “กูรู” ในวงการอีคอมเมิร์ซ กล่าวอย่างมั่นใจว่า หาก ลิบรา สามารถทำให้เป็นสกุลเงินของโลกได้ จะทำให้ผู้ซื้อทั่วโลกสามารถซื้อสินค้าจากที่ไหนก็ได้ในโลก โดยใช้ค่าเงินของผู้ซื้อซึ่งไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดโลกการค้าไร้พรมแดนได้อย่างชัดเจน

ที่สำคัญคือ การทุกคนบนโลกยอมรับและใช้ ลิบรา จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซหรือการค้าขายบนโลกออนไลน์เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ถือเป็นการปฏิวัติการค้าออนไลน์ก็ว่าได้ทีเดียว

libras 1

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า ลิบรา จะถูกนำมาใช้ได้เมื่อใด รวมทั้งยังไม่มีการกำหนดค่าเงินลิบรา เนื่องจากยังติดขัดกฏหมายทั้งในสหรัฐเอง และกฏหมายในแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไป ซึ่งล่าสุด รัฐบาลสหรัฐได้เรียกเฟซบุ๊กเข้ามาหารือ เพราะเกี่ยวพันกับการวางสินทรัพย์ค้ำประกันหากจะนำมาใช้เป็นสกุลเงินจริง เช่นเดียวกับการพิมพ์ธนบัตรที่ต้องมีเงินสำรองค้ำประกันกับธนาคารกลางสหรัฐ

แต่แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนถึงการนำมาใช้ในขณะนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการนำมาใช้จริง และหากนำ ลิบรามาใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นนอกเหนือจากการสนับสนุนการค้าไร้พรมแดนผ่านโลกออนไลน์ ในทางกลับกัน จะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปธุรกิจสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารที่ยังถือว่าเป็นตัวกลาง เนื่องจากเทคโนโลยีบล็อกเชนของลิบรา จะเป็นการตัดคนกลางออก จากปัจจุบันที่การค้าข้ามประเทศหรือการโอนเงินข้ามประเทศยังต้องผ่านคนกลางคือ ธนาคาร และเสียค่าธรรมเนียม รวมถึงค่าส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน

e Commerce

 

ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ซื้อสินค้าในเมืองไทย ต้องการซื้อสินค้าจากผู้ขายในสหรัฐ ซึ่งตั้งราคาสินค้าเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ผู้ซื้อต้องคิดกลับมาเป็นบาทไทยว่าอัตราแลกเปลี่ยนคุ้มค่าพอที่จะซื้อหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับค่าเงินที่ผันผวนได้ และถึงจะใช้บัตรเครดิตในการซื้อ ผู้ซื้อก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมอยู่ดีประมาณ 1-2% ซึ่งมีผลทำให้ราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น จึงต่างจากการใช้สกุลเงินดิจิทัลซึ่งถือเป็น Stable coin ที่ราคาไม่ผันผวนตามอัตราแลกเปลี่ยน อีกทั้งค่าธรรมเนียมยังไม่สูงมาก หรือไม่ถึง 1% เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ธนาคาร สามารถใช้เงินสกุลลิบราเดียวกันจากที่ไหนก็ได้ในโลก

ความคิดเห็นจาก กูรู อีคอมเมิร์ซ ท่านนี้ ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนว่า ในอนาคต หาก ลิบรา แจ้งเกิดเป็นคริปโตเคอร์เรนซี่ที่มีความแข็งแกร่งและใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก จะทำให้วงการการเงินทั่วโลกพลิกโฉมหน้าใหม่ และแน่นอนว่า ธนาคารเองจะถูกลดบทบาทจนต้องปรับตัวขนานใหญ่อีกครั้งแน่นอน

Avatar photo