General

เร่งฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาตจาก ‘โรคหลอดเลือดสมอง’ ลดภาวะแทรกซ้อน

แนะฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาต จากโรคหลอดเลือดสมอง ด้วยกายภาพบำบัด ให้สามารถฟื้นตัวมากที่สุด ช่วยเหลือตนเองได้ ลดภาระคนในครอบครัว และลดภาวะแทรกซ้อน  

จากข้อมูลของกรมการแพทย์ พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วย “โรคหลอดเลือดสมอง” ไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 คน โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) “ ตามคำนิยามขององค์การอนามัยโรค ระบุว่า “เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของระบบหลอดเลือดสมอง เป็นเหตุให้สมองบางส่วน หรือทั้งหมดทำงานผิดปกติไป ก่อให้เกิดอาการ และอาการแสดง ซึ่งคงอยู่เกิน 24 ชั่วโมง หรือทำให้เสียชีวิต “ หรือ  “อัมพฤกษ์ อัมพาต” นั่นเอง

โรคนี้นอกจากมาตามอายุ และพันธุกรรมแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากการดำเนินชีวิต การบริโภคอาหาร สภาพแวดล้อม จนหลายคนเรียกว่า “โรคที่มากับความเจริญ” ที่ทำให้ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ รวมไปถึงการสูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย

โดยปัจจุบันการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง มีทั้งการรักษาทางยา หรือผ่าตัด แต่ผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์ภายใน 3 ชั่วโมง หลังจากเกิดอาการโดยในช่วง 3-7 วันแรก ของการเจ็บป่วย ถือเป็นระยะวิกฤต ที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต จำเป็นต้องได้รับการรักษา หรือ อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

นพ.สมศักดิ์ กรมแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวย้ำว่า การดำเนินชีวิตของคนไทยในยุคปัจจุบัน เสี่ยงต่อการเกิดอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองได้ง่าย จึงควรระมัดระวัง ป้องกันตนเอง และคนในครอบครัว โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

สำหรับคนที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าว สามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัวจากทีมฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักกายอุปกรณ์ ซึ่งประจำอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพต่างๆ หรือตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพาต ใหม่
นพ.ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์จะสามารถช่วยผู้ป่วยอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง โดยการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยเร่งให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้มากที่สุด หลังจากเกิดความพิการ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมา

รวมถึงลดความบกพร่องของระบบประสาท ชดเชยและปรับเปลี่ยนกิจกรรมต่างๆ ให้เหมาะสมกับความพิการที่เหลืออยู่ และสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระยะยาว เป็นภาระแก่ครอบครัวและผู้ดูแลน้อยที่สุด

โดยมีขั้นตอนในการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบเร็วที่สุด หลังจากผู้ป่วยมีสภาวะทางการแพทย์คงที่ เข้าสู่ภาวะปกติ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท ในระยะที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องนอนบนเตียง ประโยชน์ของการฟื้นฟูในขั้นตอนนี้ คือ ป้องกันความพิการซ้ำซ้อน เช่น ข้อติดแข็ง แผลกดทับ ปอดบวม เป็นต้น ผลลัพธ์ที่ได้จากการเข้ารับการฟื้นฟู คือผู้ป่วยสามารถฝึกทำกิจวัตรประจำวันได้ หรือเดินได้ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการฟื้นตัวจากโรค

Avatar photo